วันที่ 31 ตุลาคม 2565 ที่ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลประทาน ถนนสามเสน ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ผ่านระบบ Video Conference ไปยังสำนักงานชลประทานที่ 1-17 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักการระบายน้ำกรุงเทพมหานคร การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำ และแม่น้ำสายหลักต่างๆ สำหรับเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องและเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ต่อไป
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบัน วันที่ 31 ตุลาคม 2565 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกัน 64,116 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 84 ของความจุอ่างฯ เป็นน้ำใช้การได้ 40,193 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 77 ของปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 20,752 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 83 ของความจุอ่างฯ ปริมาณน้ำใช้การได้ 14,056 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 77 ของปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน ภาพรวมปริมาณน้ำต้นทุนอยู่ในเกณฑ์ดี
สำหรับสถานการณ์น้ำในลุ่มเจ้าพระยา ล่าสุดวันที่ 31 ตุลาคม 2565 สถานีวัดน้ำ C2 จังหวัดนครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่านในอัตรา 2,028 ลบ.ม./วินาที ทำให้ที่สถานีวัดน้ำ C13 เขื่อนเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำไหลผ่านในอัตรา 1,868 ลบ.ม./วินาที กรมชลประทาน ได้บริหารจัดการน้ำด้วยการใช้อ่างเก็บน้ำฯ ในพื้นที่ตอนบนเก็บกักน้ำไว้ ร่วมกับการบริหารจัดการน้ำทางฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้คาดการณ์ได้ว่าปริมาณน้ำที่ไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาจะลดลงเหลือในอัตรา 700 ลบ.ม./วินาที ประมาณช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนนี้ ซึ่งจะทำให้ปริมาณน้ำที่ท่วมขังในหลายพื้นที่ เริ่มทยอยกลับเข้าสู่ระดับตลิ่งตามไปด้วย
ทั้งนี้ ได้กำชับไปยังโครงการชลประทานและสำนักเครื่องจักรกลในพื้นที่ หากพื้นที่ใดระดับน้ำกลับเข้าสู่ตลิ่งแล้ว ให้เร่งเข้าไปฟื้นฟูพื้นที่หลังน้ำลด เพื่อให้ประชาชนสามารถกลับเข้าที่อยู่อาศัยและใช้ชีวิตได้ตามปกติในเร็ววัน พร้อมสำรวจอาคารชลประทานและระบบส่งน้ำให้สามารถใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพในช่วงฤดูแล้งนี้ ตามข้อสั่งการของ นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน รวมทั้ง วางแผนบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้ง ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ควบคู่ไปกับการจัดสรรน้ำตามลำดับความสำคัญ โดยจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคเป็นอันดับแรก รักษาระบบนิเวศ การเกษตร อุตสาหกรรม และสำรองใช้ในต้นฤดูฝนหน้าตามลำดับ
ส่วนในพื้นที่ภาคใต้ ที่จะเข้าสู่ฤดูฝน ขอให้เตรียมรับมือสถานการณ์น้ำหลาก ตามมาตรการรับมือฤดูฝนปี 65 ที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กำหนด เฝ้าระวังและติดตามสภาพอากาศ สถานการณ์น้ำท่า จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด เพื่อนำข้อมูลบริหารจัดการน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนดและสอดคล้องกับสถานการณ์ กำหนดคน กำหนดพื้นที่เสี่ยง กำหนดเครื่องจักรเครื่องมือ ให้พร้อมแก้ไขสถานการณ์ ที่สำคัญร่วมบูรณาการกับหน่วยงานระดับจังหวัด ทำการประชาสัมพันธ์ ถึงสถานการณ์น้ำให้ประชาชนรับรู้รับทราบอย่างต่อเนื่องและทั่วถึงด้วย