พาณิชย์ หนุนตลาดผ้าไหมไทย จัดเส้นทางสายไหมสู่แหล่งท่องเที่ยววิถีไทย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

“ผ้าไหมไทย” หนึ่งในผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มที่เป็นเอกลักษณ์ประจำชาติของไทยที่มีความสวยงาม อ่อนนุ่ม มีความเลื่อมเงาตามธรรมชาติ ช่วยยกระดับบุคลิกภาพแก่ผู้สวมใส่ให้ดูภูมิฐาน ทำให้เกิดการเรียนรู้วัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่นผ่านลวดลายอันวิจิตรบรรจงบนผืนผ้าไหม สะท้อนถึงอัตลักษณ์และภูมิปัญญาท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี หากแต่ผู้ใช้ผ้าไหมไทยยังคงจำกัดเฉพาะกลุ่มที่มีความชื่นชอบและหลงใหลในความสวยงามของผ้าไหมเท่านั้น ในสายตาของคนรุ่นใหม่มองว่าผ้าไหมถึงจะมีความสวยงาม แต่ยังคงขาดภาพลักษณ์แห่งความร่วมสมัย ทำให้ไม่นิยมนำมาสวมใส่ในชีวิตประจำวัน และใช้สอยผลิตภัณฑ์ที่ทำจากผ้าไหมเท่าที่ควร นอกจากนี้ ผู้ผลิตผ้าไหมยังประสบปัญหาการสืบทอดกิจการ โดยหาผู้สืบทอด (ลูก-หลาน) ได้ยาก ทำให้ชุมชนผ้าไหมไทยหลายๆ ท้องถิ่นสูญหายไปตามกาลเวลา และสิ่งสำคัญที่สุด คือ ผู้ผลิต/ผู้ประกอบการผ้าไหมไทยขาดองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการ การตลาด การพัฒนาผลิตภัณฑ์ และการนำนวัตกรรมมาช่วยเพิ่มมูลค่าให้สินค้า ซึ่งเป็นหัวใจหลักของการประกอบกิจการ เป็นเหตุให้ไม่สามารถขยายฐานลูกค้าได้ครอบคลุมทุกกลุ่ม ทำให้สูญเสียโอกาสทางการค้า กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหน่วยงานภาครัฐที่มีหน้าที่ในการส่งเสริม พัฒนา และสนับสนุนให้ผู้ประกอบการมีความเข้มแข็ง สามารถแข่งขันได้ในทุกตลาดทั้งในและต่างประเทศ จึงได้จัดทำ “โครงการยกระดับการตลาดผลิตภัณฑ์ผ้าไหมสู่แหล่งท่องเที่ยว” ขึ้น เพื่อผลักดันให้ผลิตภัณฑ์ผ้าไหมของไทยเป็นที่ยอมรับในตลาดแฟชั่นและสินค้าไลฟ์สไตล์ รวมทั้ง เพื่อดำรงไว้ซึ่งวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่าของประเทศไทย

นางลลิดา จิวะนันทประวัติ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงการดำเนินงานว่า “ภารกิจของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า คือ การส่งเสริมและสร้างความเข้มแข็งแก่ธุรกิจและผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะการสนับสนุนสินค้า OTOP SELECT ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ OTOP ระดับ 3 – 5 ดาว ที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเล็งเห็นถึงศักยภาพที่สามารถต่อยอดการตลาดทั้งในและต่างประเทศได้ โดยเฉพาะ “ผ้าไหมไทย” ที่รัฐบาลให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ จากจำนวนสินค้าของไทยทั้งหมด เนื่องจากเป็นกลุ่มผู้ประกอบการท้องถิ่นที่มีจำนวนผู้ผลิตและผู้ประกอบการเป็นจำนวนมาก รวมทั้ง จะเป็นส่วนสำคัญในการช่วยผลักดันและกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากของประเทศให้มีความเข้มแข็ง โดยให้โจทย์ว่าจะทำอย่างไรให้ผลิตภัณฑ์

ผ้าไหมของไทยประสบความสำเร็จด้านการค้าและการตลาด โดยการเชื่อมโยงกับแนวคิดด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยว จึงเป็นที่มาของโครงการยกระดับการตลาดผลิตภัณฑ์ผ้าไหมสู่แหล่งท่องเที่ยว โดยมีการจัดเส้นทาง การท่องเที่ยวซึ่งมีชื่อเรียกว่า “เส้นทางสายไหม” สาระสำคัญของโครงการฯ ดังกล่าว คือ การสร้างความตระหนักรู้ในกลุ่มผู้ผลิต/ผู้ประกอบการให้มีองค์ความรู้ด้านการประกอบธุรกิจ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ และการนำนวัตกรรมเข้ามาช่วยเพิ่มมูลค่าให้แก่ผลิตภัณฑ์ โดยกรมฯ ได้มีการประสานงานเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบสินค้า หรือบรรจุภัณฑ์ และภาพลักษณ์ตราสินค้าเข้าร่วมให้ความรู้ด้วย นอกจากนี้ ยังจะมีการเชื่อมโยงสินค้ากับตลาดที่กว้างขึ้น ทั้งช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ เรามีพันธมิตรที่พร้อมให้การสนับสนุน อาทิ LAZADA, Shopee และ ของดีทั่วไทย.COM ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่กรมฯ ได้พัฒนาขึ้นเพื่อเป็นช่องทางการตลาด/การจัดจำหน่ายให้แก่สินค้าชุมชนและโอทอป อีกทั้งยังได้เชิญผู้รับซื้อที่เป็นพ่อค้าคนกลางเข้าร่วมเดินทางในเส้นทางสายไหมครั้งนี้ด้วย เพื่อประสานความร่วมมือ และผสมผสานแนวคิดทางธุรกิจให้มีความสอดคล้อง เพื่อให้ผู้ผลิตสามารถผลิตสินค้าให้ตรงกับความต้องการของตลาดได้มากที่สุด”

รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวเพิ่มเติมว่า “ปัญหาในเชิงการตลาดของผู้ผลิตผ้าไหมนั้นสืบเนื่องมาจากการที่กลุ่มลูกค้าซึ่งเป็นกลุ่มปลายน้ำของวงจรการค้า ซึ่งส่วนใหญ่ยังคงเป็นตลาดดั้งเดิมมากกว่าจะเป็นกลุ่มตลาดใหม่ๆ รวมทั้งภาพลักษณ์ของสินค้า และการสืบทอดของผู้ผลิต ซึ่งยังขาดกำลังหลักสำคัญในการสานต่อกิจการของครอบครัว จะเห็นได้ว่ากลุ่มผู้ผลิตที่ยังคงประกอบอาชีพทอผ้า ล้วนเป็นกลุ่มผู้สูงวัยที่ลงหลักปักฐานอยู่ในท้องถิ่นเดิม ในขณะที่คนรุ่นใหม่ที่เป็นบุตรหลานของคนในชุมชน เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วก็นิยมเข้ามาประกอบอาชีพในกรุงเทพฯ หรือตามเมืองใหญ่ เพื่อใช้ความรู้ความสามารถที่ตนร่ำเรียนมา มากกว่าจะหันมาให้ความสำคัญต่ออาชีพซึ่งเป็นภูมิปัญญาบ้านเกิด การแก้ปัญหาควรเริ่มจากการบูรณาการทุกองค์ประกอบสำคัญ โดยเฉพาะการส่งเสริมการท่องเที่ยวให้กลุ่มชุมชนมีแรงดึงดูดความสนใจไปยังนักท่องเที่ยว โดยจะนำมาสู่โอกาสการค้นพบผลิตภัณฑ์ผ้าไหม ณ แหล่งผลิตซึ่งเป็นต้นน้ำ เกิดการสร้างรายได้ให้กับสมาชิกในชุมชน หากทุกภาคส่วนช่วยกันบูรณาการทุกองค์ประกอบนี้ได้ คนรุ่นใหม่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในฐานะบุตรหลานของชุมชนผู้ผลิตย่อมเล็งเห็นถึงโอกาสการต่อยอดธุรกิจและเห็นถึงความสำคัญที่จะกลับมาสานต่อกิจการของครอบครัว”

สำหรับกิจกรรมเส้นทางสายไหม ภายใต้โครงการยกระดับการตลาดผลิตภัณฑ์ผ้าไหมสู่แหล่งท่องเที่ยว ได้เริ่มต้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3 จังหวัด ได้แก่ อุดรธานี กาฬสินธุ์ และขอนแก่น โดยได้รับความร่วมมือจากสื่อมวลชนหลายสำนักทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค รวมทั้ง ผู้ประกอบการซึ่งเป็นพ่อค้าคนกลางที่จะนำผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไปจำหน่ายต่อในตลาดปลายทางร่วมเดินทางเพื่อเยี่ยมชมแหล่งผลิต กรรมวิธีการผลิตผ้าไหม ตลอดจนได้รับเกียรติจากนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบร่วมเดินทางเพื่อให้ข้อเสนอแนะในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของแต่ละชุมชนผ้าไหมอีกด้วย

เส้นทางสายไหม ได้เริ่มต้นขึ้นที่ “ศูนย์การเรียนรู้กลุ่มทอผ้าไหมบ้านโนนกอก” ตั้งอยู่ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี โดย นายอภิชาติ พูลบัวไข หรือ ผู้ใหญ่ต้น ลูกหลานชาวบ้านบ้านโนนกอก เป็นผู้สืบทอดภูมิปัญญาการทอผ้าของชุมชนบ้านเกิด ผลิตภัณฑ์ผ้าที่โดดเด่นของชุมชนบ้านโนนกอก คือ ผ้าหมี่ขิด หรือ ผ้าหมี่สลับขิด และยังมีการทอผ้าโบราณ ผ้าไหม ผ้าฝ้ายที่มีลักษณะสวยงาม มีเอกลักษณ์และโดดเด่นกว่าผ้าไทยทั่วไป ซึ่งผ้าไหมและผ้าฝ้ายของศูนย์การเรียนรู้กลุ่มทอผ้าไหมบ้านโนนกอก เป็นผ้าที่ย้อมด้วยสีจากดอกบัวแดง เป็นสีที่ติดทนนาน สวยงาม เป็นที่นิยมในกลุ่มลูกค้านักอนุรักษ์นิยมที่ให้ความสำคัญกับวัตถุดิบจากธรรมชาติ โดยผู้ใหญ่ต้น กล่าวว่า “ตนเองได้ทำการวิจัยงานวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับอาชีพชาวบ้าน คือ การทอผ้าจากภูมิปัญญาดั้งเดิมของชาวบ้านโนนกอกของผู้สูงอายุในหมู่บ้าน และในตำบลหนองนาคำ ซึ่งในกระบวนการวิจัยมีการทดลองการทอผ้าโดยวิธีโบราณด้วยตนเองจนเกิดความชำนาญ จึงได้เริ่มทอผ้าย้อมธรรมชาติที่มีอยู่ในท้องถิ่น และได้รับความนิยมจากลูกค้าซึ่งนอกจากกลุ่มลูกค้าชาวไทยแล้ว ยังมีกลุ่มชาวต่างชาติในแถบอาเซียน ได้แก่ ลาว และเวียดนาม ที่ชื่นชอบเช่นเดียวกัน ถือเป็นแหล่งส่งออกที่ทำรายได้อย่างสูงให้กับชาวชุมชนบ้านโนนกอก จึงนำมาสู่การก่อตั้งเป็นกลุ่มทอผ้าขึ้นเพื่อขยายงานทอผ้าและสร้างรายได้ให้กับชุมชน”

ลวดลายผ้าไหม สีธรรมชาติ บ้านโนนกอก

ผ้าไหมย้อมสีธรรมชาติ บ้านโนนกอก

ดอกบัวแดง ใช้ย้อมสีธรรมชาติ

ก้านบัวใช้ย้อมสีธรรมชาติ

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้นำคณะเดินทางต่อมาที่แหล่งการผลิตที่สอง คือ “กลุ่มทอผ้าบ้านนาดี” จังหวัดอุดรธานี โดย นางประดิษฐ์ มีพลงาม ผู้ก่อตั้งฯ ให้การต้อนรับและแสดงการสาธิตการย้อมไหม ผลิตภัณฑ์โดดเด่นของกลุ่มทอผ้าบ้านนาดี คือ ผ้าไหมมัดหมี่ลายโบราณ 12 นักษัตร ที่ได้รับรางวัลเมื่อปี 2545 ปัจจุบันกลุ่มฯ มีสมาชิกทั้งสิ้น 35 คน นางประดิษฐ์ฯ กล่าวว่า “ตนเองได้ฝึกหัดทอผ้าไหม ผ้าฝ้าย ผ้าถุงมัดหมี่ เพื่อใช้สอยในบ้าน โดยศึกษาจากมารดา ต่อมาจึงมีการรวมกลุ่มสมาชิกในชุมชน และร่วมกันทอผ้าอย่างต่อเนื่อง เกิดเป็นศูนย์การเรียนรู้และแหล่งสาธิตการทอผ้าไหม การสาวไหมโดยใช้กี่พื้นบ้านเป็นเครื่องมือในการทอผ้า พุ่งกระสวยด้วยมือ เพื่อให้นักท่องเที่ยวและกลุ่มนักเรียนนักศึกษา ได้เรียนรู้กรรมวิธีการผลิต นอกจากการทอผ้าไหมแล้ว ปัจจุบันทางกลุ่มยังมีความเชี่ยวชาญด้านการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม สาวไหม ย้อมสีธรรมชาติ และผลิตภัณฑ์จากไหม เช่น สบู่ล้างหน้า ไหมขัดผิว ฯลฯ เป็นต้น

ผลงานผ้าไหม ของกลุ่มทอผ้าบ้านนาดี หนองแสง

ในวันที่สองของการเดินทาง ได้นำคณะสื่อมวลชนและผู้ประกอบการเยี่ยมชม “ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมผู้ไทผ้าไหมแพรวาบ้านโพน” จ.กาฬสินธุ์ หรืออีกชื่อหนึ่งคือ “ศูนย์วิจิตรแพรวาบ้านโพน” มีความโดดเด่นด้านวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวผู้ไทยหรือชาวภูไท โดยเป็นหมู่บ้านที่ชาวผู้ไทอพยพมาจากแคว้นสิบสองจุไท มีเอกลักษณ์ด้านการทอผ้า และยังคงสืบทอดวัฒนธรรมที่ส่งต่อจากบรรพบุรุษไว้เป็นอย่างดี ผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่นของศูนย์ศิลปวัฒนธรรมผู้ไทยผ้าไหมแพรวาบ้านโพน คือ ผ้าแพรวา ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงของจังหวัดกาฬสินธุ์ ได้รับความนิยมอย่างสูงจากนักท่องเที่ยวที่ให้ความสนใจเยี่ยมชมและเลือกซื้อผ้าเป็นจำนวนมาก จึงมีการก่อตั้งศูนย์ศิลปวัฒนธรรมผู้ไทยบ้านโพนขึ้น เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว

ผ้าทอแพรวา  กลุ่มอาชีพสตรีผ้าแพรวา บ้านโพน

ลวดลายละเอียดของผ้าไหมแพรวา ที่นำมาทำเป็นสไบ

จังหวัดขอนแก่น ถือเป็นแหล่งวัฒนธรรมผ้าไหมที่ขึ้นชื่อของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น “กลุ่มหัตถกรรมคุ้มสุขโข”บ้านดอนข่า จ.ขอนแก่น ผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่นของกลุ่มฯ คือ ผลิตภัณฑ์ผ้าที่ผ่านกระบวนการหมักสมุนไพรอย่างกระเจี๊ยบซึ่งเป็นวัตถุดิบธรรมชาติที่ให้สีสันสวยงาม ผ่านกระบวนการย้อมแบบย้อมเย็น และใช้วิธีการมัดหมี่ นายทวี สุขโข ประธานกลุ่มหัตกรรมคุ้มสุขโข กล่าวว่า ปัจจุบันกลุ่มหัตถกรรมคุ้มสุขโขได้มีวิวัฒนาการพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่องด้านการอนุรักษ์ภูมิปัญญาการผลิตผ้าของชาวบ้านบ้านดอนข่า และการผสมผสานร่วมกันระหว่างภาคีเครือข่าย โดยมีหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ร่วมกันส่งเสริมผลิตภัณฑ์ เกิดเป็นหมู่บ้าน OTOP เพื่อการท่องเที่ยว สถาบันส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น และได้มีการพัฒนาตราสินค้าเพื่อการส่งออกในนาม “มาคา” คงไว้ด้วยอัตลักษณ์ผ้าไหมมัดหมี่แบบอีสานโบราณ

การมัดหมี่ กลุ่มหัตถกรรมคุ้มสุขโข

ลวดลายผ้าไหมผลงานกลุ่มหัตถกรรมคุ้มสุขโข

การมัดหมี่ผ้าไหม บ้านหัวฝาย

การแต้มสีเป็นลวดลายสมัยใหม่ ผ้าไหมแต้มหมี่ บ้านหัวฝาย

ในวันสุดท้ายของการเดินทาง คณะเดินทางได้เข้าเยี่ยมชม “กลุ่มทอผ้ามัดหมี่บ้านหัวฝาย” จ.ขอนแก่น ซึ่งมีชื่อเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ผ้าไหมที่มีคุณภาพ สีสันสวยงาม ควบคุมการผลิต และตกแต่งลวดลายที่มีความร่วมสมัย นอกจากนี้ ยังมีการสืบทอดภูมิปัญญาของบรรพบุรุษด้านกรรมวิธีการผลิต “ผ้าไหมแต้มหมี่” โดยการแต้มสีลงบนผืนผ้าเพื่อให้เกิดลวดลายบนผ้าไหมที่ผ่านการย้อมแล้ว แล้วนำไปทอเหมือนผ้าไหมมัดหมี่

สำหรับแหล่งผลิตผ้าไหมสุดท้ายบนเส้นทางสายไหมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คือ “กลุ่มทอผ้าไหมมัดหมี่บ้านหนองหญ้าปล้อง” จ.ขอนแก่น โดยผลิตภัณฑ์ที่ขึ้นชื่อของกลุ่มฯ คือ ผ้าไหมมัดหมี่ย้อมสีธรรมชาติ และไหมอีรี่ กรรมวิธีที่ขึ้นชื่อในการผลิตผ้าไหมของกลุ่มคือการย้อมผ้าไหมด้วยสีจากเปลือกไม้ ได้แก่ เปลือกประดู่ เปลือกต้นมะม่วง เปลือกต้นขนุน ซึ่งเป็นกรรมวิธีแบบโบราณที่สืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน และปลอดภัยต่อผู้ใช้งาน ตลาดผลิตภัณฑ์ผ้าไหมมัดหมี่เป็นที่ต้องการของตลาดอย่างมาก จึงเป็นที่มาของแนวคิดที่กลุ่มฯ จะผลิตสินค้าที่เป็นเอกลักษณ์ของกลุ่ม จึงได้มีการค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับการย้อมสีธรรมชาติจากผู้สูงอายุที่มีความเชี่ยวชาญในชุมชน และนำวัสดุจากธรรมชาตินั้นมาย้อมลงบนผ้าไหม

ผ้าไหมอีรี่ บ้านหนองหญ้าปล้อง

อาจารย์ธีระ ฉันทสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบสินค้าแฟชั่นและสินค้าไลฟ์สไตล์ เจ้าของแบรนด์ “ธีระ” ให้ความเห็นว่า “การสร้างแรงบันดาลให้คนรุ่นใหม่ให้หันมาสนใจใช้ผ้าไทยนั้น ต้องเริ่มที่การสื่อสารให้เกิดมุมมองใหม่ว่าผ้าไทยสามารถแต่งกายให้ดูร่วมสมัยได้ และสามารถสวมใส่ได้ในชีวิตประจำวัน สิ่งที่สามารถสนับสนุนผ้าไทยได้ในฐานะนักออกแบบ คือ การลงพื้นที่เพื่อให้มุมมองใหม่แก่ชาวบ้านผู้ผลิต รวมทั้งแนวคิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ผู้บริโภค และส่งเสริมลูกหลานของชุมชนแหล่งผลิตหันมาสืบทอดการผลิตผ้าไหมไทยยิ่งขึ้น กรณีตัวอย่างที่น่าสนใจที่เชียงคานซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมาก เมื่อชาวบ้านได้รับคำแนะนำจากนักออกแบบ จึงเกิดการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาผลิตภัณฑ์ จึงสามารถสร้างรายได้ จนกระทั่งลูกหลานต้องกลับมาเพื่อช่วยกิจการของครอบครัว/เรียนรู้เรื่องการทอผ้า และส่งเสริมการตลาดให้กับชุมชนจนประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก”

นางสาวชลีกุล อิศรภักดี ผู้จัดการอาวุโส-ฝ่ายบริหารสินค้า บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด กล่าวว่า “ส่วนตัวในฐานะผู้จัดจำหน่ายและดูแลเรื่องการจัดซื้อสินค้าเพื่อนำมาจัดแสดงและจำหน่ายในศูนย์การค้า มีความคาดหวังที่จะได้เห็นผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ๆ ของชาวบ้าน ที่สามารถนำเรื่องราวของสินค้ามาถ่ายทอดเพื่อดึงดูดความสนใจ โดยสิ่งที่นักออกแบบได้ลงมือทำและให้คำปรึกษาจะช่วยให้ชาวบ้านได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะตลาดวัยรุ่นที่ต้องการสินค้าที่มีความทันสมัยและร่วมสมัย ผู้ผลิตจึงควรพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคกลุ่มนี้ ปัจจุบันสินค้าไลฟ์สไตล์มีหลากหลายประเภท ผู้ผลิตสามารถผลิตและดัดแปลงสินค้าจากผ้าไหมให้มีความหลากหลายมากขึ้น เช่น ผ้าผืน สามารถนำมาตัดเย็บให้อยู่ในรูปแบบที่พร้อมใช้งาน เพื่อง่ายต่อการตัดสินใจของลูกค้ามากขึ้น”

ขณะที่ นายภัทรพงศ์ สถิตชล ประธานกรรมการ บริษัท มหาสารคาม โอทอป อินเตอร์เทรดเดอร์ จำกัด กล่าวเสริมว่า “การพิจารณาความต้องการของตลาดถือเป็นสิ่งสำคัญ เช่น ความสนใจของผู้บริโภค การเข้าถึงช่องทางการจำหน่าย การจัดทำโปรโมชั่นเพื่อสนับสนุน ราคาที่จับต้องได้ และการออกแบบที่ผู้บริโภคเล็งเห็นว่าสามารถสวมใส่ใช้สอยได้ในทุกวัน”

สำหรับผู้ประกอบการ และผู้บริโภคที่สนใจเยี่ยมชม หรือซื้อผลิตภัณฑ์ผ้าไหมจากโครงการยกระดับการตลาดผลิตภัณฑ์ผ้าไหมสู่แหล่งท่องเที่ยว สามารถเดินทางตามเส้นทางสายไหมเพื่อเข้าถึงแหล่งผลิตใน 6 แหล่งผลิต ได้แก่ ศูนย์การเรียนรู้กลุ่มทอผ้าไหมบ้านโนนกอก กลุ่มทอผ้าบ้านนาดี จังหวัดอุดรธานี ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมผู้ไทยผ้าไหมแพรวาบ้านโพน จังหวัดกาฬสินธุ์ กลุ่มหัตกรรมคุ้มสุขโขบ้านดอนข่า กลุ่มทอผ้าไหมมัดหมี่บ้านหัวฝาย และกลุ่มทอผ้าไหมมัดหมี่บ้านหนองหญ้าปล้อง จังหวัดขอนแก่น หรือติดตามสินค้าผ่านช่องทางการจำหน่ายได้ทางช่องทางออนไลน์ ได้แก่ เว็บไซต์ของดีทั่วไทย.COM ซึ่งเป็นสื่อสนับสนุนจากโครงการ Offline 2 Online ภายใต้การดำเนินงานของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ หรือ www.dbd.go.th สายด่วนกรมพัฒนาธุรกิจการค้า 1570