กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน จับมือ บ. ไทยยามาฮ่ามอเตอร์ อบรมช่างซ่อมมอเตอร์ไซค์รับเทคโนโลยีสมัยใหม่ ตั้งเป้าปี 66 ผลิตอีก 300 คน
นายประทีป ทรงลำยอง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดเผยว่า กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน ร่วมกับบริษัท ไทยยามาฮ่ามอเตอร์ (ยามาฮ่า) จำกัด วางแผนพัฒนาทักษะช่างซ่อมรถจักรยานยนต์ ให้มีทักษะสูงขึ้นเพื่อให้มีความรู้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีสมัยใหม่ ตามที่มีการผลิตรถจักรยานยนต์รุ่นใหม่จำหน่ายออกสู่ตลาด อาทิ ความรู้เกี่ยวรถจักรยานยนต์ระบบหัวฉีด เกียร์อัตโนมัติขับเคลื่อนด้วยสายพาน ระบบเซ็นเซอร์เตือนข้อบกพร่อง เป็นต้น เพื่อให้ช่างซ่อมรถจักยานยนต์ สามารถให้บริการแก้ปัญหามห้แก้ลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนผู้ประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้องกับรถจักรยานยนต์ สามารถจัดหาวัสดุอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องไว้จำหน่ายหรือบริการแก่ลูกค้าด้วย กลุ่มเป้าหมายจึงมีทั้ง กำลังแรงงานที่ว่างงาน แต่มีทักษะความรู้ด้านการซ่อมรถจักรยานยนต์ และต้องการประกอบอาชีพเป็นช่างซ้อมรถตักรยานยนต์ ช่างที่ทำงานในสถานประกอบกิจการ หรือช่างในศูนย์บริการ กลุ่มของนักศึกษา ระดับ ปวช.ปวส. ด้านช่างยนต์ เป็นต้น ซึ่งการดำเนินงานดังกล่าวตอบรับนโยบายของรัฐบาลและนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่เน้นการเพิ่มทักษะ ความรู้ ความสามารถให้แก่กำลังแรงงาน ตลอดจนกลุ่มของนักเรียน นักศึกษาของอาชีวศึกษา ให้สามารถทำงานได้หรือมีความพร้อมที่จะทำงาน
นายประทีป กล่าวต่อไปว่า ซึ่งในช่วงระหว่างปี 2560-2564 ทั้งสองหน่วยงานได้จัดฝึกอบรม ช่างซ่อมรถจักรยานยนต์ ไปแล้วกว่า 1,600 คน สำหรับในปี 2565 ที่ผ่านมา ได้จัดฝึกอบรมในสาขา เทคโนโลยีรถจักรยานยนต์ YAMAHA รุ่นใหม่ ในพื้นที่ 12 จังหวัด ได้แก่ สมุทรปราการ สุพรรณบุรี ชลบุรี ราชบุรี นครราชสีมา ขอนแก่น อุบลราชธานี นครสวรรค์ ลำปาง สุราษฎร์ธานี และสงขลา รวมทั้งสิ้น 360 คน เป็นการให้ความรู้ด้านงานซ่อมรถจักรยานยนต์ ของเครื่องยนต์ 4 จังหวะ และเทคโนโลยีระบบหัวฉีด สามารถถอด-ประกอบชิ้นส่วนเครื่องยนต์ การต่อวงจรและการตรวจสอบอุปกรณ์ต่างๆ ของระบบไฟฟ้ารถจักรยานยนต์ การแก้ปัญหาระบบจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นต้น ซึ่งช่วยให้ผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมสามาถให้บริการซ่อมรถจักรยานยนต์สมัยใหม่ได้อย่างถูกต้อง และในปี 2566 จะร่วมกันจัดอบรมให้แก่ช่างในเขตจังหวัดสุราษฎร์ธานี ภูเก็ต และกระบี่ เพิ่มเติมจาก 12 จังหวัดที่ดำเนินการในปีที่ผ่านมา โดยในพื้นที่ 3 จังหวัด จะจัดอบรมในสาขาการซ่อมบำรุงเครื่องยนต์ติดท้ายเรือ ระยะเวลาการฝึกอบรม 30 ชั่วโมง ซึ่งเป็นความต้องการของแรงงานในพื้นที่ เนื่องจากทั้ง 3 จังหวัด ขาดแคลนช่างที่มีความรู้ในเรื่องดังกล่าว
ผู้สนใจสามารถติดตามข่าวสารการฝึกอบรมได้ที่ Facebook: กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 4”