กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 28 ตุลาคม 2565 ดังนี้
1. ผลการดำเนินงานตามมาตรการรองรับฤดูฝน ปี 2565
ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการ
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) แจ้งผลการติดตามการแก้ไขปัญหาอุทกภัยว่า กอนช. โดยศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ยังคงเร่งติดตาม วิเคราะห์สถานการณ์น้ำ และอำนวยการการปฏิบัติงาน บริหารจัดการมวลน้ำ ร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อให้สถานการณ์น้ำท่วมคลี่คลายโดยเร็วที่สุดตามที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำสั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการระบายน้ำอย่างเร่งด่วน คู่ขนานไปกับการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนผู้ได้รับผลกระทบทันที ช่วยเหลือ ฟื้นฟู เยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย รวมถึงรับทราบถึงแผนการระบายน้ำออกจากทุ่งลุ่มต่ำโดยศูนย์ส่วนหน้าฯ ภาคกลาง เพื่อประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างต่อไป
2. สภาพอากาศ
ในช่วงวันที่ 28 – 29 ต.ค. 65 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังอ่อนปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ส่งผลให้มีลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออก ทำให้ประเทศไทยตอนบน มีฝนฟ้าคะนองเพิ่มขึ้น สำหรับร่องมรสุมกำลังอ่อนยังคงพาดผ่านภาคใต้ตอนกลาง ทำให้ภาคใต้ยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้บางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 29 ต.ค. – 2 พ.ย. 65 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางอีกระลอกหนึ่งจากประเทศจีนจะแผ่ลง มาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนลดลง และอุณหภูมิจะลดลงกับมีลมแรง โดยอุณหภูมิจะเริ่มลดลงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือก่อน ส่วนภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก อุณหภูมิจะลดลงในระยะถัดไป
สำหรับร่องมรสุมจะเลื่อนไปพาดผ่านบริเวณภาคใต้ตอนล่าง ทำให้ภาคใต้มีฝนตกต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักบางแห่ง
3. สถานการณ์น้ำท่วม
จากสถานการณ์มรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทยและอ่าวไทย ทำให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากกับมีลมแรง บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคใต้และอ่าวไทยและความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกําลังปานกลางจากประเทศจีนยังคงปกคลุมประเทศไทยตอนบนประกอบกับร่องมรสุมพาดผ่านภาคใต้ตอนกลาง รวมถึงมีการระบายน้ำจากเขื่อนลงแม่น้ำสายหลัก และ ลําน้ำสาขา ซึ่งส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่งและน้ำท่วมขังระหว่างวันที่ 28 ก.ย. – 26 ต.ค. 65 ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ชุมชนเมืองและเกษตรกรรม 28 จังหวัด ได้แก่ ภาคเหนือ 4 จังหวัด พิษณุโลก พิจิตร อุทัยธานี และนครสวรรค์ ภาคกลาง 10 จังหวัด สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นครปฐม ชัยนาท นนทบุรี ลพบุรี สุพรรณบุรี และสระบุรี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 12 จังหวัด หนองบัวลำภู ชัยภูมิ มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ขอนแก่น ร้อยเอ็ด บุรีรัมย์ ยโสธร นครราชสีมา และสุรินทร์ ภาคตะวันออก
2 จังหวัด นครนายก ปราจีนบุรี