รมว.พม. เปิดงานครบรอบ 22 ปี พอช. มุ่งสร้างชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็งเต็มพื้นที่ประเทศไทย

วันที่  26 ตุลาคม 2565 เวลา 10.00 น. นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เป็นประธานเปิดงาน “22 ปี พอช. เปลี่ยนผ่าน สานต่อ สู่ชุมชนเข้มแข็ง” พร้อมทั้งกล่าวปาฐกถาพิเศษ และมอบรางวัล คนดี ศรี พอช. ประจำปี 2565 เนื่องในโอกาสที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ครบรอบ 22 ปี นับตั้งแต่วันที่ 26 ตุลาคม 2543 ที่ดำเนินงานอย่างเป็นทางการในสังกัดกระทรวง พม.

โดยมี นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) พร้อมคณะผู้บริหาร นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานคณะกรรมการ พอช. นายกฤษดา สมประสงค์ ผู้อำนวยการ พอช. พร้อมคณะผู้บริหาร ผู้นำชุมชนและขบวนองค์กรชุมชน และผู้แทนภาคีเครือข่าย เข้าร่วมงาน ณ ลานหน้าห้องสมุด ชั้น 1 สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ถนนนวมินทร์ เขตบางกะปิ กรุงเทพฯ

นายจุติ กล่าวว่า สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. เป็นหน่วยงานสำคัญในสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ตั้งแต่วันที่ 26 ตุลาคม 2543 เป็นต้นมา โดยมีภารกิจสำคัญในการสนับสนุนขบวนองค์กรชุมชนและประชาสังคมในการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนท้องถิ่น ผ่านการขับเคลื่อนกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิตในด้านต่างๆ อาทิ การสร้างความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมสำหรับผู้มีรายได้น้อยในเขตเมืองและชนบท ผ่านโครงการบ้านมั่นคงและบ้านพอเพียง ภายใต้แผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี (2560 – 2579) ของรัฐบาล ตามวิสัยทัศน์ “คนไทยทุกคนมีที่อยู่อาศัยถ้วนทั่วและมีคุณภาพชีวิตที่ดี (Housing For All)” การส่งเสริมระบบสวัสดิการชุมชน การส่งเสริมอาชีพและพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนและ และการสนับสนุนสภาองค์กรชุมชนเป็นกลไกสำคัญในการสร้างประชาธิปไตยชุมชน เป็นต้น

ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลา 22 ปี ที่ผ่านมา กระทรวง พม. โดย พอช. ได้ผลักดันการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยทั่วประเทศแล้ว 240,000 ครัวเรือน อีกทั้งส่งเสริมระบบสวัสดิการชุมชนเพื่อการช่วยเหลือดูแลซึ่งกันและกัน ด้วยกองทุนสวัสดิการชุมชนทั่วประเทศ 5,915 กองทุน มีเงินกองทุนรวมกันกว่า 20,000 ล้านบาท สามารถช่วยเหลือสมาชิกได้แล้วเกือบ 2 ล้านคน ซึ่งกระทรวง พม.

โดย พอช. ได้ดำเนินการขับเคลื่อนงานอย่างต่อเนื่องเป็นลำดับจากการทำงานพื้นที่เฉพาะ จนสามารถขยายงานครอบคลุมเต็มพื้นที่ประเทศไทยด้วยกลไกการทำงานที่สำคัญผ่านขบวนองค์กรชุมชนและประชาสังคมที่บูรณาการการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนเป็นหนึ่งเดียวกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวง พม. เพื่อก้าวสู่ปีที่ 23 ของ พอช. ที่มุ่งมั่นทำงานสู่เป้าหมายตามวิสัยทัศน์ “ปี 2579 ชุมชนท้องถิ่นมีความเข้มแข็งเต็มพื้นที่ประเทศไทย”

นายจุติ กล่าวต่อไปว่า พอช. เป็นองค์กรที่มีพลังเข้มแข็ง ยั่งยืน และมีการพัฒนาตามลำดับ โดยเฉพาะในสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลก ซึ่ง พอช. จะต้องมีการใช้ระบบดิจิตอลในการบริหารงาน เพื่อตรวจสอบอย่างแม่นยำพุ่งเป้าไปสู่เป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ ลดความสูญเสียในเวลาเดียวกัน และจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิค – 19 มีผลกระทบต่อรายได้ อาชีพ ทำให้กลุ่มเป้าหมายของเราที่เปราะบางอยู่แล้ว มีความเปราะบางมากยิ่งขึ้น จึงยากที่จะฟื้นตัวอย่างรวดเร็วตามที่เราคาดหวังไว้ ประกอบกับความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในขณะนี้ ทำให้ค่าครองชีพสูงขึ้น ส่งผลให้ประเทศไทยมีความยากลำบากยิ่งขึ้น

ดังนั้น เราต้องปรับการทำงานให้สอดคล้องกับการแก้ไขปัญหา เพื่อให้ก้าวพ้นวิกฤตของโลกไปให้ได้ รัฐบาลจึงตั้งใจแก้ปัญหาความยากจนแบบพุ่งเป้าด้วยสมุดพกครัวเรือนของกระทรวง พม. เพื่อใช้เป็นเข็มทิศ เป็นแผนที่ อีกทั้งต้องใช้ความอดทนในการแก้ปัญหา การเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ทั้งทักษะ อาชีพ และเทคโนโลยี ซึ่งต้นทุนทุกอย่างสูงขึ้น แต่คุณภาพชีวิตเรายังไม่สูงขึ้นตาม นับเป็นโจทย์ที่ท้าทายของ พอช. ในการพัฒนาแบบพุ่งเป้า

นายจุติ กล่าวเพิ่มเติมว่า แต่ละชุมชุน แต่ละภูมิภาค มีความแตกต่างกันทั้งวัฒนธรรมและสภาพแวดล้อม ทำให้มีปัญหาแตกต่างกัน ดังนั้น พอช. จะต้องมีวิธีที่ใช้วัคซีนที่ถูกต้องกับโรคด้วย มีความร่วมมือที่ละเอียดรอบคอบ และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ดังนั้น พอช. ต้องมุ่งมั่นและรู้รักสามัคคีสำหรับเป้าหมายเดียวกันเพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีโอกาสชีวิตที่ดีขึ้น และหวังว่าจะประสบความสำเร็จในอนาคตอันใกล้ ตามที่รัฐบาลตั้งใจไว้ว่า จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งเราจะรวบรวมทรัพยากรที่มีอยู่ทั้งหมดทั้งที่มีอยู่อย่างจำกัด โดยเราจะทำงานท่ามกลางความขาดแคลนให้ได้ และขอให้ 22 ปี ของ พอช. เป็นก้าวที่มั่นคง ยิ่งใหญ่ ยั่งยืนตลอดไป