วันที่ 25 ตุลาคม 2565 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดงาน “วันคล้ายวันสถาปนา วช. ครบรอบ 63 ปี” ซึ่งเป็นการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมให้ภาคประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์จากการวิจัยและนวัตกรรมเห็นถึงบทบาทและความสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนาให้มีการนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งเป็นภารกิจที่ วช. ปฏิบัติมาตลอดระยะเวลา 63 ปี
โดยงานจัดขึ้นระหว่างวันที่ 25 – 28 ตุลาคม 2565 ณ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ โดยมีศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานในพิธีเปิดงาน
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ชีวิตคือโอกาส” ว่า การที่เรามองว่าชีวิตคือปัญหาหรือเป็นโอกาสนั้น ไม่ใช่เรื่องของข้อเท็จจริงเพียงอย่างเดียว แต่ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของการปรุงแต่งทางอารมณ์ว่าจะใช้ความคิดเห็นส่วนตัวมาปรุงแต่งอย่างไรให้เห็นว่าเป็นโอกาสหรือเป็นปัญหา ซึ่งปัจจุบันมีการพูดกันมากว่า เราจะสร้างคนไทยให้เป็นคนที่มีทักษะอย่างไร โดยในระดับอุดมศึกษาจะพูดถึงการผลิตบัณฑิตที่ไม่ใช่มีแค่ความรู้อย่างเดียว แต่ต้องมีทักษะด้วยหรือที่เรียกกันว่า ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21
“ผมคิดว่าทักษะในการเห็นชีวิตคือโอกาส เป็นทักษะที่สำคัญมากและควรจะต้องสร้างวิทยาศาสตร์ ซึ่งเดิมเน้นว่าการคิดที่ดีที่สุดคือการคิดที่ไม่ใช้อารมณ์ แต่โดยหลักความเป็นจริงแล้วการคิดจะมีอารมณ์เข้ามาเป็นส่วนประกอบทั้งสิ้น ซึ่งหากมีอารมณ์ที่เหมาะสม เห็นว่าคือโอกาส จะทำให้สามารถคิด วิเคราะห์แบบไม่มีปัญหา ทำให้เกิดกำลังใจ ดังนั้นทักษะเกี่ยวกับชีวิตจึงสำคัญที่สุด ซึ่งเราควรจะต้องมีทักษะในการที่จะเห็นชีวิตการงานคือโอกาส ซึ่งในทางจิตวิทยาเขาเรียก Positive Thinking ด้วย”
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก กล่าวอีกว่า คนทั่วไปอาจจะคิดในแง่ลบว่าประเทศไทยมีปัญหา สู้ประเทศที่พัฒนาแล้วไม่ได้ แต่ในช่วง 63 ปี นับตั้งแต่ก่อตั้งสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ขึ้นมาก็มีการพัฒนามาโดยตลอด ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก จากประเทศที่ยากจนมาสู่ประเทศรายได้ปานกลาง และขั้นต่อไปจะเรียกว่าประเทศรายได้สูง เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว แสดงให้เห็นว่าเราไม่ได้หยุดนิ่งอยู่กับที่ โดยในส่วนของงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จากที่เคยนำเข้าความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ปัจจุบันไทยสามารถส่งออกวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปต่างประเทศได้แล้ว และได้รับการยอมรับจากประเทศเพื่อนบ้าน ถึงความเจริญก้าวหน้าโดยเฉพาะทางด้านวิทยาศาสตร์ และ วิทยาศาสตร์การแพทย์ รวมทั้งด้านการเกษตร
ซึ่งเราควรที่จะเชื่อมั่นในตัวเอง และจะต้องมียุทธศาสตร์ ในการเอาชนะประเทศที่พร้อมมากกว่าเราในหลายๆ ด้าน โดยประเทศไทยเป็นประเทศที่กำลังพัฒนาและกำลังจะพัฒนาแล้วในอีก 10 กว่าปีข้างหน้าตามแผนที่วางไว้ เราจึงต้องพยายามดำเนินการให้บรรลุความสำเร็จนั้นให้ได้ ทั้งนี้ในส่วนของการปฏิรูปการอุดมศึกษา สิ่งที่คิดว่าเรายังขาด ก็คือ การปฏิรูปอุดมศึกษาที่จะสร้างทักษะด้วยการเห็นชีวิตคือโอกาส หรือ positive thinking และการทำเรื่องความเชี่ยวชาญ (expertise) ที่ผสมผสานภูมิปัญญา( wisdom ) ซึ่งการปฏิรูปอุดมศึกษาที่ผ่านมาจะเน้นเรื่องความรู้ ความเชี่ยวชาญเป็นหลักส่งผลให้ได้คนที่มีความรู้แต่ขาดหลักคิด และสุดท้ายจะต้องปลูกฝังความเชื่อและความศรัทธา ให้กับบรรดานักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย และนักวิชาการ ซึ่งล้วนแต่ต้องการมุมมองที่จะมองให้เห็นว่าชีวิตคือโอกาส ภูมิใจในสิ่งที่ทำ และใช้โอกาสนี้ต่อไปให้ดีที่สุด
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เปิดเผยว่า หัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศเพื่อก้าวไปสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว การส่งเสริมการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นกลไกสำคัญประการหนึ่งที่ช่วยวางรากฐานและสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์ความรู้และนวัตกรรมเพื่อให้สามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในเชิงธุรกิจ และการเพิ่มขีดความสามารถของประเทศในทุกมิติ
ตลอด 63 ปีที่ผ่านมา วช. ได้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาศักยภาพและเพิ่มขีดความสามารถในการวิจัยของประเทศมาอย่างต่อเนื่อง กิจกรรม “วันคล้ายวันสถาปนาสำนักงานการวิจัยแห่งชาติครอบรอบ 63 ปี” จึงจัดขึ้นภายใต้แนวคิด “63 ปี วช. มุ่งสู่สังคมอุดมปัญญา พัฒนาไทยด้วยวิจัยและนวัตกรรม” ซึ่งวช. ยังคงให้ความสำคัญกับกิจกรรมส่งเสริมและเผยแพร่ความก้าวหน้าของงานวิจัยของไทย การนำเทคโนโลยีไปใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ และการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ผู้เข้าร่วมงาน
โดยกิจกรรมภายในงานประกอบด้วย ภาคการประชุมสัมมนาในประเด็นสำคัญเพื่อการพัฒนาประเทศด้วยวิจัยและนวัตกรรม ซึ่งเป็นงานวิจัยเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจสร้างคุณค่าและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ งานวิจัยเพื่อยกระดับสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน งานวิจัยเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาชุมชน การฝึกอบรมถ่ายทอดความรู้ให้แก่ประชาชนเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน เช่น พื้นฐานการปลูกผักในดินและการประยุกต์สู่การปลูกผักในเมือง การแปรรูปและเพิ่มมูลค่าผลผลิตจากโครงการปลูกผักในเมือง ระบบบำบัดน้ำเสียชนิดบึงประดิษฐ์สำหรับบ้านพักอาศัย และในส่วนของภาคนิทรรศการขอเชิญประชาชนและผู้สนใจ ร่วม ชิม ช็อป เพลิน เดินตลาดงานวิจัย
ซึ่งจะมีนิทรรศการให้ความรู้และผลิตภัณฑ์จากงานวิจัยมาแสดงและจำหน่ายให้กับผู้ที่มาร่วมงาน เช่น ผลิตภัณฑ์พืช ผัก ผลไม้ ผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป ผลิตภัณฑ์ชีวภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ขอเชิญชวนประชาชน และผู้สนใจเข้าร่วมชมงานวันคล้ายวันสถาปนา วช. 63 ปี ได้ในระหว่างวันที่ 25 – 28 ตุลาคมนี้ ณ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ จตุจักร กรุงเทพมหานคร