กลุ่มรักษ์หาดเกาะสมุยเข้าหารือร่วมกับกรมทะเลและชายฝั่ง เร่งหาแนวทางการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง

กลุ่มรักษ์หาดเกาะสมุยเข้าหารือร่วมกับกรมทะเลและชายฝั่ง เร่งหาแนวทางการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งพื้นที่หาดแม่น้ำและหาดบางมะขาม อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เปิดเผยภายหลังจากการประชุมหารือกับกลุ่มรักษ์หาดเกาะสมุย กรณีโครงการฟื้นฟูบูรณะและปรับปรุงภูมิทัศน์เพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งพื้นที่หาดแม่น้ำและหาดบางมะขาม อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ของกรมโยธาธิการและผังเมือง ว่า เสียงของการคัดค้าน “กำแพงกันคลื่น” เริ่มปรากฏบนเกาะสมุย

เมื่อกรมโยธาธิการและผังเมือง ได้ดำเนินโครงการศึกษาและออกแบบเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง พร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์พื้นที่ชายฝั่งตำบลเเม่น้ำเเละตำบลอ่างทอง อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยประชาชนในพื้นที่เกาะสมุยไม่เห็นด้วยกับโครงการดังกล่าว และที่ผ่านมา กรมทะเลและชายฝั่ง ได้กำหนดแนวทางหลักเกณฑ์โครงการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง โดยคณะกรรมการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ มีมติเห็นชอบให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องยึดถือปฏิบัติ เพื่อการพิจารณาเลือกมาตรการ รูปแบบให้สอดคล้องกับสภาพชายฝั่งทะเล และการกัดเซาะชายฝั่งที่เกิดขึ้น เพื่อการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ซึ่งในพื้นที่ชายหาดต่างๆ ที่อยู่ในเขตแผ่นดินนั้นมีหลักเกณฑ์ดังกล่าวครอบคลุมอยู่ แต่สำหรับพื้นที่เกาะ อย่างเช่นเกาะสมุย และที่อื่นนั้นไม่มีหลักเกณฑ์ในลักษณะดังกล่าวกำหนด

ซึ่งยิ่งทำให้การดำเนินโครงการศึกษาและออกแบบเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง บนพื้นที่เกาะสมุยมีความน่าเป็นห่วงและกังวลอย่างยิ่ง
กระทั่ง ในวันนี้ (25 ตุลาคม 2565) กลุ่มรักษ์หาดเกาะสมุย นำโดย พล.อ.อ.ทรงธรรม โชคคณาพิทักษ์ อดีตรองปลัดกระทรวงกลาโหม และชาวบ้าน ผู้ประกอบการในบริเวณพื้นที่ ได้เข้าหารือกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เกี่ยวกับกรณีโครงการฟื้นฟูบูรณะและปรับปรุงภูมิทัศน์เพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งพื้นที่หาดแม่น้ำและหาดบางมะขาม อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ของกรมโยธาธิการและผังเมือง พร้อมกับยื่นหนังสือขอให้กรมทะเลและชายฝั่ง ร่วมเป็นหน่วยงานกลางในการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง

เนื่องจากเกรงว่าหากมีการดำเนินโครงการก่อสร้างเขื่อนกันคลื่นบริเวณหาดแม่น้ำและหาดบางมะขาม อาจส่งผลกระทบให้สูญเสียพื้นที่ชายหาด สูญเสียทัศนียภาพของแหล่งท่องเที่ยว กระทบต่อวิถีชีวิตชุมชน และกระทบต่อธุรกิจการท่องเที่ยวของเกาะสมุยและประเทศโดยรวม

จากการหารือเบื้องต้น กรมทะเลและชายฝั่ง ในฐานะหน่วยงานที่มีภารกิจหลักด้านการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง จะใช้กลไกของคณะกรรมการจังหวัดเพื่อร่วมหาแนวทางแก้ไข และกำหนดแนวทางในการอนุรักษ์ฟื้นฟูชายหาด เพื่อให้เหมาะสมกับสถานภาพของชายหาด อีกทั้งปัจจุบันยังมีคณะทำงานกลั่นกรองในการพิจารณาความเหมาะสมของโครงการฯ นอกจากนี้ ตนพร้อมคณะทำงานจะลงพื้นที่ติดตามและตรวจสอบสถานภาพการดำเนินโครงการก่อสร้างเขื่อนกันคลื่น พร้อมทั้งเร่งหารือร่วมกับจังหวัด ท้องถิ่น ในการรับฟังความคิดเห็นของพี่น้องชุมชนชาวเกาะสมุย เพื่อเร่งหาทางออกที่ดีให้กับทุกฝ่ายต่อไป “นายอรรถพล กล่าวทิ้งท้าย”