วช. จัดงานครบรอบ 63 ปี มุ่งสู่สังคมอุดมปัญญา พัฒนาไทยด้วยวิจัยและนวัตกรรม

วช. จัดงานครบรอบ 63 ปี มุ่งสู่สังคมอุดมปัญญา พัฒนาไทยด้วยวิจัยและนวัตกรรม ชูบทบาท หน่วยงานหลักในการบริหารจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ พร้อมโชว์นิทรรศการ ชิม ช็อป เพลิน เดินตลาดงานวิจัยที่มีผลงานจากเครือข่ายมาจัดแสดงกว่า 50 ผลงาน

วันที่ 25 ตุลาคม 2565  สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดงานวันคล้ายวันสถาปนา วช. ครบรอบ 63 ปี “63 ปี วช. มุ่งสู่สังคมอุดมปัญญา พัฒนาไทย ด้วยวิจัยและนวัตกรรม” เพื่อเผยแพร่บทบาท ภารกิจและหน้าที่ ของ วช. รวมถึงนำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่มีศักยภาพพร้อมใช้ประโยชน์ โดยมี ศ.พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. เป็นประธานในพิธีเปิดงาน

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 63 ปี ที่ผ่านมา วช. มีบทบาทในการพัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถในการวิจัยของประเทศให้พัฒนามากขึ้น มีการสร้างฐานความรู้และต่อยอดงานวิจัยให้เกิดประโยชน์ทั้งในเชิงพาณิชย์และภาคสังคม โดยการมีส่วนร่วมของเครือข่ายต่างๆ อย่างต่อเนื่อง จวบจนรัฐบาลได้มีการปฏิรูประบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ เพื่อเป็นกลไกการบูรณาการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศให้ตรงกับความต้องการ และเป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมขึ้น

ซึ่ง วช. ได้รับมอบหมายให้มีหน้าที่และอำนาจ 7 ประการได้แก่ การให้ทุนวิจัยและนวัตกรรม การจัดทำฐานข้อมูลและดัชนีด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ การริเริ่มขับเคลื่อนและประสานการ ดำเนินงานโครงการวิจัยและนวัตกรรมที่สำคัญของประเทศ การจัดทำมาตรฐานและจริยธรรมการวิจัย การส่งเสริม และถ่ายทอดความรู้เพื่อใช้ประโยชน์ การส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรด้านการวิจัยและนวัตกรรม และการให้รางวัลประกาศเกียรติคุณหรือยกย่องบุคคลหรือหน่วยงานด้านการวิจัยและนวัตกรรม

“วช. ในฐานะหน่วยงานหลักในการบริหารจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ตลอดจนสนับสนุนและขับเคลื่อนกลไกต่างๆ ในการพัฒนาประเทศด้วยงานวิจัยและนวัตกรรมมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปีงบประมาณ 2565 ที่ผ่านมา วช. ได้ขับเคลื่อนงานวิจัยโดยดำเนินการไปแล้วไม่ต่ำกว่า 4,000-5,000 โครงการ โดยแผนภายใต้กรอบการวิจัย วช.ได้มีส่วนช่วยในการสนับสนุนการแก้ไขปัญหาในด้านต่างๆ ของประเทศทั้งด้านการแพทย์ เกษตร สิ่งแวดล้อมและอื่นๆ ตามความเร่งด่วนของปัญหาที่เกิดขึ้น

นอกจากนี้ วช. ยังมีความร่วมมือกับเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศในการพัฒนากำลังคน และสนับสนุนส่งนักประดิษฐ์ไทยเข้าร่วมประกวดในเวทีระดับนานาชาติ ส่วนในด้านการบริการ ผลงานระบบข้อมูลสารสนเทศวิจัยและนวัตกรรม (NRIIS) ของ วช. ได้รับรางวัลเลิศรัฐ ประจำปี 2565 ในสาขาบริการภาครัฐ ประเภทพัฒนาการบริการ กองระบบและบริหารข้อมูลเชิงยุทธศาสตร์ ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ”

ดร.วิภารัตน์ กล่าวว่า เนื่องจาก วช. จะดำเนินงานครบรอบ 63 ปี ในวันที่ 28 ตุลาคมนี้ วช. จึงจัดงานวันคล้ายวันสถาปนา วช. ครบรอบ 63 ปีขึ้น เพื่อประชาสัมพันธ์บทบาทหน้าที่และภารกิจของ วช. และเผยแพร่ผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่มีศักยภาพพร้อมใช้ประโยชน์ โดยยกระดับโอกาสเข้าถึงฐานข้อมูล ความรู้ การวิจัยและนวัตกรรมต่อสาธารณชน ตลอดจนเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมงานจากทุกภาคส่วน ได้มีโอกาสพบปะแลกเปลี่ยนแนวคิดด้านการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมร่วมกัน

ภายในงานมีกิจกรรมที่น่าสนใจประกอบด้วย ภาคการประชุมในประเด็นสำคัญเพื่อการพัฒนาประเทศด้วยวิจัยและนวัตกรรม เช่น การบรรยายพิเศษเรื่อง “วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม : อดีต ปัจจุบัน อนาคต” โดย ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ การจัดแสดงนิทรรศการชิม ช็อป เพลิน เดินตลาดงานวิจัย ซึ่งมีผลงานวิจัยพร้อมใช้ประโยชน์มาจัดแสดง เช่น ต้นแบบผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงแปรรูปจากเปลือกหอยแมลงภู่เหลือทิ้ง การจัดการนวัตกรรมการผลิตไม้ไผ่เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจชุมชนฐานราก “ไอน้ำสมุนไพร” ทางเลือกใหม่สำหรับการป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืชอย่างปลอดภัย ผลิตภัณฑ์อาหารพืชสูตรเข้มข้น และผลิตภัณฑ์จากไผ่จังหวัดปราจีนบุรี

นอกจากนี้ยังมีการฝึกอาชีพและให้ความรู้จากงานวิจัย การถ่ายทอดความรู้และงานวิจัย (Knowledge Sharing) ระบบสารสนเทศเพื่อประชาคมวิจัย การอบรมเชิงปฏิบัติการถ่ายทอดเทคโนโลยีโดรนแปรอักษรเพื่อประยุกต์สู่การวิจัย การถ่ายทอดความรู้พื้นที่ปลูกพืชในเมือง และนิทรรศการโรงกลั่นแอลกอฮอล์ตามแนวพระราชดำริ

สำหรับงานวันคล้ายวันสถาปนา วช. ครบรอบ 63 ปี จัดขึ้นระหว่างวันที่ 25– 28 ตุลาคม 2565 ณ บริเวณสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ถนนพหลโยธิน เขตจตุจักร กรุงเทพฯ