กรมควบคุมโรค เข้มมาตรการด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศที่ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ เพื่อคัดกรองผู้ที่เดินทางมาจากประเทศเสี่ยง หลังองค์การอนามัยโลกประกาศให้โรคอีโบลา เป็นสถานการณ์ฉุกเฉินระหว่างประเทศ พร้อมแนะวิธีป้องกันสำหรับผู้ที่จะเดินทางไปยังประเทศที่มีการระบาดของโรค
วันที่ 24 ตุลาคม 2565 นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ รักษาราชการอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีที่มีรายงานข่าว ว่าองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประเมินสถานการณ์การระบาดแล้วพบว่า ความเสี่ยงของโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา ในประเทศซูดานขณะนี้ มีความเสี่ยงสูงที่จะแพร่กระจายไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากมีการข้ามพรมแดนระหว่างยูกันดาและประเทศอื่นๆ โดยประชากรส่วนใหญ่เดินทางข้ามพรมแดนเพื่อไปค้าขาย นอกจากนี้ ประเทศยูกันดายังให้ที่พักพิงแก่ผู้ลี้ภัยจำนวนมาก ซึ่งเป็นการให้ความช่วยเหลือเพื่อรักษาสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศ
กระทรวงสาธารณสุข ได้ประกาศให้โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาเป็นโรคติดต่ออันตรายที่จะต้องเฝ้าระวังและดำเนินการ อย่างเข้มข้น ซึ่งกรมควบคุมโรคติดตามสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาในต่างประเทศมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่มีรายงานผู้ป่วยในช่วงที่ผ่านมา และเตรียมพร้อมทั้งการเฝ้าระวังป้องกันโรค ซึ่งขณะนี้ในประเทศไทยไม่มีรายงานผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัส อีโบลาแต่อย่างใด และยกระดับมาตรการที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ ดังนี้
1.ตรวจคัดกรองผู้ที่เดินทางมาจากประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกทุกราย โดยการตรวจวัดและลงบันทึกอุณหภูมิ พร้อมให้แจ้งที่อยู่ที่ชัดเจนในประเทศไทย หมายเลขโทรศัพท์ วันเดือนปีสุดท้ายที่ออกจากประเทศคองโก
2.ผู้ที่เดินทางมาจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ภายใน 21 วัน ให้เขียนใบรายงานตัว และปฏิบัติตัวตามบัตรเตือนสุขภาพ (Health beware card) พร้อมสังเกตอาการตนเอง
3.ผู้ที่เดินทางมาจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ภายใน 21 วัน เมื่อตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายแล้วมีอุณหภูมิ 38 องศาเซลเซียสขึ้นไป พร้อมกับมีไข้ ปวดศีรษะ เจ็บคอ ปวดกล้ามเนื้อ เหนื่อย เพลีย และมีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยหรือผู้สงสัยป่วยด้วยโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา ให้แจ้งหัวหน้าด่านฯ สุวรรณภูมิ เพื่อพิจารณาส่งต่อไปยังสถาบันบำราศนราดูร
4.กองโรคติดต่อทั่วไป จะประสานเจ้าหน้าที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ เพื่อติดตามข้อมูลการคัดกรอง ผู้เดินทางจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกทุกสัปดาห์ และทำการประเมินสถานการณ์โรค
5.ให้เจ้าหน้าที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ถ่ายสำเนาหน้าพาสปอร์ตที่ประทับตราเข้า-ออกประเทศ ในผู้ที่เดินทางมาจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ภายใน 21 วัน เพื่อความชัดเจนในการติดตามข้อมูลของทีมสอบสวนโรค
นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้การเฝ้าระวังโรคติดต่ออันตราย ในระดับพื้นที่ ทางกรมควบคุมโรคจะมีการให้ข้อมูลข่าวสารกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ ตลอดจนสื่อสารไปยังอาสาสมัครสาธารณสุขกรณีพบความผิดปกติ เช่น พบเห็นผู้ที่มาจากประเทศที่มีการระบาดของโรค แล้วมีอาการไม่สบาย เป็นไข้ ให้รีบแจ้ง มาที่กรมควบคุมโรค เบอร์ 1422
“องค์การอนามัยโลก ยังไม่แนะนำให้จำกัดการเดินทางหรือการค้าระหว่างประเทศสำหรับผู้ที่จะเดินทางไปยังประเทศที่มีการระบาดของโรค ซึ่งได้ประเมินว่านักเดินทางระหว่างประเทศยังมีความเสี่ยงในระดับที่ต่ำมาก เนื่องจากผู้ที่ติดเชื้อส่วนใหญ่มีการติดเชื้อโดยตรงจากการสัมผัสกับของเหลวในร่างกาย หรือสารคัดหลั่งของผู้ป่วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโรงพยาบาล จากการใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ (เข็มและหลอดฉีดยา) ที่ปนเปื้อนเชื้อ รวมถึงไม่มีการป้องกันเมื่อมีการสัมผัสกับสารคัดหลั่งที่ติดเชื้อ” นายแพทย์โสภณ กล่าว
คำแนะนำสำหรับผู้ที่จะเดินทางจากประเทศไทยไปยังประเทศที่มีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา เนื่องจากองค์การอนามัยโลก ยังไม่มีประกาศห้ามการเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีการระบาด ผู้ที่จะเดินทางสามารถเดินทางไปได้ แต่ต้องปฏิบัติตามคำแนะนำ ได้แก่ 1) หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ป่า ทั้งที่ป่วยหรือไม่ป่วย 2) หลีกเลี่ยงการรับประทานสัตว์ป่าที่ป่วยตายโดยไม่ทราบสาเหตุ โดยเฉพาะสัตว์จำพวกลิง หรือค้างคาว หรืออาหารเมนูพิสดารที่ใช้สัตว์ป่าหรือสัตว์แปลกๆ มาประกอบอาหาร 3) หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารคัดหลั่ง เช่น เลือดจากผู้ป่วย สิ่งของเครื่องใช้ของผู้ป่วยที่อาจปนเปื้อนกับสารคัดหลั่งของผู้ป่วย หรือศพ 4) หลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงกับผู้ป่วย หากมีความจำเป็นให้สวมอุปกรณ์ป้องกันร่างกายและล้างมือบ่อยๆ 5) หากมีอาการเริ่มป่วย เช่น มีไข้สูง อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ เจ็บคอ อาเจียน ท้องเสีย ภายหลังกลับจากประเทศที่มีการระบาด ให้รีบพบแพทย์ทันที หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422
ข้อมูลจาก : กองโรคติดต่อทั่วไป/สำนักสื่อสารความเสี่ยง กรมควบคุมโรค