นางอัญชนา ตราโช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า โครงการเกษตรวิชญา เป็นโครงการในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานที่ดินส่วนพระองค์ ณ บ้านกองแหะ ตําบลโป่งแยง อําเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 1,350 ไร่ เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2545 ให้กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อใช้เป็นคลินิกเกษตร สำหรับบริการถ่ายทอดเทคโนโลยีเกษตรชุมชน ศูนย์ฝึกอบรมการทำการเกษตรบนพื้นที่สูง ศูนย์สาธิตและส่งเสริมอาชีพให้แก่เกษตรกร และฟื้นฟูพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมให้เป็นธนาคารอาหารชุมชน
สศก. โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 1 จังหวัดเชียงใหม่ (สศท.1) ได้ศึกษาภาวะเศรษฐกิจและสังคมครัวเรือนเกษตรของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการเกษตรวิชญา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำข้อมูลที่ได้จากการศึกษานี้ ไปใช้เป็นแนวทางในการวางแผนดำเนินกิจกรรมต่างๆ ในพื้นที่โครงการให้สอดคล้องกับความต้องการพัฒนาด้านการเกษตร รวมทั้งแก้ปัญหาทางการเกษตรในปัจจุบันได้ และจากการสำรวจเกษตรกรจำนวน 42 ราย ที่เข้าไปทำประโยชน์ในพื้นที่โครงการ ในปี 2560 พบว่า เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก ส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 41-50 ปี มีสมาชิกเฉลี่ยครัวเรือนละ 4 ราย รายได้เฉลี่ยครัวเรือนละ 229,564 บาท ประมาณร้อยละ 34 เป็นรายได้ทางการเกษตร 78,316 บาท และร้อยละ 66 เป็นรายได้นอกการเกษตร 151,248 บาท เช่น พนักงานรีสอร์ท ค้าขาย รับเหมาก่อสร้าง เป็นต้น ด้านหนี้สิน พบว่า เกษตรกรหนี้สินเฉลี่ยครัวเรือนละ 132,643 บาท โดยเป็นหนี้สินในภาคการเกษตร 84,762 บาท และนอกภาคการเกษตร 47,881 บาท สำหรับแหล่งเงินกู้ส่วนใหญ่เป็นเงินกู้ ในระบบ ได้แก่ ธ.ก.ส. กองทุนหมู่บ้าน สหกรณ์ เป็นต้น เกษตรกรส่วนใหญ่ต้องการให้สนับสนุนด้านเงินทุนและการบรรเทาปัญหาหนี้สิน โดยเฉพาะการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ การสนับสนุนเงินทุนอัตราดอกเบี้ยต่ำ และการพักชำระหนี้
การใช้ประโยชน์ในพื้นที่โครงการ ปีเพาะปลูก 2560/61 เกษตรกรส่วนใหญ่จะปลูกพืชทั้งแปลงในและนอกโครงการในลักษณะเดียวกัน คือ 1 รอบปีเพาะปลูก (เดือนพฤษภาคม 2560 – เมษายน 2561) จะหมุนเวียนปลูกพืช 4 ชนิด ได้แก่ หอมหัวใหญ่ ถั่วแขก กะหล่ำปลี และ คะน้า ซึ่งพืชเศรษฐกิจหลักของโครงการ คือ หอมหัวใหญ่ จะปลูกในช่วงฤดูหนาว ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2560 และเก็บเกี่ยวจนถึงเดือนเมษายน 2561 ช่วงเวลาที่รอเพาะปลูกหอมหัวใหญ่ เกษตรกรจะปลูกพืชผักอื่นๆ แต่บางรายปล่อยเป็นพื้นที่ว่างเปล่า และจะเข้าไปใช้ประโยชน์เมื่อถึงฤดูกาลเพาะปลูกหอมหัวใหญ่เท่านั้น ซึ่งเกษตรกรที่เข้ามาใช้ประโยชน์จากที่ดินของโครงการ สามารถเพาะปลูกพืชเพื่อสร้างรายได้ให้กับครอบครัวเพิ่มขึ้น
ด้านนายธวัชชัย เดชาเชษฐ์ ผู้อำนวยการ สศท.1 กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับหอมหัวใหญ่ที่ปลูกในพื้นที่โครงการฯ มีผลผลิตเฉลี่ยไร่ละ 3,284 กิโลกรัม ราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 8 บาท เกษตรกรได้รับผลตอบแทนเฉลี่ยไร่ละ 26,273 บาท เมื่อหักต้นทุนการผลิตได้รับผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ยไร่ละ 1,878 บาท ทั้งนี้ เกษตรกรส่วนใหญ่ ประสบปัญหาด้านศัตรูธรรมชาติ โดยเฉพาะโรคพืช ร้อยละ 74 และด้านแมลง ร้อยละ 50 ซึ่งเกษตรกรใช้วิธีการกำจัดศัตรูพืชและแมลงโดยใช้สารเคมีเป็นส่วนใหญ่ และต้องการให้ภาครัฐเข้ามาอบรมให้ความรู้ด้านการดูแลผลผลิต การจัดการโรคพืชศัตรูพืชและแมลง โดยใช้สารชีวภัณฑ์และสารชีวมวลทดแทนสารเคมี เพื่อลดต้นทุนการผลิตทำให้ผลผลิตมีคุณภาพปลอดภัย รวมทั้งส่งเสริมการปลูกพืชทางเลือกที่มีศักยภาพและมีตลาดรองรับในพื้นที่สูงให้แก่เกษตรกร ส่งเสริมการทำบัญชีครัวเรือน และส่งเสริมให้รวมกลุ่มเพื่อบริหารจัดการการผลิตและการตลาดร่วมกัน เป็นต้น
ทั้งนี้ โครงการเกษตรวิชญา ได้เปิดพื้นที่ให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2562 และจัดกิจกรรมต่างๆ ในโครงการตลอดทั้งปี สศก. จึงขอเชิญชวนหน่วยงานรัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาคม สถานศึกษา และประชาชนทั่วไป สามารถเข้าชมศูนย์การเรียนรู้และร่วมกิจกรรมที่ทางโครงการจัดขึ้นได้ โดยผู้สนใจเยี่ยมชมโครงการ สามารถติดต่อได้ที่เจ้าหน้าที่ประสานงานประจำโครงการเกษตรวิชญา โทร. 0 94760 1604