กระทรวงสาธารณสุข เตือนประชาชนฝนตก น้ำขัง เดินลุยน้ำ ย่ำโคลน เสี่ยงโรคฉี่หนู ควรสวมรองเท้าป้องกัน หากมีไข้เฉียบพลัน หนาวสั่น ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อบริเวณน่อง โคนขา ให้รีบไปพบแพทย์
นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในช่วงฤดูฝน หลายพื้นที่มีน้ำท่วมขัง ดินโคลนชื้นแฉะ ประชาชนเดินลุยน้ำ ย่ำโคลนอาจป่วยด้วยโรคฉี่หนู หรือเลปโตสไปโรซิส (Leptospirosis) ซึ่งเชื้อโรคฉี่หนู ส่วนใหญ่พบปนอยู่ในปัสสาวะของหนู รวมถึงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่น ๆ เช่น สุนัข แมว โค แพะ แกะ และมักจะปนเปื้อนอยู่ในแหล่งน้ำขัง พื้นดินโคลน หรือพื้นที่มีหนูอาศัยอยู่ชุกชุม เช่น ตลาด คันนา สวน รวมทั้งในบ้าน เชื้อโรคผ่านเข้าสู่ร่างกายทางบาดแผล รอยขีดข่วน ผิวหนังที่แช่น้ำเป็นเวลานาน หรือเยื่อบุตา รวมถึงอาหารและน้ำดื่มที่มีเชื้อโรคปนเปื้อน ข้อมูลสำนักระบาดวิทยา ตั้งแต่เดือนมกราคม – 24 พฤษภาคม 2562 พบผู้ป่วยจำนวน 622 ราย เสียชีวิต 8 รายพบมากในผู้ประกอบอาชีพ ชาวสวน ชาวนา ชาวไร่ รองลงมารับจ้าง ได้ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ให้ความรู้ประชาชนในการป้องกันโรค และเฝ้าระวังสถานการณ์ในพื้นที่
ด้านนายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า อาการผู้ป่วยโรคฉี่หนู ที่พบบ่อยคือ มีไข้เฉียบพลัน หนาวสั่น ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะที่น่องและโคนขา บางรายมีอาการปวดหัว ตาแดง แต่จะมีบางส่วนซึ่งมีอาการรุนแรง เช่น มีอาการไตวาย (ปัสสาวะไม่ออก) ตับวาย (ตัวเหลือง ตาเหลือง) อาจมีอาการเหนื่อย ไอเป็นเลือด และช็อค (ไม่รู้สึกตัว) ในคนที่รอให้มีอาการมากแล้วจึงมารักษามักจะเสียชีวิต จึงขอให้รีบพบแพทย์และแจ้งประวัติการลุยน้ำให้ทราบ เพื่อประเมินการรักษาได้อย่างถูกต้อง โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคเบาหวานต้องระวังเป็นพิเศษเนื่องจากมีโอกาสเสี่ยงติดโรคสูง ที่สำคัญอย่าซื้อยากินเองเพราะอาจทำให้อาการรุนแรงขึ้นได้
ขอให้ประชาชนป้องกันตนเอง ไม่ย่ำน้ำท่วมขัง ดินโคลน พื้นที่ชื้นแฉะด้วยเท้าเปล่า ควรสวมรองเท้าบู๊ท ถุงพลาสติกสะอาด หรือวัสดุที่กันน้ำได้ ป้องกันเท้าสัมผัสเชื้อโรคโดยตรง และรีบล้างทำความสะอาด เช็ดให้แห้ง หมั่นล้างมือด้วยน้ำและสบู่บ่อย ๆ สำหรับเกษตรกร ผู้ที่ต้องสัมผัสมูลสัตว์ หรือสิ่งสกปรก ควรล้างมือ อาบน้ำชำระร่างกายทันทีหลังเสร็จจากการทำงาน ควรเก็บอาหารและน้ำดื่มให้มิดชิด เลี่ยงการรับประทานอาหาร เครื่องดื่มโดยใช้ปากสัมผัสโดยตรงจากกระป๋องหรือขวด เนื่องจากอาจมีเชื้อโรคปนเปื้อน ที่สำคัญควรกำจัดขยะ เศษอาหารในบ้านเรือน สถานที่ทำงานให้สะอาดเพื่อไม่ให้เป็นแหล่งอาหารของหนู ประชาชนสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422