วธ.ครบรอบ 2 ทศวรรษ เดินหน้าขับเคลื่อนสู่กระทรวงสังคมกึ่งเศรษฐกิจ ปรับฉากทัศน์วัฒนธรรมสู่ความมั่นคงและยั่งยืน

วันที่ 3 ตุลาคม 2565 นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) เป็นประธานในพิธีบวงสรวง ทำบุญ เนื่องในวันคล้ายวันสถาปนากระทรวงวัฒนธรรม ครบรอบ 20 ปี วันที่ 3 ตุลาคม 2565 โดยมีนางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ผู้บริหาร วัฒนธรรมจังหวัด เครือข่ายกระทรวงวัฒนธรรมเข้าร่วมงาน ที่บริเวณโถงชั้น 1 กระทรวงวัฒนธรรม โดยในช่วงบ่ายได้มีพิธีถวายและมอบโล่รางวัลเชิดชูเกียรติรางวัลวัฒนคุณากรให้แก่เครือข่ายทางวัฒนธรรม เพื่อเป็นขวัญกำลังใจและต้นแบบเครือข่ายวัฒนธรรมที่เป็นประโยชน์ต่อกระทรวงวัฒนธรรมทั่วประเทศ

นายอิทธิพล คุณปลื้ม กล่าวว่า วันที่ 3 ตุลาคมของทุกปีถือเป็นวันคล้ายวันสถาปนากระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ซึ่งในปีนี้เป็นโอกาสครบรอบ 20 ปี โดยก้าวต่อไป วธ.ได้ปรับบทบาทจากกระทรวงสังคมสู่กระทรวงสังคมกึ่งเศรษฐกิจ โดยมีเป้าหมายการขับเคลื่อนงานด้านศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรมถือเป็นการ Restart ประเทศไทย ขับเคลื่อนสังคมและเศรษฐกิจด้วยวัฒนธรรม ตามนโยบาย “เปลี่ยนฉากทัศน์วัฒนธรรม สู่ก้าวที่มั่นคงและยั่งยืน” จะส่งผลให้เกิดประโยชน์อย่างยิ่งต่อประชาชน และประเทศชาติ ทั้งมิติทางสังคม และเศรษฐกิจ โดยบทบาทงานวัฒนธรรมจะตอบโจทย์สถานการณ์โลกในยุคหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ด้วยการพัฒนางานวัฒนธรรมผ่านการใช้สื่อดิจิทัล ปรับโฉมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism) สร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ภายใต้แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 การขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมาย BCG Model โดยคงไว้ซึ่งคุณค่าและเป็นที่ชื่นชมของนานาประเทศ อาทิ การเทิดทูนสถาบันหลักของชาติ การส่งเสริมเศรษฐกิจวัฒนธรรม ไทยในเวทีโลก ด้วยทุนทางวัฒนธรรมที่มีศักยภาพ หรือ 5 F การประกาศขึ้นทะเบียนด้านวัฒนธรรมในกรอบยูเนสโก คนไทยเข้าถึงข้อมูลทางวัฒนธรรม ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์และแหล่งเรียนรู้แบบ Onsite เพิ่มขึ้น เด็ก เยาวชน ประชาชน มีภูมิคุ้มกันด้านสังคมพร้อมก้าวสู่ศตวรรษที่ 21 อาทิ ความเข้าใจในความหลากหลายทางวัฒนธรรม ความหลากหลายทางความคิด วิถีชีวิต ฯลฯ มีภาคีเครือข่ายงานวัฒนธรรมและขยายใหญ่ขึ้น

และเป้าหมายมิติเศรษฐกิจ ประกอบด้วย การส่งเสริมงานวัฒนธรรมจะส่งผลทำให้อัตราการเจริญเติบโตของรายได้สินค้าและบริการทางวัฒนธรรมต่อ GDP สูงขึ้น 15 เปอร์เซนต์ ภายใน 3 ปี  มูลค่าการส่งออกสินค้าและบริการทางวัฒนธรรมเพิ่มขึ้นไทยได้รับการจัดอันดับ Soft Power และอันดับโลกที่เกี่ยวกับงานวัฒนธรรมที่สูงขึ้นเกิดนวัตกรรมวัฒนธรรมใหม่ๆ ที่ยกระดับสินค้าและบริการทางวัฒนธรรม การยกระดับการบริหารจัดการ และบริการดีขึ้น รวมถึงกระจายรายได้สู่ชุมชนท้องถิ่นมากขึ้น

นอกจากนี้ส่งเสริมวัฒนธรรม 9 ดี สู่ก้าวที่มั่นคงและยั่งยืน โดยทุกภาคร่วมกันผลักดัน การใช้วัฒนธรรมเป็นฐานเพื่อการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ และสร้างคน เกิดผลสู่การกินดี อยู่ดี เรียนรู้ดี อารมณ์ดี นำไปสู่ความมั่นคงดี พอดีในตัวเอง และเกิดความปรารถนาดีต่อสังคม สู่เป้าหมายสูงสุดคือ ชีวิตดีและสังคมดีในที่สุด