รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ นำทีมพนักงานเจ้าหน้าที่รุดตรวจสอบคลินิกเสริมความงาม ย่านจตุจักร หลังมีการแจ้งเหตุผู้รับบริการสลบคาห้องผ่าตัด ระหว่างศัลยกรรมเสริมความงาม พร้อมย้ำให้รพ./คลินิกทุกแห่งกวดขันมาตรฐานสถานพยาบาลของตน โดยเฉพาะผู้ให้บริการ ต้องเป็นแพทย์ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนและใบอนุญาตจากแพทยสภาจึงมีสิทธิให้บริการทางการแพทย์หรือเสริมความงามได้
วันที่ 30 พฤษภาคม 2562 ทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้ากรณีดังกล่าวว่า ตนพร้อมพนักงานเจ้าหน้าที่จากสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ และกองกฎหมาย กรม สบส.ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง ณ คลินิกดังกล่าว ซึ่งตั้งอยู่ในย่านจตุจักร โดยมุ่งตรวจสอบในประเด็นสำคัญตามที่กฎหมายสถานพยาบาลกำหนด 3 ประเด็น ประกอบด้วย 1) คลินิกดังกล่าวมีการขออนุญาตประกอบกิจการสถานพยาบาลอย่างถูกำต้องตามกฎหมายหรือไม่ 2)ผู้ให้บริการเป็นแพทย์ที่ขึ้นทะเบียน และมีใบประกอบวิชาชีพเวชกรรมอย่างถูกต้องจากสภาวิชาชีพหรือไม่ และ 3)มาตรฐานด้านสถานที่ การบริการ ยาและเวชภัณฑ์ และความปลอดภัยของสถานพยาบาล ว่าเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่
โดยจากการตรวจสอบในเบื้องต้น พบว่าคลินิกดังกล่าวมีการขออนุญาตประกอบกิจการสถานพยาบาลอย่างถูกต้อง และมีการดำเนินการตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด แต่ก็ยังพบการกระทำผิดมาตรฐานบ้างในเรื่องของการขาดการชำระค่าธรรมเนียมรายปี เปิดให้บริการสถานพยาบาลเกินระยะเวลาที่ขออนุญาต และแพทย์ผู้ให้บริการมิได้ยื่นแบบแสดงความจำนงเป็นผู้ปฏิบัติงานในสถานพยาบาล (ส.พ.6) กับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ซึ่งจะมีการเรียกตัวผู้รับอนุญาตและผู้ดำเนินการสถานพยาบาลมาทำการเปรียบเทียบปรับ พร้อมสอบสวนข้อเท็จจริงต่อไปว่าแพทย์ผู้ให้บริการในช่วงที่เกิดเหตุนั้นเป็นแพทย์จริงหรือไม่ หากพบว่าคลินิกใช้บุคคลอื่นที่มิใช่แพทย์มาให้บริการ ผู้ให้บริการจะมีความผิดตามพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 ฐานเป็นหมอเถื่อนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนผู้ดำเนินการจะมีความผิดตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541 ฐานปล่อยปละ ละเลยให้บุคคลอื่นซึ่งมิใช่ผู้ประกอบวิชาชีพทำการประกอบวิชาชีพในสถานพยาบาล ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
“กรม สบส.ขอเน้นย้ำให้ผู้รับอนุญาตและผู้ดำเนินการ รพ./คลินิกทุกแห่งกวดขันมาตรฐานสถานพยาบาลของตน โดยเฉพาะผู้ให้บริการ ต้องเป็นแพทย์ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนและใบอนุญาตจากแพทยสภาจึงมีสิทธิให้บริการทางการแพทย์หรือเสริมความงามได้ อีกทั้งก่อนที่จะเริ่มปฏิบัติงานในสถานพยาบาล จะต้องมีการยื่นแบบแสดงความจำนงเป็นผู้ปฏิบัติงานในสถานพยาบาล (ส.พ.6) กับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพหรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ตรวจสอบคุณสมบัติเหมาะสมกับประเภทของสถานพยาบาล และเวลาปฏิบัติงานไม่ซ้ำซ้อนกับสถานพยาบาลแห่งอื่น เพื่อการันตีความปลอดภัยแก่ผู้รับบริการ” ทันตแพทย์อาคม กล่าว