นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ผู้เล่นในตลาดการเงินสหรัฐฯ ยังคงกังวลแนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟด หลังรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ออกมาแข็งแกร่งกว่าคาด อาทิ ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) ที่ลดลงสู่ระดับเพียง 1.93 แสนราย อีกทั้ง ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดก็ยังคงสนับสนุนการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ทำให้ผู้เล่นส่วนใหญ่ต่างทยอยลดการถือสินทรัพย์เสี่ยง เนื่องจากการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟดอาจกดดันให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวหนักหรือถดถอย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผลกำไรของบรรดาบริษัทจดทะเบียนอย่างชัดเจน
โดยแรงขายหุ้นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงกระจุกตัวอยู่ในหุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth อาทิ Tesla -6.8%, Meta -3.7% นอกจากนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังถูกกดดันจากแรงขายหุ้น Apple -4.9% และหุ้นเทคฯ อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ หุ้นกลุ่มผู้ผลิตชิพฯ หลังบริษัท Apple ได้ยกเลิกแผนการเพิ่มกำลังการผลิต iPhone 14 จากกระแสตอบรับที่แย่กว่าคาด ทำให้ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ดิ่งลงแรงกว่า -2.84% เช่นเดียวกันกับดัชนี S&P500 ที่ดิ่งลง -2.11%
ทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ของยุโรป กลับมาปรับตัวลงแรงกว่า -1.67% หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจยุโรป อาทิ ความเชื่อมั่นผู้บริโภคและความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจต่างออกมาแย่กว่าคาด รวมถึงบรรดาบริษัทค้าปลีกก็มีการประกาศผลประกอบการที่แย่กว่าคาดและปรับลดคาดการณ์รายได้รวมถึงกำไรลดลง ซึ่งภาพดังกล่าวยิ่งตอกย้ำความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอตัวลงหนัก จากการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของบรรดาธนาคารกลางและความเสี่ยงวิกฤตพลังงานในยุโรป
ส่วนในฝั่งตลาดบอนด์ ความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอตัวหนักหรือเข้าสู่ภาวะถดถอยจากการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของบรรดาธนาคารกลาง รวมถึงผลของการเข้าไปรักษาเสถียรภาพในตลาดบอนด์ของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ได้หนุนให้ผู้เล่นในตลาดกลับเข้ามาซื้อบอนด์ระยะยาวในจังหวะย่อตัว (หรือในจังหวะที่บอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้น) ส่งผลให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลดลงหลังจากแตะระดับ 3.86% สู่ระดับ 3.78% สอดคล้องมุมมองของเราที่คาดว่า ผู้เล่นบางส่วนจะทยอยเข้ามาซื้อพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว หลังบอนด์ยีลด์ 10 ปี มีการปรับตัวสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา
ทั้งนี้ เรามองว่า บอนด์ยีลด์ระยะยาวอาจยังไม่ถึงจุดกลับตัวเป็นขาลงที่ชัดเจน จนกว่าผู้เล่นในตลาดจะคลายกังวลแนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงของเฟด ซึ่งอาจต้องจับตารายงานข้อมูลเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ในช่วงกลางเดือนตุลาคม และรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ในช่วงปลายปี
ในฝั่งตลาดค่าเงิน แม้ว่า บรรยากาศในตลาดการเงินจะอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) ทว่า เงินดอลลาร์กลับอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) พลิกกลับมาปรับตัวลดลงต่อเนื่องสู่ระดับ 111.8 จุด (-1.3%) ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการปรับตัวลดลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ และแรงกดดันจากการแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องของเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) +2.7% สู่ระดับ 1.116 ดอลลาร์ต่อปอนด์ รวมถึงการแข็งค่าของเงินยูโร (EUR) ราว +1.3% สู่ระดับ 0.98 ดอลลาร์ต่อยูโร
อนึ่ง การปรับตัวลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้หนุนให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) สามารถปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง +1.0% สู่ระดับ 1,672 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทำให้อาจเริ่มมีแรงขายทำกำไรการรีบาวด์ออกมาบ้าง ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรดังกล่าวก็มีส่วนที่จะช่วยหนุนการแข็งค่าของเงินบาทได้
สำหรับวันนี้ ในส่วนรายงานข้อมูลเศรษฐกิจ ตลาดจะรอติดตามรายงานเงินเฟ้อ PCE ของสหรัฐฯ โดยตลาดคาดว่า เงินเฟ้อทั่วไป PCE ในเดือนสิงหาคม อาจชะลอลงสู่ระดับ 6.0% จาก 6.3% ในเดือนก่อนหน้า ตามการปรับลดลงของราคาสินค้าพลังงาน ทว่า เงินเฟ้อพื้นฐาน Core PCE ซึ่งไม่รวมราคาอาหารสดและพลังงาน อาจเร่งขึ้นสู่ระดับ 4.7% ทำให้เฟดยังคงจำเป็นต้องเดินหน้าเร่งขึ้นดอกเบี้ย เพื่อคุมปัญหาเงินเฟ้อ ซึ่งอาจจะสอดคล้องกับถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดในวันนี้เช่นกัน
ส่วนในฝั่งยุโรป ตลาดคาดว่า เงินเฟ้อทั่วไป CPI ของยูโรโซน ในเดือนกันยายน อาจพุ่งขึ้นแตะระดับ 9.7% ตามการปรับตัวขึ้นของราคาอาหารและพลังงานเป็นหลัก ซึ่งระดับเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับสูงมาก จะยิ่งหนุนโอกาสที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) อาจเร่งขึ้นดอกเบี้ย +0.75% สู่ระดับ 1.50% ในการประชุมเดือนตุลาคม เพื่อคุมปัญหาเงินเฟ้อ
และในฝั่งเอเชีย ตลาดประเมินว่า โมเมนตัมการฟื้นตัวเศรษฐกิจยังไม่ดีขึ้นชัดเจน เนื่องจากภาคการบริการยังคงเผชิญแรงกดดันจากมาตรการ Lockdown ในหลายพื้นที่ โดยดัชนี PMI ภาคการบริการ อาจชะลอลงสู่ระดับ 52.3 จุด อย่างไรก็ดี อานิสงส์ของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการแก้ปัญหาขาดแคลนพลังงานไฟฟ้าของรัฐบาล อาจช่วยหนุนให้ภาคการผลิตของจีนพลิกกลับมาขยายตัวได้ในเดือนกันยายน โดยดัชนี PMI ภาคการผลิตอาจปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 50.1 จุด
ทั้งนี้ ในส่วนนโยบายการเงิน ตลาดคาดว่า ธนาคารกลางอินเดีย (RBI) จะเร่งขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.50% สู่ระดับ 5.90% เพื่อคุมปัญหาเงินเฟ้อ และลดแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าต่อเงินรูปี (INR) ที่อาจสร้างปัญหาเงินเฟ้อต่อเนื่อง หาก INR อ่อนค่าทะลุระดับ 80 รูปีต่อดอลลาร์ ไปมาก
สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เราประเมินว่า เงินบาทยังคงมีโอกาสผันผวนในฝั่งอ่อนค่าได้ ท่ามกลางภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน อย่างไรก็ดี การอ่อนค่าของเงินบาทอาจถูกชะลอลงได้บ้าง หากราคาทองคำยังสามารถปรับตัวขึ้นต่อเนื่องได้ นอกจากนี้ การปรับตัวแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วของเงินหยวนจีน (CNY) หลังทางการจีนส่งสัญญาณพร้อมเข้าดูแลไม่ให้เงินหยวนผันผวนและอ่อนค่ารุนแรงต่อเนื่อง ก็อาจเป็นอีกปัจจัยที่ช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทในระยะนี้ ซึ่งต้องรอลุ้นให้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจจีนไม่ได้แย่ไปกว่าคาดมากด้วย ทำให้เราคงมองแนวต้านของเงินบาทอาจอยู่ในโซน 38.20-38.30 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงนี้
อนึ่งหลังจากที่เงินบาทได้อ่อนค่าทะลุระดับ 38 บาทต่อดอลลาร์ ทำให้ผู้นำเข้าส่วนใหญ่ต่างรอจังหวะการย่อตัวของเงินบาทในการเข้าซื้อเงินดอลลาร์ ซึ่งจะทำให้แนวรับของเงินบาทอาจอยู่ในโซน 37.80-37.90 บาทต่อดอลลาร์
ทั้งนี้ ในช่วงที่ตลาดการเงินผันผวนสูงจากความไม่แน่นอนของหลายปัจจัย เราคงแนะนำให้ผู้ประกอบการควรใช้กลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้ Options ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงได้ดีในช่วงที่ตลาดผันผวนหนัก
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 37.85-38.15 บาท/ดอลลาร์