สสว. ร่วมกับสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม จัดกิจกรรมพัฒนาเครือข่ายสับปะรดและเครือข่ายกระเทียม ภายใต้โครงการสนับสนุนเครือข่าย SME ปี 2562 รวมกลุ่มได้แล้ว 5 เครือข่าย มีสมาชิกราว 700 ราย เน้นส่งเสริมการใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรม ช่วยพัฒนาคุณภาพการผลิต การแปรรูป การเก็บรักษา และสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์ คาดช่วยลดต้นทุนการดำเนินธุรกิจ และเกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 30 ล้านบาท
นางนิตยา พิระภัทรุ่งสุริยา รองผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่าสถาบันอาหารได้รับมอบหมายจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.) ให้ดำเนินกิจกรรมพัฒนาเครือข่ายสับปะรดและเครือข่ายกระเทียม ภายใต้โครงการสนับสนุนเครือข่าย SME ปี 2562 เน้นกระตุ้นและสร้างความเชื่อมโยงระหว่างผู้ประกอบการตั้งแต่ระดับต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ให้เป็นเครือข่ายที่เข้มแข็ง ยกระดับผลิตภัณฑ์ให้มีมูลค่าสูง โดยมุ่งสนับสนุนการนำเทคโนโลยี นวัตกรรม และผลงานวิจัยมาพัฒนาต่อยอด ทั้งกระบวนการผลิต คุณภาพมาตรฐาน และระบบการบริหารจัดการ รวมไปถึงการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้มีความสร้างสรรค์ และพัฒนาผู้ประกอบการในเครือข่ายให้มีศักยภาพในการแข่งขัน เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดในเชิงพาณิชย์ ส่งเสริมการตลาดในเชิงรุกผ่านการจัดกิจกรรมต่างๆ เช่น เข้าร่วมแสดงสินค้าและเจรจาธุรกิจในงานแสดงสินค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อสร้างการรับรู้ถึงผลิตภัณฑ์ของไทย ขยายช่องทางการตลาดใหม่ๆ ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ เป็นต้น
กิจกรรมพัฒนาเครือข่ายครั้งนี้ ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือนมีนาคม ที่ผ่านมา โดยได้จัดประชุมร่วมกับภาคีเครือข่ายหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมสับปะรดและกระเทียมในจังหวัดเป้าหมาย อาทิ สภาเกษตรจังหวัด สำนักงานเกษตรจังหวัด สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด สำนักงานพาณิชย์จังหวัด และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด เป็นต้น เพื่อชี้แจงแนวทางการรวมกลุ่มและการพัฒนาเครือข่าย พร้อมรับฟังข้อคิดเห็นต่างๆ โดยได้รับความร่วมจากทุกภาคส่วนเป็นอย่างดี
“ทั้งนี้ได้ดำเนินการรวบรวมสมาชิกเครือข่ายกลุ่มอุตสาหกรรมสับปะรดและเครือข่ายกระเทียมเรียบร้อยแล้วรวมประมาณ 700 ราย โดยมีทั้งหมด 5 เครือข่าย ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดประชุมรวมกลุ่มแต่ละเครือข่ายเพื่อทำแผนพัฒนาเครือข่าย แบ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมสับปะรด 4 เครือข่าย ตามพื้นที่ผู้ประกอบการ ได้แก่ 1)จังหวัด ชลบุรี ระยอง และตราด 2)จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 3) จังหวัดพิษณุโลก อุตรดิตถ์ และอุทัยธานี และ 4)จังหวัดราชบุรี เพชรบุรี และกาญจนบุรี มีผู้ประกอบการเข้าร่วมรวมประมาณ 550 ราย ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมกระเทียมจำนวน 1 เครือข่าย ได้แก่ ผู้ประกอบการจากจังหวัดเชียงใหม่ ประมาณ 150 ราย ทั้งยังได้คัดเลือกผู้นำเครือข่ายหรือผู้ประสานงานเครือข่าย (Cluster Development Agent-CDA) จากกลุ่มต่างๆ รวมจำนวน 15 ราย ตั้งเป้าหลังเสร็จสิ้นโครงการฯ ภายในเดือนกันยายน นี้ จะสามารถลดต้นทุนในการดำเนินธุรกิจ หรือมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้ไม่น้อยกว่า 30 ล้านบาท”
นางนิตยา กล่าวต่อว่า ในปี 2562 นี้ ประเมินว่ามีเนื้อที่เก็บเกี่ยวสับปะรดรวมทั้งประเทศราว 5.4 แสนไร่ ลดลงจากปีที่ผ่านมาราว 1.8 หมื่นไร่ เนื่องจากเกษตรกรปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นแทน ส่งผลให้ผลผลิตรวมทั้งประเทศมีประมาณ 2.2 ล้านตัน ลดลงจากปีที่ผ่านมา 9.5 หมื่นตัน คาดว่าราคาจะมีแนวโน้มดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา ทั้งนี้การส่งออกสับปะรดปี 2561 มีมูลค่าราว 1.9 หมื่นล้านบาท ประมาณการว่าในปี 2562 มีแนวโน้มเติบโตขึ้นร้อยละ 12 หรือราว 2.2 หมื่นล้านบาท สัดส่วนการส่งออกเกือบทั้งหมดเป็นสับปะรดแปรรูป โดยอยู่ในรูปสับปะรดกระป๋องราวร้อยละ 70 ในรูปน้ำสับปะรดเข้มข้นร้อยละ 19.5 สับปะรดแห้ง/กวนร้อยละ 10 และสับปะรดสด/แช่แข็ง ร้อยละ 0.5
โดยโครงการฯ จะเข้าไปให้สนับสนุนองค์ความรู้เรื่องการจัดการระบบคุณภาพการผลิต เช่น GAP (Good Agricultural Practice)เพื่อให้ผลผลิตได้มาตรฐานการส่งเข้าโรงงานอุตสาหกรรม การแปรรูปผลิตภัณฑ์เพื่อลดการสูญเสียในกรณีเกิดสินค้าตกเกรดและเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ รวมถึงส่งเสริมความรู้ด้านการพัฒนาพันธุ์สับปะรด การเพาะปลูกเพื่อลดต้นทุนการผลิต การหาช่องทางตลาดใหม่ๆ และการประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภคหันมารับประทานสับปะรด และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากสับปะรดมากขึ้น
สำหรับอุตสาหกรรมกระเทียมนั้น ในปี 2562 นี้คาดว่าจะมีผลผลิตประมาณ 85,000 ตัน บางส่วนเกษตรกรจะขายเป็นกระเทียมสด และบางส่วนเก็บแขวนไว้รอจำหน่ายเมื่อได้ราคาดี ซึ่งมีความไม่แน่นอนค่อนข้างมาก ทางโครงการฯ จึงได้นำผู้ผลิตหรือแปรรูป(กลางน้ำ) และผู้จัดจำหน่าย(ปลายน้ำ) เข้าร่วมเป็นเครือข่ายเดียวกับเกษตรกรผู้ปลูก(ต้นน้ำ) เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์สร้างเพิ่มมูลค่าในรูปแบบต่างๆ และพัฒนาช่องทางการตลาดที่เหมาะสมได้อย่างยั่งยืนต่อไป
“หลังจากนี้จะได้ดำเนินการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่เครือข่าย โดยจัดอบรมและพัฒนาศักยภาพเชิงลึกให้แก่สมาชิกเครือข่าย และผู้นำเครือข่าย ด้านการพัฒนากระบวนการผลิต และการบริหารจัดการ โดยนำนวัตกรรม หรือเทคโนโลยีมาสนับสนุน เพื่อยกระดับศักยภาพการผลิต ลดต้นทุนการผลิต ปรับปรุงกระบวนการเพาะปลูกเพื่อให้ได้ผลผลิตมากขึ้น หรือปรับปรุงกระบวนการแปรรูปเพื่อให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและสามารถจัดจำหน่ายได้ รวมทั้งการจัดทำมาตรฐานการผลิตเพื่อส่งออก และมาตรฐานรสชาติอาหาร เป็นต้น” นางนิตยา กล่าว