วงเสวนาก้าวต่อไปของ โครงการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ มีสิทธิทุกที่ หรือ UCEP สพฉ.เผย UCEP ปิดจุดอ่อนระบบการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินของไทย กทม.มีผู้ใช้สิทธิมากที่สุด ขณะที่รัฐ-เอกชน เห็นพ้อง ปฏิรูปกฎหมาย-เซ็ทซีโร่ราคาเบิกจ่ายผู้ป่วยฉุกเฉินให้เหมาะสม เร่งเคลียร์ปม รักษาข้ามจังหวัด-คิดค่ารักษาเกินจริง พร้อมเพิ่มการมีส่วนร่วมทุกฝ่ายร่วมเดินหน้าอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน
เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม ที่โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการ (สพฉ.) นพ.สัญชัย ชาสมบัติ รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ(สพฉ.) กล่าวในการเสวนา เรื่อง “ก้าวต่อไปของ UCEP” ภายในงานจัดการประชุมวิชาการการแพทย์ฉุกเฉินระดับชาติ ประจำปี 2562 ภายใต้หัวข้อ “มุ่งสู่ยุคใหม่การแพทย์ฉุกเฉินไทย” ที่จัดขึ้นโดยสพฉ. ถึงสถานการณ์การดำเนินงานในโครงการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่ และปัญหาที่พบว่า จำนวนผู้ป่วยฉุกเฉินทั้งหมดในระบบ มีจำนวน2.8 แสนราย เข้าเกณฑ์ UCEP 4.3 หมื่นราย คิดเป็นร้อยละ 15 ของจำนวนผู้ป่วยฉุกเฉินทั้งหมด โดยมีสถิติของการเข้าถึง พบว่ากรุงเทพมหานคร เป็นจังหวัดที่มีผู้ใช้บริการมากที่สุด ขณะที่มี 10 จังหวัดไม่เคยมีคนไข้ใช้สิทธิ UCEP เลยแม้แต่รายเดียว
นพ.สัญชัย ระบุว่า การที่จะเข้าเกณฑ์หรือไม่นั้นต้องพิจารณาอาการต่างๆ ทางการแพทย์ เช่น หายใจลำบาก เจ็บแน่น หน้าอก หัวใจหยุดเต้น หรือไม่ สิ่งเหล่านี้จึงเป็นที่มาของการไม่เข้าใจระหว่างรพ.กับผู้ป่วยหรือญาติในการตีความการเจ็บป่วย อย่างไรก็ตามการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่นั้น ยังคงมีคำถามอยู่ว่า เข้ารับบริการได้ทุกที่จริงหรือไม่ เพราะเคยเกิดกรณีที่ญาติพาผู้ป่วยจากจังหวัดฉะเชิงเทรา มาใช้สิทธิเจ็บป่วยฉุกเฉินที่กทม. การรักษาเจ็บป่วยฉุกเฉินโดยขอใช้สิทธิ UCEP ข้ามเขตเช่นนี้เป็นอันตรายแก่ผู้ป่วยเอง ทำได้หรือไม่ ซึ่งเห็นว่าการใช้สิทธิต้องใช้โดยสุจริตด้วย
“โครงการนี้เป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จ และมีประโยชน์กับประชาชน แต่จะให้ยั่งยืน ต้องเป็นธรรมต่อทุกคน สิ่งที่เราเห็นคือ70 เปอร์เซ็นต์ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น ซึ่งถ้าไม่ได้รับการรักษาทันท่วงทีกลุ่มนี้จะเสียชีวิต สำหรับงบประมาณที่โรงพยาบาลเอกชนเรียกเก็บนั้น ตั้งแต่เปิดโครงการ จนถึงปัจจุบัน รพ.เอกชน เรียกเก็บ 2.2 พันล้านบาท ยังมีคำถามว่าอัตราชดเชยที่รัฐจ่ายให้เพียงพอหรือไม่ รพ.เอกชนตั้งราคาการรักษาสูงเกินจริงหรือไม่ และหลังจากเข้าโครงการนี้ รพ.เอกชนขาดทุนในส่วนนี้จริงหรือไม่ ซึ่งเมื่อดูจากรายได้ที่รพ.เอกชนแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แล้วยังมีรายละเอียดที่ต้องศึกษาต่อไป” รองเลขาสพฉ.กล่าว
ด้านทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า โครงการนี้ประชาชนได้ประโยชน์สูงมาก แต่ประเด็นสำคัญคือจะดำเนินการอย่างไรให้ยั่งยืนและไม่สร้างรอยร้าวให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น ผู้ออกนโยบาย ประชาชน และผู้ประกอบการได้อย่างไร ทั้งนี้กระทรวงสาธารณสุข ดูแลกฎหมายสถานพยาบาล และดูแลรพ.อยู่ 380 แห่ง และคลินิก ภาคเอกชนอีก 2.6 หมื่นแห่ง โดยหลังจากที่มีการแก้พ.ร.บ.สถานพยาบาล ทำให้โครงการ UCEP ขับเคลื่อนต่อไปได้ ซึ่งตั้งแต่วันเริ่มโครงการเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2560 ทุกภาคส่วนให้ความร่วมมือกัน
“กว่าที่จะเกิดเป็นกฎหมายใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 5-6 ปี จากนั้นก็พูดว่าควรจะมีการรีวิวทุกๆ 3 ปี และควรมีการปรับรายการให้ทันสมัยทุก 6 เดือน วันนี้จึงมีรายการยาและเวชภัณฑ์การรักษากว่า 3 พันรายการ มีการวิเคราะห์เรื่องของ อัตราค่าบริการแต่ละรายการให้สอดคล้องกับความเป็นจริงอย่างไร ซึ่งได้มีการพูดคุยกับเอกชน เพื่อกำหนดอัตราที่เหมาะสม พร้อมตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมา 2 ชุด คือ ชุดพิจารณาปรับเปลี่ยนข้อกฎหมาย และชุดพิจารณาปรับเปลี่ยนอัตราค่าบริการให้มีความเหมาะสม” ทพ.อาคมกล่าว
ทพ.อาคม กล่าวว่า ที่ผ่านมามีเรื่องร้องเรียนมายัง สพฉ. จำนวน 300 เรื่อง ทั้งจากผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์และ์์ไม่เข้าเกณฑ์ ทั้งนี้โครงการนี้เป็นประโยชน์กับประชาชน แต่มีประชาชนหลายส่วนที่ถูกริดรอดและถูกตัดออกไป เช่น กองทุนเล็กๆ เกือบร้อยกองทุน ที่ไม่มีกฎหมายรองรับ แต่จะมีการพูดคุยกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และกองทุนหลัก 3 กองทุน ในการจัดการเชิงระบบใหม่ ว่าเป็นไปได้หรือไม่ ที่จะนำเอาเงินของกองทุนเล็กๆเหล่านี้ มารวมกับกองทุนหลักและทำระบบทำสปสช.พลัส โดยหากทำได้ก็จะนำสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี และขับเคลื่อนต่อไป นอกจากนี้ยังจะเดินหน้าเรื่องกำหนดค่าใช้จ่ายให้เหมาะสมด้วย เพราะที่ผ่านมาประสบปัญหาการเบิกจ่าย การวินิจฉัยต่างๆ อะไรคือจุดสิ้นสุดของการวินิจฉัยว่าจะเข้าเกณฑ์หรือไม่ เช่น การให้บริการผู้ป่วยข้ามเขตเข้าเกณฑ์หรือไม่ ที่ต้องมีพูดคุยกันต่อไปตรงนี้ และต้องมีการปรับปรุงกับกฏหมายทั้งหมด รวมถึงเซ็ตซีโร่เรื่องราคา ซึ่งก็คือการปฏิรูปยกล็อตใหม่ในรอบ 3 ปี ที่ได้ดำเนินโครงการมา
ขณะที่รศ.นพ.เฉลิม หาญพานิช นายกสมาคมรพ.เอกชน กล่าวว่า ในส่วนของภาคเอกชนเองยินดีให้ความร่วมมือ และให้การช่วยเหลือ แต่ขอให้พิจารณาเรื่องของการมีส่วนร่วมให้ชัดเจน ซึ่งประชาชนจะได้ประโยชน์สูงสุด มั่นใจว่าหากมีการเซ็ทซีโร่ใหม่ทั้งหมดน่าจะเป็นผลดีอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตามในกลุ่มของรพ.เอกชน เคยมีการพูดคุยกันถึงขนาดที่ว่าให้แยกกองทุนการบริการไปเลยหรือไม่ ยืนยันผู้บริหารยินดีที่จะให้ความร่วมมือ และมั่นใจว่าการปรับปรุงที่จะเกิดขึ้นจะสะท้อนให้ทุกคนมีความสุข โดยเฉพาะผู้บริโภค
ด้านนางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า มองว่าไม่ควรตั้งโจทย์แบบนี้ว่าจะหยุดหรือก้าวต่อไป แต่ควรจะไปข้างหน้าว่าทำอย่างไรโครงการดังกล่าวถึงจะเป็นมิตรกับทุกฝ่าย ที่น่าสนใจมาก คือ มีคนที่ไม่เข้าเกณฑ์เจ็บป่วยฉุกเฉิน ถึง 84 เปอร์เซ็นต์ หรือ กว่า 2 แสนคน ดังนั้นหมายความว่าประชาชนยังไม่เข้าใจว่าฉุกเฉินกับไม่ฉุกเฉินแตกต่างอย่างไร ถือเป็นภารกิจใหญ่ที่จะทำให้ประชาชนเข้าใจ สำหรับเรื่องร้องเรียนที่องค์กรผู้บริโภคได้รับส่วนใหญ่คือตีความของรพ.ว่าฉุกเฉินหรือไม่ เช่น เคยเกิดกรณีที่มีคนไข้ปวดหัวมาก ไปรพ.รัฐใกล้บ้าน ทางรพ.ให้กลับบ้านจนถึงตี 2 ก็ไม่หายปวดหัวจึงไปรพ.ใหม่ รพ.นั้นก็ให้รับตัวไว้ในรพ. แต่ผู้ป่วยบอกกับลูกว่าถ้าอยู่ที่นี่ต้องตายแน่ ลูกจึงพาไปที่รพ.อีกแห่งหนึ่ง รพ.ทำ CT สแกนพบเส้นเลือดในสมองแตก 2 เส้น คนไข้ถูกส่งตัวไปที่รพ.ที่สี่ ถามว่าเหตุการณ์เช่นนี้สามารถเบิกUCEP ได้หรือไม่ ค่าใช้จ่าย 8 แสนบาท
“เราตีความฉุกเฉินถึงแม้จะไปได้ทุกที่ แต่เราสนใจคนไข้น้อยไปหรือไม่ เราสนใจประเด็นการตัดสินใจของผู้ป่วยน้อยไปหรือไม่ การตีความของคำว่าเจ็บป่วยฉุกเฉินต่างจากในอดีตของสปสช.มาก เพราะของเดิมเขียนชัดให้ฟังความคิดเห็นของคนไข้ด้วย แต่UCEP มีกติกาให้ทุกรพ.ให้บริการ โดยเฉพาะเอกชน และมีความผิดถ้าไม่ให้บริการ ทำให้เห็นชัดว่าระบบเดิม เป็นมิตรกับคนไข้มากว่า จึงอยากเห็นการแพทย์ฉุกเฉินที่ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของคนของคนไข้กับญาติมากขึ้นเพื่อลดข้อขัดแย้ง” เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคระบุ
นางสาวสารี กล่าวว่า เห็นว่าควรจะมีการพูดคุยกับรพ.เอกชนด้วย ว่าหากผู้ป่วยวิกฤตฉุกเฉินอยู่ครบ 72 ชั่วโมงแล้ว และไม่สามารถหาเตียงที่รพ.ที่มีสิทธิได้ สามารถเบิกจาก 3 กองทุนได้หรือไม่ รวมถึงการส่งต่อผู้ป่วยจากรพ.ที่เข้ารักษาเจ็บป่วยฉุกเฉิน ไปยังรพ.ที่มีสิทธิได้อย่างราบรื่นอย่างไร นอกจากนี้เห็นว่าควรเพิ่มตัวแทนขององค์กรบริผู้บริโภคอย่างแท้จริงเข้ามามีส่วนรวมให้มากขึ้น โดยไม่ต้องรอให้รัฐมนตรีสั่งการ แต่ควรจะอยู่ในหัวจิต หัวใจของคนทำงาน ซึ่งบางเรื่องกระทรวงสาธารณสุขมีก้าวหน้ามาก แต่บางเรื่องยังเหมือนแดนสนธยาที่เข้าไม่ถึงอยู่ ซึ่งการมีส่วนร่วมทางตรงจะทำให้เกิดความโปร่งใสในแง่ของการจัดการ
ศ.นพ.ไพบูลย์ สุริยะวงศ์ไพศาล คณะแพทย์ศาสตร์ รามาธิบดี กล่าวว่า เห็นด้วยกับการมีส่วนร่วมให้มากขึ้น เหมือนอย่างในสหรัฐ สถาบันมะเร็งแห่งชาติของสหรัฐ เกิดขึ้นได้และได้รับความร่วมมือเพราะการมีส่วนร่วมของคนที่เกี่ยวข้อง แต่ที่สำคัญคือต้องพิจารณาว่า การมีส่วนร่วมจะให้ใครเข้าไปร่วมบ้าง กลไกการมีส่วนร่วมให้โอกาสทุกคนเท่าเทียมกัน หรือไม่ มีตัวเลือกของความรู้หรือไม่ ถ้าไม่มีปัจจัยเหล่านี้จะพัฒนาคุณภาพได้ยาก เพราะกลไกของรพ.เอกชนและกลไกของรพ.รัฐต่างกันมาก ทำให้การตอบสนองต่างกัน เช่น รพ.เอกชนไม่เคยถูกกล่าวหาว่าเป็นโรงฆ่าสัตว์ แต่รพ.เอกชนจำนวนไม่น้อยก็ไม่พ้นข้อกล่าวหาว่าหน้าเลือด ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นความจริงในอดีต และจริงบ้างในปัจจุบัน แต่วันนี้ภาพเหล่านี้จางลงไป เพราะสิ่งที่ให้เราเห็นว่าก้าวมาไกลมาพอสมควร คือการมีสพฉ. และยิ่งมีโครงการ UCEP ก็ยิ่งปิดช่องว่างในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์มากขึ้น
///////////////////////////