นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด อาทิ James Bullard ที่ยังคงสนับสนุนการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟด จนกว่าเฟดจะสามารถคุมปัญหาเงินเฟ้อได้สำเร็จ แม้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจชะลอตัวลงชัดเจนและเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) ยังคงเป็นปัจจัยหลักที่กดดันให้ผู้เล่นในตลาดเดินหน้าเทขายสินทรัพย์เสี่ยง
สอดคล้องกับมุมมองของบรรดานักลงทุนสถาบันรายใหญ่ที่ต่างให้ความเห็นว่า ควรหลีกเลี่ยงการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงอย่างหุ้นและยังคงไม่แนะนำให้ผู้เล่นในตลาดเข้าซื้อหุ้นสหรัฐฯ ในจังหวะย่อตัว (Buy on Dip) ซึ่งภาพดังกล่าวได้ส่งผลให้ ในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ดัชนี S&P500 เคลื่อนไหวผันผวน ก่อนที่จะปรับตัวลดลง -0.21% อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังพอได้แรงหนุนจากการรีบาวด์ขึ้นของหุ้นเทคฯ ใหญ่ที่ปรับตัวลงแรงในช่วงที่ผ่านมา อาทิ Tesla +2.5%, Nvidia +1.5%, Apple +0.7%
ทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ของยุโรป ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง -0.13% โดยปัจจัยหลักที่กดดันตลาดหุ้นยุโรปยังคงเป็นความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงหนัก จากการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของบรรดาธนาคารกลาง รวมถึงความกังวลปัญหาการเมืองยุโรป หลังพรรคขวาจัดของอิตาลีคว้าชัยการเลือกตั้งทั่วไปของอิตาลี และรายงานข้อมูลเศรษฐกิจในฝั่งยุโรปที่ออกมาแย่กว่าคาดอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา โดยแรงขายหุ้นยุโรปนั้นกระจุกตัวในหุ้นกลุ่มธนาคารและการเงิน อาทิ Intesa Sanpaolo -2.3%, Santander -1.6%
อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นยุโรป ยังพอได้แรงหนุนจากการรีบาวด์ขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงาน ตามการปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันดิบบ้าง (Equinor +2.4%, TotalEnergies +1.7%) ขณะเดียวกันหุ้นเทคฯ ที่เผชิญแรงขายหนักหน่วงก็รีบาวด์ขึ้นได้ (Adyen +1.6%, ASML +0.6%)
ส่วนทางด้านตลาดบอนด์ ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดที่ตอกย้ำความจำเป็นของการเร่งขึ้นดอกเบี้ยเพื่อคุมปัญหาเงินเฟ้อ และความผันผวนของตลาดบอนด์ในฝั่งยุโรปจากความกังวลปัญหางบประมาณของรัฐบาลอังกฤษ ยังคงเป็นปัจจัยที่หนุนให้บอนด์ยีลด์ระยะยาวปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง แม้ว่าบรรยากาศในตลาดการเงินจะอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง
โดยล่าสุด บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ที่ระดับ 3.95% และมีโอกาสปรับตัวขึ้นทดสอบระดับ 4.00% ได้ไม่ยาก อย่างไรก็ดี เราคงมุมมองเดิมว่า การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ระยะยาวจะยิ่งทำให้การกลับเข้ามาถือพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวมีความน่าสนใจมากขึ้น เนื่องจากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกในอนาคตอาจชะลอตัวลงหนักและเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอยได้ จากผลกระทบของการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของบรรดาธนาคารกลาง
ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ยังคงปรับตัวแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 114.15 จุด หนุนโดยความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยในจังหวะที่ตลาดปิดรับความเสี่ยง และท่าทีของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดที่ต่างสนับสนุนการเร่งขึ้นดอกเบี้ย
ทั้งนี้ การปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงกดดันให้ราคาทองคำเผชิญแรงขายหลังรีบาวด์ขึ้นใกล้ระดับ 1,650 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก่อนที่จะปรับตัวลดลงกลับสู่โซนแนวรับ 1,630 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งคาดว่าจะมีผู้เล่นบางส่วนทยอยเข้ามาซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวในโซนแนวรับ และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวจะเป็นปัจจัยที่กดดันเงินบาทฝั่งอ่อนค่าได้
สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญที่ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นและอาจส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินไทย คือ การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) โดยเราประเมินว่า ผู้เล่นในตลาดควรระวังความผันผวนของเงินบาทในช่วงตลาดรับรู้ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เนื่องจากเราคาดว่า กนง. อาจขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป +0.25% สู่ระดับ 1.00% เพื่อประคองการฟื้นตัวเศรษฐกิจ ทว่า อาจมีกรรมการ 1-2 ท่านที่อาจสนับสนุนการเร่งขึ้นดอกเบี้ยไม่น้อยกว่า +0.50% ด้วยเหตุผล เช่น เพื่อลดแรงกดดันต่อเงินบาทจากการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟด และเศรษฐกิจก็มีโมเมนตัมการฟื้นตัวที่ดีขึ้นต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาด โดยเฉพาะผู้เล่นต่างชาติ รวมถึง นักวิเคราะห์บางส่วนต่างคาดหวังให้ กนง. เร่งขึ้นดอกเบี้ย เพื่อลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาทจากผลกระทบของการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ทำให้เงินบาทอาจผันผวนในฝั่งอ่อนค่าได้ หาก กนง. ไม่ได้เร่งขึ้นดอกเบี้ยตามที่ตลาดคาดหวัง หรือ กนง. ไม่ได้ส่งสัญญาณชัดเจนถึงโอกาสที่จะเร่งขึ้นดอกเบี้ย เพื่อลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาท
นอกเหนือจากผลการประชุม กนง. ตลาดจะรอจับตา ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดโดยเฉพาะประธานเฟด Powell (รวมถึงบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด อย่าง Bostic, Bowman และ Daly) เพื่อประเมินมุมมองของเฟดต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและทิศทางดอกเบี้ยนโยบาย หลังบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดท่านอื่นๆ อาทิ Bullard ได้ออกมาสนับสนุนการเร่งขึ้นดอกเบี้ยจนกว่าจะคุมปัญหาเงินเฟ้อได้ในวันก่อนหน้า (ซึ่งเป็นปัจจัยที่กดดันให้ตลาดการเงินยังคงอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยงและผันผวนต่อเนื่อง)
สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เราประเมินว่า จุดกลับตัวของเงินดอลลาร์ยังคงไม่เกิดขึ้นในเร็ววันนี้ หากตลาดการเงินยังอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) ทำให้เงินบาทมีโอกาสผันผวนในฝั่งอ่อนค่าและอาจทดสอบโซนแนวต้าน 38.00 บาทต่อดอลลาร์ โดยเราประเมินว่า มีโอกาสที่ในวันนี้ เงินบาทอาจอ่อนค่าทะลุระดับ 38.00 บาทต่อดอลลาร์ ขึ้นไปทดสอบโซนแนวต้านถัดไปแถว 38.20 บาทต่อดอลลาร์ได้ หาก กนง. มีมติขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามที่เราคาด ในขณะที่ผู้เล่นในตลาดเริ่มคาดหวังให้ กนง. เร่งขึ้นดอกเบี้ยเพื่อลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาท
นอกจากนี้ แรงกดดันฝั่งอ่อนค่าของเงินบาท จากการขายสินทรัพย์ไทยของนักลงทุนต่างชาติอาจยังดำเนินต่อไปในช่วงนี้ หลังจากที่ดัชนี SET ได้ปรับตัวลดลงหลุดแนวรับสำคัญลงมา (จับตาโซนแนวรับที่ 1,600 จุด ว่าดัชนี SET จะสามารถรีบาวด์ขึ้นมาได้หรือไม่) ขณะเดียวกัน บอนด์ยีลด์ระยะยาวของไทยก็ปรับตัวสูงขึ้นตามทิศทางบอนด์ยีลด์ในตลาดโลก ซึ่งทำให้นักลงทุนต่างชาติเดินหน้าเทขายบอนด์ระยะยาวต่อเนื่องเป็นวันที่ 3 กว่า 8.4 พันล้านบาท
อย่างไรก็ดี เราประเมินว่า เงินบาทได้อ่อนค่าลงมาพอสมควร เมื่อพิจารณาจากดัชนีเงินบาทที่แท้จริง (REER) โดยปัจจุบัน Z-score ของดัชนีเงินบาท REER อยู่ที่ระดับ -1.77 จากข้อมูลในรอบกว่า 20 ปี ซึ่งปกติเงินบาทมักจะเริ่มแกว่งตัว sideways และพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นได้บ้าง เมื่อ Z-Score ใกล้ระดับ -2.0 ทำให้เราประเมินว่า หากค่าเงินบาทอ่อนค่าทะลุระดับ 38.00 บาทต่อดอลลาร์ ก็มีโอกาสที่จะเห็นเงินบาทอ่อนค่าต่อเนื่องไปถึงโซน 38.50-38.75 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งสอดคล้องกับเป้าขายทำกำไรของผู้เล่นต่างชาติ (เป้าขายทำกำไร 4%-5% จากจุด break out ที่ 37.00 บาทต่อดอลลาร์)
ทั้งนี้ ในช่วงที่ตลาดการเงินผันผวนสูงจากความไม่แน่นอนของหลายปัจจัย เราคงแนะนำให้ผู้ประกอบการควรใช้กลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้ Options ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงได้ดีในช่วงที่ตลาดผันผวนหนัก
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 37.90-38.20 บาท/ดอลลาร์