เอฟทีเอ ดันมูลค่าการค้าไทย-อินเดีย โตสวนกระแสวิกฤติการค้าโลก ‘กรมเจรจาฯ’ แนะผู้ประกอบการเร่งใช้ประโยชน์ กระตุ้นมูลค่าส่งออกไทย

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ติดตามสถิติการค้าระหว่างไทย-อินเดีย พบเอฟทีเอไทย-อินเดีย และเอฟทีเออาเซียน-อินเดีย ส่งผลบวก ดันมูลค่าการค้าและการส่งออกระหว่างกันขยายตัวต่อเนื่อง พร้อมเชียร์ผู้ประกอบการไทยเร่งใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอ ขยายการลงทุนและทำธุรกิจในอินเดีย

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า จากการติดตามสถิติการค้าระหว่างประเทศไทยกับประเทศคู่ค้า 18 ประเทศที่ไทยมีความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ได้แก่ อาเซียน จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เปรู ชิลี และอินเดีย พบว่าในภาวะที่การส่งออกไปประเทศคู่ค้าของไทยเริ่มชะลอตัว มูลค่าการค้าและการส่งออกไปอินเดียในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2562 (มกราคม-เมษายน) ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากเอฟทีเอที่ไทยกับอินเดียมีร่วมกัน 2 ฉบับ ได้แก่ 1) เอฟทีเอไทย-อินเดีย ซึ่งทั้งสองประเทศได้ยกเลิกการเก็บภาษีศุลกากรสินค้าระหว่างกันแล้ว 83 รายการ ตั้งแต่ปี 2549 เช่น เงาะ ลำไย มังคุด ทุเรียน อาหารทะเลกระป๋อง อัญมณีและเครื่องประดับ เม็ดพลาสติก เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิคส์ และชิ้นส่วนยานยนต์ เป็นต้น และ 2) เอฟทีเออาเซียน-อินเดีย ทั้งสองฝ่ายได้ลดภาษีศุลกากรสินค้ากว่า 4,145 รายการ เหลือร้อยละ 0 แล้ว เช่น เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์พลาสติก อัญมณีและเครื่องประดับ ชิ้นส่วนยานยนต์ ผลิตภัณฑ์อะลูมิเนียม เฟอร์นิเจอร์และส่วนประกอบ เครื่องสำอาง ผักและพืชประเภทถั่ว อาหารปรุงแต่ง และน้ำผลไม้ เป็นต้น ทำให้มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับอินเดียในช่วงมกราคม-เมษายน ที่ผ่านมา อยู่ที่ 4,277.9 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 4.9 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยไทยส่งออกไปอินเดียเป็นมูลค่ากว่า 2,650.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 2.4 ขณะที่ไทยนำเข้าจากอินเดียเป็นมูลค่า 1,627.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 9.4

­­สำหรับสินค้าส่งออกจากไทยที่มีการใช้สิทธิเอฟทีเอสูงเป็นอันดับต้นๆ ภายใต้เอฟทีเอไทย-อินเดีย เช่น เครื่องปรับอากาศ โพลิคาร์บอเนต ตู้เย็นที่มีตู้แช่แข็ง โพลิอะซีทัล และโพลิอีเทอร์อื่นๆ เป็นต้น และภายใต้เอฟทีเออาเซียน-อินเดีย เช่น -1- คลอโร-2, 3-อีพอกซิโพรเพน (อีพิคลอโรไดริน) ลวดทองแดงเจือ เครื่องรับสัญญาณโทรทัศน์ น้ำมันดิบ และส่วนประกอบและอุปกรณ์รถแทรกเตอร์ ขณะที่สินค้านำเข้ามาในไทยที่มีการใช้สิทธิเอฟทีเอสูงเป็นอันดับต้นๆ ภายใต้เอฟทีเอไทย-อินเดีย เช่น องุ่นสดหรือแห้ง เกลือ ผลไม้สด (กีวี สตรอเบอรี่ ลูกพลับ) เหล็กกล้า เครื่องอัดลม (สำหรับเครื่องปรับอากาศ) ที่นั่งและส่วนประกอบ และส่วนประกอบเครื่องยนต์ เป็นต้น และภายใต้   เอฟทีเออาเซียน-อินเดีย เช่น พริกแห้ง ด้ายฝ้าย ส่วนประกอบ/อุปกรณ์ยานยนต์ ยางนอกชนิดอัดลม ผ้าทอทำด้วยฝ้าย ยารักษาหรือป้องกันโรค และกระเบื้องปูพื้น เป็นต้น

“อินเดียถือเป็นตลาดขนาดใหญ่ มีขนาดเศรษฐกิจเป็นลำดับที่ 5 ของโลก มีประชากรกว่า 1,300 ล้านคน ขนาดพื้นที่กว่า 3.2 ล้านตารางกิโลเมตร ผู้ประกอบการไทยจึงไม่ควรมองข้ามโอกาสจากตลาดขนาดใหญ่อย่างอินเดีย และควรพยายามศึกษาและทำความเข้าใจการใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอ รวมทั้งขยายการลงทุนทำธุรกิจในประเทศอินเดียเพิ่มขึ้น” นางอรมน กล่าว

โดยผู้สนใจข้อมูลภาษีภายใต้เอฟทีเอ และกฎระเบียบทางการค้าของประเทศอินเดีย สามารถสืบค้นข้อมูลทาง www.dtn.go.th และ http://ftacenter.dtn.go.th หรือสอบถามได้ที่ FTA Center ชั้น 3 กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ Call Center โทร. 0 2507 7555 และทาง e-mail : ftacenter@dtn.go.th