นายวิรัช พิมพะนิตย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ร่วมกิจกรรม Kick off ทางม้าลายปลอดภัย วินัยดี “หยุด ก่อนทางม้าลาย”

นายวิรัช พิมพะนิตย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ร่วมกิจกรรม Kick off ทางม้าลายปลอดภัย วินัยดี “หยุด ก่อนทางม้าลาย” โดยมี พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเปิดกิจกรรมฯ

นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม นายทรงศักดิ์ สายเชื้อ ผู้ตรวจการแผ่นดิน นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะประธานคณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินและความปลอดภัยทางถนน นายสุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ผู้แทนภาคีเครือข่าย “ทางม้าลายปลอดภัย วินัยดี” หน่วยงานภาครัฐ และเอกชน เข้าร่วมกิจกรรมฯ ในวันที่ 21 กันยายน 2565 ณ ห้องประชุมรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการ กรุงเทพมหานคร

นายวิรัช พิมพะนิตย์ กล่าวว่า จากรายงานขององค์การอนามัยโลก ปี 2561 ประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนสูงเป็นอันดับ 9 ของโลก และเป็นอันดับ 1 ของเอเชีย ซึ่งข้อมูลสถิติการเกิดอุบัติเหตุจากการจราจรทางบกของกรมการขนส่งทางบก พบว่าในปีงบประมาณ 2564 มีรถที่เกิดอุบัติเหตุทั้งสิ้น 169,428 คัน โดยมีผู้เสียชีวิต 6,024 ราย และบาดเจ็บมากกว่า 58,885 ราย รถที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด คือ รถจักรยานยนต์ 33,350 คัน

กรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่ที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุด สำหรับสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุเกิดจากความผิดพลาดของบุคคลมากที่สุดถึง 54,794 ครั้ง รองลงมาเกิดจากสัญญาณไฟและป้ายบอกทาง 23,625 ครั้ง ซึ่งสาเหตุทั้งหมดเป็นโจทย์ใหญ่ที่กระทรวงคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องร่วมกันบูรณาการแก้ไขอย่างเร่งด่วนเพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรม

ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศต่าง ๆ ได้ใช้แนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goal : SDG) ซึ่งความปลอดภัยทางถนนถือเป็นองค์ประกอบหนึ่งของแนวทางการพัฒนาที่จะสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้นในประเทศต่าง ๆ ในเป้าหมายที่ 3.6 สหประชาชาติได้ตั้งเป้าการลดจำนวนผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บ เนื่องจากอุบัติเหตุจากการจราจรทางบกลงครึ่งหนึ่งภายในปี 2573 จากแนวคิด SDG นี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้เริ่มรณรงค์ “ทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน” เมื่อปี 2558 และได้ตั้งเป้าหมายความสำเร็จในปี 2573 โดยเน้นขับเคลื่อน 5 เสาหลัก ดังนี้

1. ด้านบริหารจัดการ เป้าหมายของกระทรวงคมนาคมในการพัฒนาระบบขนส่งระหว่างเมืองเพื่อรองรับการเดินทางของคน คือ การพัฒนารถไฟทางคู่ และรถไฟความเร็วสูงที่มีความสะดวกสบายเดินทางได้รวดเร็ว ราคาเหมาะสม และมีความปลอดภัยสูง เพื่อให้ประชาชนเปลี่ยนมาใช้แทนการเดินทางทางถนน ซึ่งจะทำให้จำนวนอุบัติเหตุบนท้องถนนลดจำนวนลง สำหรับการขนส่งสินค้า

กระทรวงคมนาคมได้วางภาพเป้าหมายการขนส่งสินค้าที่มีประสิทธิภาพ คือ การใช้รถบรรทุกในการขนส่งจากต้นทาง เฉพาะระยะสั้น เพื่อเข้าสู่ศูนย์รวบรวมสินค้าทางราง เช่น ศูนย์การเปลี่ยนถ่ายตู้สินค้า หลังจากนั้นทำการขนส่งสินค้าต่อโดยรถไฟในระยะทางไกลไปสู่เกทเวย์ของประเทศ เช่น ท่าเรือหรือศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้า และจะกระจายไปยังตลาดหรือร้านค้าปลายทาง โดยใช้รถบรรทุกเล็กในระยะสั้น ๆ ซึ่งจะทำให้ปริมาณรถบรรทุกใหญ่บนถนนทางหลวงน้อยลง นำมาซึ่งการลดจำนวนอุบัติเหตุ ผู้บาดเจ็บ และผู้เสียชีวิต

2. ด้านโครงสร้างถนนและสภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงคมนาคมโดยกรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท ได้ปรับปรุงกายภาพของถนนทางหลวงและท้องถิ่นให้มีมาตรฐาน iRAP Star Rating สามดาวเป็นอย่างน้อย เพื่อให้เกิดมาตรฐานความปลอดภัยทางถนน รวมทั้งมีมาตรการจัดการปัญหา “ความเร็ว” ที่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถนนในเขตเมืองและชุมชน ปรับปรุงจุดเสี่ยง เช่น ทางแยก ทางเชื่อม ทางโค้ง ให้เกิดความปลอดภัยเพิ่มขึ้น

หนึ่งในโครงการเพื่อเพิ่มความปลอดภัยบนท้องถนนที่ริเริ่มในปัจจุบันคือการติดตั้งคอนกรีตแบริเออร์บนถนนที่ใช้เกาะสีเป็นตัวแบ่งทิศทางจราจร โดยหุ้มแท่งคอนกรีตด้วยยางพารา (Rubber Fender Barrier : RFB) ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้ทดสอบในห้องปฏิบัติการในประเทศเกาหลีพบว่า การหุ้มแท่งคอนกรีตด้วยยางพาราสามารถลดแรงกระแทกจากการเฉี่ยวชนและลดการสูญเสียชีวิตได้

3. ด้านยานพาหนะ กระทรวงคมนาคมได้ใช้ พ.ร.บ. กำหนดมาตรฐานรถทุกประเภทที่มีอยู่บนถนนในประเทศไทย เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการขับขี่และการใช้งาน โดยมาตรฐานดังกล่าวเป็นไปตามหลักสากล รวมทั้งศึกษาแนวทางการเพิ่มความปลอดภัยในการเดินทางบนถนนให้เพิ่มมากขึ้น เช่น การออกประกาศให้ใช้เบรก ABS สำหรับรถจักรยานยนต์ และรถยนต์ โดยจะมีผลบังคับใช้ทางกฎหมายในปี 2567 กำหนดให้รถโดยสารสาธารณะทุกคัน และรถบรรทุกขนส่งสินค้าต้องติดตั้งระบบ GPS

4. ด้านผู้ใช้รถใช้ถนน เพิ่มมาตรการและติดตั้งอุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อบังคับให้ผู้ขับขี่ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด เช่น การเพิ่มระบบตรวจจับความเร็วด้วยกล้อง CCTV เพื่อควบคุมและกำกับตรวจสอบพฤติกรรมการขับรถให้เป็นไปตามกฎหมายวินัยจราจร การใช้ระบบตัดแต้มใบขับขี่และการอบรมเรื่องการขับขี่ที่ปลอดภัยบริเวณทางข้ามถนน และการติดตั้งจุดตรวจ เพื่อกำกับติดตามพฤติกรรมคนขับรถสาธารณะให้เกิดความปลอดภัย

5. ด้านมาตรการช่วยเหลือหลังเกิดเหตุ กระทรวงคมนาคมมีช่องทางประสานแจ้งหน่วยกู้ภัยเพื่อรับผู้ประสบอุบัติเหตุไปรักษาได้อย่างรวดเร็ว และมีมาตรการทำการสืบสวนอุบัติเหตุ และเสนอแนวทางปรับปรุงแก้ไขจุดเสี่ยง เพื่อให้เกิดความปลอดภัยทั้งระยะเร่งด่วนและระยะยาว

ทั้งนี้ การจัดการความปลอดภัยทางถนนต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย เพื่อบูรณาการทำงานร่วมกันสร้างระบบแห่งความปลอดภัยทางถนนให้เกิดขึ้นในประเทศไทย ภายใต้ทิศทางนโยบายของแผนแม่บทความปลอดภัยทางถนน ฉบับที่ 5 และทศวรรษที่สองแห่งความปลอดภัยทางถนนของสหประชาชาติ ที่ประเทศไทยต้องลดการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนให้ได้ครึ่งหนึ่งภายในปี 2573 โดยกระทรวงคมนาคมได้ดำเนินการผลักดัน ขับเคลื่อนอย่างจริงจังและต่อเนื่องเพื่อให้บรรลุเป้าหมายและเกิดความปลอดภัยในการเดินทางอย่างยั่งยืน