ก.ยุติธรรม ยก CPF เป็น “องค์กรต้นแบบด้านสิทธิมนุษยชน” ระดับดีเด่น ประจำปี 2565

(19 กันยายน 2565) กระทรวงยุติธรรม โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ มอบรางวัล “องค์กรต้นแบบด้านสิทธิมนุษยชน” ระดับดีเด่น ประจำปี 2565 (Human Rights Awards 2022) ประเภทองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ แก่บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ตอกย้ำองค์กรที่มีความโดดเด่นและเป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับภาคธุรกิจไทย ในการนำหลักการสิทธิมนุษยชนมาเป็นพื้นฐานในการดำเนินงานตลอดห่วงโซ่อุปทาน ส่งเสริมความเสมอภาคและยอมรับในความแตกต่างหลากหลาย พร้อมขยายผลต่อยอดไปยังองค์กรพันธมิตรธุรกิจและสังคม

โดยมีนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม มอบโล่รางวัล แก่นายวุฒิชัย สิทธิปรีดานันท์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน และนางสาวธิดารัตน์ เดชายนต์บัญชา รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านจัดซื้อพัสดุครุภัณฑ์ ซีพีเอฟ เป็นผู้แทนบริษัทฯ รับมอบโล่รางวัล ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น หลักสี่

นางสาวพิมลรัตน์ รีพัฒนาวิจิตรกุล ประธานผู้บริหาร ทรัพยากรบุคคล ซีพีเอฟ กล่าวว่า สิทธิมนุษยชน เป็นหนึ่งในความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนพัฒนาองค์กรสู่ความยั่งยืนของบริษัทฯ ภายใต้กลยุทธ์ CPF 2030 Sustainability in Action บริษัทฯ มีการดำเนินกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นระบบและเป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่อง โดยให้ความสำคัญกับการบริหารความแตกต่างและการยอมรับความหลากหลาย มีการปฏิบัติต่อบุคลากรและผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มอย่างเสมอภาคและเท่าเทียม ปราศจากการเลือกปฏิบัติ รวมทั้งถ่ายทอดและต่อยอดความรู้และประสบการณ์การดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนให้กับกลุ่มคู่ค้าธุรกิจและเกษตรกรในห่วงโซ่อุปทาน มีหลักปฏิบัติที่ดีต่อแรงงาน

โดยมีการตรวจประเมินสถานะด้านสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้านเพื่อนำมาพัฒนาปรับปรุงการดำเนินงานเพื่อลดความเสี่ยงการละเมิดสิทธิมนุษยชนและบรรเทาผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ซึ่งมีการทบทวนอย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังร่วมมือกับองค์กรภาคีเครือข่ายทั้งระดับประเทศและระดับสากลเพื่อร่วมส่งเสริมให้พนักงานทุกคนและผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในการยกระดับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนในอุตสาหกรรมอาหารและสังคมโดยรวม สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของบริษัทฯ

“การได้รับรางวัล “องค์กรต้นแบบด้านสิทธิมนุษยชนดีเด่น” ประจำปี 2565 สะท้อนถึงการเป็นแบบอย่างที่ดีให้องค์กรอื่นๆ ในการนำหลักสิทธิมนุษยชนมาบูรณาการการดำเนินธุรกิจตลอดห่วงโซ่คุณค่า ซึ่งเป็นไปตามหลักปรัชญา “3 ประโยชน์สู่ความยั่งยืน” ของบริษัทฯ และมีความโดดเด่นในการนำศักยภาพของบริษัทฯ ช่วยสร้าง “ความมั่นคงด้านอาหาร” ให้กับทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในภาวะวิกฤติ รวมทั้ง เคียงข้างองค์กรพันธมิตรธุรกิจให้สามารถเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนไปด้วยกัน” นางสาวพิมลรัตน์กล่าว

บริษัทฯ ได้ผนวกเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ (UN SDGs) เข้าเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ด้านงานทรัพยากรบุคคล โดยเฉพาะประเด็นความเท่าเทียม บริษัทฯ มีนโยบายและแนวทางปฏิบัติในการเสริมสร้างบรรยากาศในการทำงานและเคารพซึ่งกันและกัน การยอมรับความแตกต่าง ไม่เลือกปฏิบัติ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของพนักงาน และป้องกันไม่ให้เกิดการละเมิดและคุกคามในทุกรูปแบบ เช่น

บริษัทฯ ส่งเสริมสนับสนุนการมีส่วนร่วมของพนักงานทุกกลุ่มในการแสดงความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ เรื่องร้องเรียน ผ่านการเลือกตั้งคณะกรรมการสวัสดิการในสถานประกอบการครอบคลุมถึงกลุ่มเปราะบางในมิติทางเพศ สัญชาติ ศาสนา และความทุพพลภาพ สนับสนุนให้ทุกสถานประกอบการของบริษัทฯ จัดตั้งห้องนมแม่ การจัดตั้งชมรมพนักงาน LGBTQ+ เป็นต้น และยังขยายขอบเขตการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนให้ครอบคลุมไปถึงกลุ่มคู่ค้าธุรกิจและเกษตรกรในห่วงโซ่คุณค่าของบริษัทฯ อีกด้วย

นอกจากนี้ CPF ยังสานต่อร่วมมือกับมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (Labour Protection Network Foundation : LPN) ต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 เพื่อขับเคลื่อนการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนภายในองค์กร พนักงานทุกคนตระหนักและเข้าถึงสิทธิของตนอย่างเสมอภาค และดำเนินโครงการศูนย์รับฟังเสียงพนักงาน “Labour Voices Hotline by LPN” ต่อเนื่อง เพื่อสร้างความมั่นใจให้พนักงานทุกคนมีองค์กรที่เป็นกลางรับฟังเสียงจากพนักงาน ซึ่งนำไปสู่การสร้างเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงานทุกคน มุ่งสู่ชีวิตที่มีคุณภาพและเสถียรภาพในชุมชนและสังคมในภาพรวมสืบไป

นางสาวพิมลรัตน์ กล่าวเสริมว่า ในปีที่ผ่านมา ทั่วโลกเผชิญกับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 บริษัทฯ สร้างความเชื่อมั่นกับพนักงานทุกคนโดยมีนโยบายไม่เลิกจ้างเหตุจากโควิด-19 รวมทั้งดูแลให้พนักงานทุกคนปลอดภัยและเข้าถึงวัคซีนอย่างทั่วถึงทั้งพนักงานคนไทยและต่างชาติ พร้อมทั้งได้นำความเชี่ยวชาญดำเนินโครงการต่างๆ ช่วยสร้างความมั่นคงด้านอาหารให้กับสังคมและดูแลกลุ่มผู้มีส่วนได้เสีย ผ่านการดำเนินโครงการต่างๆ อาทิ โครงการ “CPF ส่งอาหารจากใจ ร่วมต้านภัยโควิด-19” เพื่อส่งมอบอาหารให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ และประชาชนทั่วไป รวมถึงกลุ่มคนเปราะบาง คนพิการ แรงงานข้ามชาติ และผนึกพลังกับเครือเจริญโภคภัณฑ์ ดำเนินโครงการ “ครัวปันอิ่ม” เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านค้าอาหารรายย่อย และดูแลประชาชนกลุ่มเปราะบางให้ได้เข้าถึงอาหารอย่างเพียงพอในราคาที่เข้าถึงได้

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังดำเนินโครงการ “Faster Payment” เพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องทางการเงินให้กับกลุ่มคู่ค้าธุรกิจ SME กว่า 6,500 ราย ให้สามารถรักษากิจการและลูกจ้างก้าวผ่านภาวะวิกฤติไปได้ และในปี 2565 นี้ บริษัทฯ ยังขยายผลดำเนินโครงการ “CPF x BBL เสริมสร้างสภาพคล่อง เคียงข้างคู่ค้า” สนับสนุนคู่ค้าธุรกิจรวมถึงกลุ่ม SME กว่า 10,000 ราย ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ เพื่อช่วยลดต้นทุนการดำเนินงาน สนับสนุนและเสริมโอกาสให้คู่ค้าธุรกิจเติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน.