สสว. เปิดทางด่วนผู้ประกอบรายย่อย  หนุนใช้เทคโนโลยีดิจิทัลบุกตลาดโลกตั้งแต่เริ่มธุรกิจ

นายสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง Global Digitalization Model for Micro Enterprises ว่า ในโอกาสที่ประเทศไทยจะเป็นประธานอาเซียนในปี 2019 สสว. เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่ดำเนินกิจกรรมเพื่อสนับสนุนการเป็นเจ้าภาพอาเซียนในส่วนของการสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยดำเนินการภายใต้หัวข้อหลัก “การส่งเสริมการใช้ดิจิทัลสำหรับผู้ประกอบการรายย่อยอาเซียน” โดย สสว. ได้เน้นใน 2 ส่วน คือ 1. การใช้ดิจิทัลในการประกอบธุรกิจ (Digitalization) และ 2. การสนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อย (Micro Enterprises) ผู้ประกอบการรายใหม่ (start-up) และผู้ประกอบการรายย่อยที่มีอยู่เดิมซึ่งยังไม่สามารถเข้าถึงดิจิทัลได้ โดยในปัจจุบัน ประเทศไทยมีผู้ประกอบการรายย่อยมากกว่า 2 ล้านราย ซึ่งดิจิทัลจะเป็นหนึ่งในช่องทางที่ช่วยในการขยายธุรกิจได้

นายสุวรรณชัย เผยว่า การดำเนินกิจกรรมสร้างผู้ประกอบการ Born Global เป็นกิจกรรมหนึ่งที่ สสว. ได้ดำเนินการเพื่อสนับสนุนการใช้ดิจิทัลสำหรับผู้ประกอบการรายย่อยของไทย โดยกิจกรรมในวันนี้ คือ การจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง Global Digitalization Model for Micro Enterprises เพื่อแลกเปลี่ยนรูปแบบในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการเข้าสู่ตลาดต่างประเทศ โดยในวันนี้ผู้ประกอบการไทยจะได้รับทราบข้อมูลเพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในการออกสู่ตลาดต่างประเทศโดยใช้เครื่องมือดิจิทัลใน 3 ส่วน คือ

  1. การสรุปผลการศึกษาเรื่อง Born Global ซึ่ง สสว. ได้ดำเนินการในปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการศึกษารูปแบบของธุรกิจที่ประสบความสำเร็จว่าออกสู่ตลาดต่างประเทศด้วยช่องทางดิจิทัลและกลยุทธ์ใด 2. การเผยแพร่และแลกเปลี่ยนข้อมูลช่องทางดิจิทัลในการออกสู่ตลาดต่างประเทศของผู้ประกอบการรายย่อยต่างๆ โดยจะมีผู้ประกอบการทั้งของไทยและอาเซียนร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ให้ผู้เข้าร่วมงานฟังถึงรายละเอียดการออกสู่ต่างประเทศของตนโดยใช้ดิจิทัล ซึ่งรวมถึงจุดเริ่มต้นของการออกสู่ตลาดต่างประเทศ ช่องทาง กลยุทธ์และเครื่องมือที่ใช้ในการออกสู่ต่างประเทศ พร้อมทั้งสรุปปัจจัยความสำเร็จของแต่ละธุรกิจ โดยมีวิทยากรจาก 5 ประเทศอาเซียนเข้าร่วมงาน ซึ่งจะเป็นเจ้าของธุรกิจที่มีความหลากหลายตั้งแต่สินค้าทั่วไป เช่น ข้าว จนถึงธุรกิจในภาคบริการ เช่น การจัดอีเวนท์ต่างๆ 3. เจ้าของแพลตฟอร์มต่างๆ และผู้มีบทบาทในการช่วยเหลือผู้ประกอบการในการเข้าสู่ตลาดต่างประเทศโดยการใช้เครื่องมือดิจิทัลต่างๆ ที่จะเล่าประสบการณ์ และรูปแบบการทำงาน เพื่อให้สามารถเข้าสู่ตลาดต่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสบความสำเร็จมากขึ้น

นายสุวรรณชัย กล่าวด้วยว่า ธุรกิจแบบ Born Global Firm นั้น เมื่อเริ่มก่อตั้งธุรกิจจะมีเป้าหมายเพื่อการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศในทันที ส่วนใหญ่ผู้ประกอบการกลุ่มนี้จะมีลูกค้าเฉพาะกลุ่ม เป็นสินค้าและบริการที่นำเสนอจะมีการพัฒนาโดยใช้นวัตกรรม และเทคโนโลยี แต่สัมมนาในวันนี้จะได้เห็นถึงโอกาสและประสบการณ์การใช้ดิจิทัลช่วยสินค้าและบริการอื่นๆ ในการออกสู่ตลาดต่างประเทศด้วย โดยในส่วนของช่องทางการเข้าสู่ตลาดต่างประเทศ ส่วนใหญ่จะผ่านช่องทางโซเชียล มีเดีย และแพลตฟอร์มออนไลน์ในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ อีคอมเมิร์ซ แพลตฟอร์ม เฟซบุ๊ค อินสตาแกรม เป็นต้น

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการแบบ Born Global Firm มักมีประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจระหว่างประเทศมาก่อนการจัดตั้งบริษัท ซึ่งในส่วนนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้ประกอบการสามารถค้นหาโอกาสทางธุรกิจในตลาดระหว่างประเทศและทำให้สามารถเข้าสู่ตลาดต่างประเทศได้อย่างรวดเร็ว ในบางรายที่ไม่มีประสบการณ์ พบว่า ส่วนใหญ่มักมีการจ้างทีมงานหรือบุคลากร ที่มีประสบการณ์เข้ามาดำเนินการแทน

“ทุกวันนี้กระแสโลกาภิวัฒน์ และการเข้ามามีบทบาทของนวัตกรรมและเทคโนโลยี ทำให้โลกของการค้าระหว่างประเทศเปิดกว้างขึ้น และสามารถสร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการรายใหม่ๆ ได้มากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ผู้ประกอบการที่ส่งออกสินค้าและบริการไปยังต่างประเทศทุกรายจะได้รับการยอมรับในฐานะที่เป็น Born Global Firm ซึ่งจากการศึกษาที่ผ่านมาสามารถสรุปได้ว่า ธุรกิจแบบ Born Global Firm หมายถึง ธุรกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย ที่เข้าสู่ตลาดต่างประเทศภายในระยะเวลา 2 – 5 ปีนับตั้งแต่ก่อตั้งธุรกิจ และในขณะเดียวกันต้องมียอดส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศไม่น้อยกว่าร้อยละ 25” นายสุวรรณชัยกล่าว

ผอ.สสว. กล่าวอีกว่า นอกจากการสัมมนาในวันนี้แล้ว สสว. ยังมีกำหนดในการจัดกิจกรรม “BOOST” Camp ในระหว่างวันที่ 8 – 12 กรกฎาคม 2562 เพื่อฝึกอบรมผู้ประกอบการจำนวน 20 ราย ให้พร้อมสู่ตลาดต่างประเทศ ภายใต้หลักสูตรสำหรับการพัฒนาผู้ประกอบการสู่ความเป็น Born Global เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถเรียนรู้จากการปฏิบัติจริงซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการพร้อมออกสู่ตลาดต่างประเทศตั้งแต่ปีแรกที่เริ่มประกอบธุรกิจ

นายสุวรรณชัย กล่าวในตอนท้ายว่า ผลการสัมมนาในครั้งนี้จะเป็นข้อมูลในการจัดทำ Policy Guideline on Digitaization of ASEAN Micro Enterprise หรือ แนวนโยบายการส่งเสริมการใช้ดิจิทัลสำหรับผู้ประกอบการรายย่อยอาเซียน ซึ่ง สสว. จะดำเนินการร่วมกับหน่วยงานส่งเสริมผู้ประกอบการเอ็มเอสเอ็มอีในอาเซียนที่ได้มาเข้าร่วมการสัมมนาในวันนี้ โดยเป็นการเสนอแนะนโยบายในการส่งเสริมการใช้ดิจิทัลสำหรับผู้ประกอบการรายย่อยอาเซียน เสนอต่อผู้นำอาเซียนรับทราบในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียน (ASEAN Summit) ครั้งที่ 35 เดือนพฤศจิกายน 2562 โดยผ่านทางที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Minister Meeting: AEM) ในเดือนกันยายน 2562