ศธ. โดย สำนักงาน กศน. ร่วมเฉลิมฉลองงาน “วันที่ระลึกสากลแห่งการรู้หนังสือ” ประจำปี 2565ชูแนวคิดหลัก “ การพลิกโฉมพื้นที่การเรียนรู้เพื่อการรู้หนังสือ ”

ศธ. โดย สำนักงาน กศน. ร่วมเฉลิมฉลองงาน “วันที่ระลึกสากลแห่งการรู้หนังสือ” ประจำปี 2565ชูแนวคิดหลัก “ การพลิกโฉมพื้นที่การเรียนรู้เพื่อการรู้หนังสือ ”(Transforming Literacy Learning Spaces)

นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธีเฉลิมฉลองงาน “วันที่ระลึกสากลแห่งการรู้หนังสือ” ประจำปี 2565 (International Literacy Day 2022) ภายใต้แนวคิดหลัก “การพลิกโฉมพื้นที่การเรียนรู้เพื่อการรู้หนังสือ” (Transforming Literacy Learning Spaces)

โดยมีนายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นผู้กล่าวรายงาน Mr. Shigeru Aoyagi ผู้อำนวยการสำนักงานนยูเนสโก กรุงเทพฯ นายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นายวัลลพ สงวนนาม เลขาธิการ กศน. นางสาวทรงศรี วิระรังษิยากรณ์ นายปรเมศวร์ ศิริรัตน์ นายคมกฤช จันทร์ขจร รองเลขาธิการ กศน. ตลอดจนผู้บริหารองค์กรหลักของกระทรวงศึกษาธิการ ผู้บริหาร ข้าราชการ และ บุคลากร ในสังกัดสำนักงาน กศน. เข้าร่วมพิธี ณ ห้องแกรนด์ ไดมอนด์ บอลรูม อิมแพ็คฟอรรั่ม เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี

นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ตามที่ องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ได้ประกาศให้วันที่ 8 กันยายน ของทุกปี เป็น “วันที่ระลึกสากลแห่งการรู้หนังสือ” (International Literacy Day: ILD) ตามมติข้อเสนอจากเวทีการประชุมรัฐมนตรีศึกษาโลก เรื่อง “การขจัดการไม่รู้หนังสือ” ณ กรุงเตหะราน ประเทศอิหร่าน (สาธารณรัฐอิสลามอิหร่านในปัจจุบัน) ระหว่างวันที่ 8–19 กันยายน พ.ศ. 2508 และได้เชิญชวนให้ประเทศสมาชิกทั่วโลกร่วมกันเฉลิมฉลองเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2509 เพื่อให้สังคมโลกตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการรู้หนังสือ และประเด็นปัญหาต่าง ๆ ทั่วโลกเกี่ยวกับการไม่รู้หนังสือ ประเทศไทยในฐานะประเทศสมาชิกยูเนสโก

โดยกองการศึกษาผู้ใหญ่ กรมสามัญศึกษา กระทรวง ศึกษาธิการในขณะนั้น ได้ร่วมจัดกิจกรรมและพิธีเฉลิมฉลองงาน “วันที่ระลึกสากลแห่งการรู้หนังสือ” เป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2510 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน โดยสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย หรือ สำนักงาน กศน. ในปี พ.ศ. 2565 นี้ ได้จัดงานเฉลิมฉลองเนื่องในวันที่ระลึกสากลแห่งการรู้หนังสือ ประจำปี 2565 ภายใต้แนวคิดหลัก “ การพลิกโฉมพื้นที่การเรียนรู้เพื่อการรู้หนังสือ ”(Transforming Literacy Learning Spaces) ซึ่งพิธีการเฉลิมฉลองงาน“วันที่ระลึกสากลแห่งการรู้หนังสือ” ประจำปี พ.ศ. 2565 จัดขึ้น ณ ห้องแกรนด์ ไดมอนด์ บอลรูม อิมแพ็คฟอรรั่ม เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี

นางสาวตรีนุช กล่าวเพิ่มเติมว่า ถือเป็นโอกาสอันดีของยูเนสโกในการแก้ปัญหาการไม่รู้หนังสือ จากการพัฒนารูปแบบและวิธีการเรียนรู้อย่างหลากหลายของผู้คนทั่วโลกในห้วงวิกฤตการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 เพื่อให้การเรียนรู้สามารถดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ทุกประเทศทั่วโลกจึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนจากการเรียนการสอนแบบเดิมเป็นการเรียนการสอนแบบทางไกล ซึ่งในขณะเดียวกันก็ส่งผลกระทบต่อโอกาสในการเข้าถึงการเรียนรู้ของผู้เรียนบางกลุ่มในสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาของ “ช่องว่างทางดิจิทัล” ด้วยเหตุนี้ ยูเนสโกจึงมุ่งมั่นและพยายามอย่างที่สุดที่จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (No one left behind) จึงเห็นควรต้องเร่งต่อยอดนวัตกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงโควิด 19 เพื่อช่วยผลักดันให้เกิดการเรียนรู้อย่างทั่วถึงในทุกกลุ่มเป้าหมาย

ตลอดจนต้องมีการพลิกโฉมพื้นที่ทุกพื้นที่ให้เป็นพื้นที่การเรียนรู้เพื่อการรู้หนังสือที่หลากหลายสำหรับผู้เรียนทุกกลุ่ม ทุกช่วงวัย ทุกพื้นที่ และทุกเวลา โดยมีการปรับใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในทุกพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการเข้าถึงการเรียนรู้ของผู้เรียนทุกกลุ่มในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ที่ขาดความเจริญทางด้านเทคโนโลยี เพื่อให้เกิดความเท่าเทียม ทั่วถึง และและเสมอภาคอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต รัฐบาลทุกประเทศจึงต้องมีการพัฒนานโยบาย ยุทธศาสตร์ และมาตรการต่าง ๆ ที่สนับสนุนและเอื้อต่อการพัฒนาพื้นที่การเรียนรู้เพื่อการรู้หนังสือให้เกิดขึ้นจริงอย่างเป็นรูปธรรมในทุกพื้นที่ ภายใต้แนวคิดหลักของวันที่ระลึกสากลแห่งการรู้หนังสือในปีนี้ คือ “การพลิกโฉมพื้นที่การเรียนรู้เพื่อการรู้หนังสือ” (Transforming Literacy Learning Spaces)

โดยมีวัตถุประสงค์

1) สร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการใช้พื้นที่การเรียนรู้เพื่อการรู้หนังสือที่หลากหลายเป็นศูนย์กลางสำหรับความต้องการของเยาวชนและผู้ใหญ่ โดยใช้ความรู้และหลักฐานใหม่ ๆที่สอดสัมพันธ์กับนโยบาย ระบบการบริหารจัดการ โครงการ แนวปฏิบัติด้านการเรียนการสอน และการติดตามพื้นที่การเรียนรู้

2) ใช้ความก้าวหน้าและการเปลี่ยนแปลงที่มีอยู่ในการพัฒนาพื้นที่การเรียนรู้เพื่อการรู้หนังสือและจัดเวทีเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต

3) ปรับใช้สิ่งที่มีอยู่และการเปลี่ยนแปลงพื้นที่การเรียนรู้เพื่อการรู้หนังสือที่กำลังจะเกิดขึ้นเพื่อสร้างความมั่นใจในด้านคุณภาพ ความเท่าเทียม และการศึกษาสำหรับทุกคนเพื่อปวงชน

4) เชื่อมโยงเส้นทางการเรียนรู้ระหว่างการศึกษาในระบบ นอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย และบันทึกผลการเรียนรู้ เพื่อการรู้หนังสือที่เกิดขึ้นในพื้นที่ที่อยู่นอกแผน

ทั้งนี้ในพิธีการเฉลิมฉลองงาน “วันที่ระลึกสากลแห่งการรู้หนังสือ” ประจำปี 2565 มีการอ่านสารของ Ms Audrey Azoulay Director-General of UNESCO โดย ผู้อำนวยการสำนักงานยูเนสโก กรุงเทพฯ และการอ่านสารของพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

นอกจากนี้ยังมีพิธีมอบโล่ที่ระลึกเนื่องในโอกาสการเฉลิมฉลอง 200 ปี ชาตกาลพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) แด่คุณอัมรินทร์ คอมันตร์ และมอบโล่ประกาศเกียรติคุณแก่ผู้เข้าร่วมโครงการความร่วมมือระหว่าง สำนักงาน กศน. และสำนักงานยูเนสโก กรุงเทพฯ ประจำปี 2565 โดยผู้อำนวยการใหญ่ ยูเนสโก กรุงเทพฯ

ทั้งนี้ในส่วนของ สำนักงาน กศน. กระทรวงศึกษาธิการ นางสาวตรีนุช เทียนทองรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ให้เกียรติมอบโล่ประกาศเกียรติคุณ กศน. ประจำปี 2565 ให้แก่ผู้ที่ได้รับการคัดเลือก จำนวน 173 รางวัล พิธีมอบเข็มเชิดชูเกียรติ ครู กศน. ประจำปี 2565 พร้อมรับฟังการบรรยายพิเศษเนื่องในโอกาสวันที่ระลึกสากลแห่งการรู้หนังสือ โดย คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา อีกด้วย