● เศรษฐกิจโลกเผชิญความเสี่ยงที่จะชะลอตัวกว่าที่คาด ประมาณการเติบโตของจีดีพีในประเทศสำคัญๆทั้งสหรัฐฯ ยุโรป และจีน ถูกปรับลดลง โดยที่เศรษฐกิจยุโรปได้เข้าสู่ภาวะถดถอยในครึ่งปีหลัง ขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อของหลายประเทศต่างอยู่ในระดับสูงเป็นภาวะ stagflation
นอกจากนี้ความเสี่ยงที่จะทำให้เศรษฐกิจ โลกขยายตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์มีเพิ่มขึ้นจากความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ ล่าสุดเป็นการระงับส่งก๊าซชั่วคราวของรัสเซียซึ่งเพิ่มแรงกดดันต่อวิกฤตพลังงานในยุโรป ปัญหาด้าน supply chain ในประเทศจีนจากการขาดแคลนพลังงานที่มีเหตุจากภัยแล้ง รวมถึงการล็อกดาวน์ที่ทำให้มีผลลบต่อภาคการผลิต ปัจจัยเหล่านี้เพิ่มแรงกดดันด้านเงินเฟ้อและการชะงักงันของห่วงโซ่อุปทานโลกซึ่งต้องติดตามเพื่อประเมินผลกระทบต่อการส่งออกของ ไทยในระยะข้างหน้า
● แรงกดดันเงินเฟ้อยังสูงขณะที่ค่าเงินบาทกลับมาอ่อนค่าลง ราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในระดับสูง และค่าไฟฟ้าที่ปรับขึ้นในเดือนกันยายน ขณะที่คณะกรรมการค่าจ้างได้ปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้เพิ่มแรงกดดันต่อการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อในประเทศ นอกจากนี้ค่าเงินบาทกลับมามีทิศทางอ่อนค่าลงภายหลังเฟดส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยแรงต่อจากแนวโน้มส่วนต่างของดอกเบี้ยเงินบาทกับดอลลาร์ที่จะมีมากขึ้นส่งผลให้ราคาสินค้านำเข้าของไทยยังอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องและการนำเข้าสินค้าเพื่อการผลิตลดลง
• การท่องเที่ยวและมาตรการภาครัฐเป็นแรงส่งเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวชัดเจนขึ้น โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติในเดือนกรกฎาคมอยู่ที่ 1.12 ล้านคน คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งปี 2565 มีโอกาสแตะระดับ 9 – 10 ล้านคน และในระยะข้างหน้ายังจะได้อานิสงส์จากการขยายเวลาวีซ่านักท่องเที่ยวเป็น 45 วัน ประกอบกับยังมีแรงหนุนกำลังซื้อจากมาตรการคนละครึ่งระยะที่ 5 ซึ่งจะช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจภายในประเทศท่ามกลางภาวะความเสี่ยงหลายประการ อย่างไรก็ดีต้องติดตามการใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวที่ลดลงกว่าเดิม
● ที่ประชุม กกร. ประเมินเศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้จากการเปิดประเทศและการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศที่ตามมาแต่จำเป็นต้องติดตามสถานการณ์ตลาดต่างประเทศที่ชะลอตัวอย่างใกล้ชิดขึ้น โดยที่ประชุม กกร. คงประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2565 ซึ่งจะขยายตัวได้ในกรอบ 2.75% ถึง 3.5% ขณะที่มูลค่าการส่งออกคาดว่ายังขยายตัวได้ในกรอบ 6.0% ถึง 8.0% และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในกรอบ 5.5% ถึง 7.0%
กรอบประมาณการเศรษฐกิจปี 2565 ของ กกร.
• ที่ประชุมกกร. มีความกังวลในเรื่องต้นทุนของภาคธุรกิจ ที่จะเพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้า
1. การปรับขึ้นค่าไฟฟ้าจาก 4 บาท เป็น 4.72 บาท/ หน่วย ที่จะมีผลบังคับใช้ ในรอบเดือนกันยายน-ธันวาคม 2565 จะส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน และต้นทุนการประกอบการ โดยภาคอุตสาหกรรมมีต้นทุนค่าไฟฟ้าเฉลี่ย 20 – 30 % ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด และในส่วนของภาคบริการ เช่น ธุรกิจโรงแรม มีต้นทุนค่าไฟฟ้าเฉลี่ยเกือบ 30% ของต้นทุนทั้งหมด
2. การปรับขึ้นค่าธรรมเนียม FIDF ของธนาคารแห่งประเทศไทย ตั้งแต่เดือนมกราคม 2566 ที่จะส่งผ่านไปยังอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้สูงขึ้น ภายใต้การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
3. ต้นทุนด้านแรงงาน จากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่มีความแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ ตั้งแต่ 8-22 บาทต่อวัน ที่จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2565 และรวมถึงการขาดแคลนแรงงานที่เป็นปัญหาสำคัญของภาคธุรกิจ ซึ่งต้นทุนที่สูงขึ้น จะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของภาคธุรกิจที่ยังมีความเปราะบาง
ที่ประชุมกกร.จึงขอเสนอให้ภาครัฐพิจารณาอย่างถี่ถ้วนและรอบคอบในการปรับขึ้นปัจจัยต้นทุนที่ส่งผลกระทบต่อการประกอบการอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยเฉพาะการปรับขึ้นค่าไฟฟ้า ขอให้ทยอยการปรับขึ้นอัตราค่าไฟฟ้าออกเป็น 2 ระยะ แทนการปรับขึ้นครั้งเดียว เพื่อเป็นการบรรเทาผลกระทบของประชาชนและผู้ประกอบการจากวิกฤตความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่ทำให้ผู้ประกอบการต้องแบกรับภาระต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง รวมทั้งควรรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน ที่ได้รับผลกระทบเพื่อออกมาตรการบรรเทาผลกระทบจากต้นทุนการประกอบการดังกล่าว
• เรื่องการปฏิรูปกฎหมาย มีกฎหมายใหม่ 2 ฉบับที่ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาแล้ว ซึ่งเป็นกฎหมายที่ช่วยส่งเสริมการดำเนินธุรกิจ ได้แก่
1. พระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอีเล็กทรอนิกส์ ที่กำหนดให้ประชาชนสามารถติดต่อ และยื่นเอกสาร / คำร้องต่างๆ ทางอีเล็กทรอนิกส์ได้ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของภาครัฐ
2. พระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย ที่เปลี่ยนความผิด ที่เป็นคดีอาญาให้ไม่เป็นความผิดทางอาญาอีกต่อไป ทำให้ประชาชนที่ทำความผิดเล็กน้อย ยังถูกลงโทษปรับ แต่ไม่นับเป็นคดีอาญาและไม่มีประวัติอาชญากรรม
นอกจากนี้คณะรัฐมนตรี ได้เห็นชอบในหลักการให้แก้ไขพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของราชการ พ.ศ. 2558 ที่เสนอโดยคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ที่จะปรับปรุงการขออนุญาตต่างๆ กกร.ขอขอบคุณรัฐบาล และรัฐสภา ที่เป็นผู้ผลักดันกฎหมายดังกล่าวให้เกิดเป็นรูปธรรม