ภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยประจำเดือนเมษายน 2562

การส่งออกของไทยในเดือนเมษายน 2562 หดตัวที่ร้อยละ 2.6 มีมูลค่า 18.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นผลจากแรงกดดันจากปัจจัยภายนอกเป็นสำคัญ การค้าโลกและอุปสงค์ของคู่ค้าสำคัญที่ชะลอตัวลงตามวัฏจักรการค้า ประกอบกับปัจจัยชั่วคราวที่มีลักษณะเฉพาะของแต่ละภูมิภาค อาทิ นโยบายปกป้องทางการค้าของสหรัฐฯ สถานการณ์ทางการเมืองในยุโรป ตลาดสินเชื่อในจีน อย่างไรก็ตาม การส่งออกไทยยังรักษาระดับการแข่งขันไว้ได้และขยายตัวได้ดีในหลายตลาด อาทิ  สหรัฐฯ อินเดีย เวียดนาม กัมพูชา มาเลเซีย ฮ่องกง รัสเซียและ CIS และแคนาดา สินค้าเกษตร โดยเฉพาะกลุ่มอาหาร ยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง อาทิ ผัก ผลไม้สด แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ไก่สด แช่แข็งและแปรรูป เครื่องดื่ม และทูน่ากระป๋อง และกระจายตัวในหลายตลาดทั้งตลาดจีน อาเซียน สหรัฐฯ ไต้หวันและฮ่องกงขณะที่ สินค้าอุตสาหกรรมสำคัญที่ขยายตัวและน่าจับตามอง ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ และส่วนประกอบ เครื่องรับวิทยุ โทรทัศน์ และส่วนประกอบ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ และนาฬิกาและส่วนประกอบ ที่เริ่มเห็นทิศทางการขยายตัวมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา รวม 4 เดือนแรก ปี 2562 การส่งออกลดลงร้อยละ 1.9 ในภาวะการค้าที่มีความท้าทายสูง  การวางกลยุทธ์อย่างตรงจุด และผลักดันการขายตามความต้องการของตลาดจะช่วยสนับสนุนการขยายโอกาสการส่งออกในหลายตลาดและสินค้า นอกจากนี้ การกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐในหลายประเทศน่าจะส่งสัญญาณบวกต่อเศรษฐกิจและการค้าโดยรวมได้ในช่วงที่เหลือของปี 2562

ปัจจัยเชิงบวก ที่สนับสนุนต่อการส่งออกในเดือนเมษายน 2562 เช่น ภาพลักษณ์ของสินค้าที่สร้างความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภค รวมถึงมาตรการส่งเสริมการค้าเชิงรุกเจาะตลาดรายพื้นที่ โอกาสในการทดแทนสินค้าท่ามกลางข้อพิพาทระหว่างสหรัฐฯ และจีน ราคาน้ำมันในตลาดโลกเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องเฝ้าระวัง ปัจจัยเสี่ยงภายนอก อาทิ ความยืดเยื้อของสงครามการค้าที่กลับมากดดันบรรยากาศการค้าโลกอีกครั้ง ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน นโยบายการค้าและการมีผลใช้บังคับของ FTA ในประเทศต่าง ๆ กระทบต่อความสามารถในการส่งออกของไทย

มูลค่าการค้ารวม

มูลค่าการค้าในรูปของเงินบาท เดือนเมษายน 2562 การส่งออก มีมูลค่า 582,985 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 1.1 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) ในขณะที่ การนำเข้า มีมูลค่า 637,381 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.7 ส่งผลให้การค้าขาดดุล 54,397 ล้านบาท รวม 4 เดือนแรก ปี 2562 การส่งออกมีมูลค่า 2,540,823 ล้านบาท (ลดลงร้อยละ 1.9) การนำเข้ามีมูลค่า 2,562,336 ล้านบาท (ลดลงร้อยละ 0.9) และการค้าขาดดุล 21,514 ล้านบาท

มูลค่าการค้าในรูปของเงินดอลลาร์สหรัฐ เดือนเมษายน 2562 การส่งออก มีมูลค่า 18,556 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ 2.6 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) ในขณะที่ การนำเข้า มีมูลค่า 20,013 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ 0.7 ส่งผลให้การค้าขาดดุล 1,457 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รวม 4 เดือนแรก ปี 2562 การส่งออกมีมูลค่า 80,543 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ลดลงร้อยละ 1.9) การนำเข้ามีมูลค่า 79,973 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ลดลงร้อยละ 1.1) และการค้าเกินดุล 550 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร

มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ที่ร้อยละ 3.9 (YoY) สินค้าเกษตรสำคัญที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ ผัก ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ขยายตัวเกือบทุกตลาด ขยายตัวร้อยละ 62.3 (ขยายตัวระดับสูงในตลาดจีน นอกจากนี้ยังมีตลาดเวียดนาม ฮ่องกง สหรัฐฯ และไต้หวัน) ไก่สด แช่แข็ง และแปรรูป ขยายตัวเกือบทุกตลาดต่อเนื่องที่ร้อยละ 14.0 (ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร จีน เนเธอร์แลนด์ และเกาหลีใต้) เครื่องดื่ม ขยายตัวเกือบทุกตลาด ขยายตัวร้อยละ 14.3 (ขยายตัวในตลาดกัมพูชา เวียดนาม จีน ลาว และสิงคโปร์) ทูน่ากระป๋อง ขยายตัวร้อยละ 4.7 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ลิเบีย ออสเตรเลีย ซาอุดิอาระเบีย และชิลี) สินค้าเกษตรสำคัญที่หดตัว ได้แก่ ยางพารา กลับมาหดตัวที่ร้อยละ 32.1 (หดตัวในตลาดจีน มาเลเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และบราซิล แต่ยังขยายตัวได้ดีในสหรัฐฯ) ข้าว หดตัวที่ร้อยละ 20.2 (หดตัวในตลาดแอฟริกาใต้ จีน และโกตดิวัวร์ แต่ยังขยายตัวดีในตลาดเบนิน สหรัฐฯ และแคเมอรูน) น้ำตาลทราย หดตัวร้อยละ 10.8 (หดตัวในตลาดอินโดนีเซีย ไต้หวัน เมียนมา และแทนซาเนีย แต่ยังขยายตัวในตลาดเกาหลีใต้ กัมพูชา และมาเลเซีย) ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง หดตัวเกือบทุกตลาด หดตัวที่ร้อยละ 4.7 (หดตัวในตลาดจีน ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย และไต้หวัน แต่ยังขยายตัวในตลาดเกาหลีใต้ และฟิลิปปินส์) รวม 4 เดือนแรกของปี 2562 สินค้าเกษตรขยายตัวที่ร้อยละ 0.9

การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม

       มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ที่ร้อยละ 4.2 (YoY) สินค้าสำคัญที่ยังขยายตัวได้ดี ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 13.2 (ขยายตัวในตลาดเวียดนาม สหรัฐฯ ออสเตรเลีย อินเดีย และญี่ปุ่น) เครื่องรับวิทยุ โทรทัศน์ และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 17.5 (ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น จีน ฮ่องกง เยอรมนี และอินโดนีเซีย) รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 23.9 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น อิตาลี เวียดนาม และเมียนมา) นาฬิกา และส่วนประกอบ ขยายตัวเกือบทุกตลาดที่ร้อยละ 57.6 (ขยายตัวในตลาดสวิตเซอร์แลนด์ ฮ่องกง ปากีสถาน ไต้หวัน และอินเดีย) สินค้าอุตสาหกรรมสำคัญที่หดตัว ได้แก่ ทองคำ หดตัวร้อยละ 56.9 (หดตัวในตลาดสวิตเซอร์แลนด์ จีน ญี่ปุ่น และอินเดีย แต่ยังขยายตัวได้ดีในกัมพูชา สิงคโปร์ และฮ่องกง) เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ หดตัวร้อยละ 10.6 (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ ฮ่องกง จีน และเนเธอร์แลนด์ แต่ยังขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น เม็กซิโก และอินเดีย) รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ หดตัวร้อยละ 4.0 (หดตัวในตลาดออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย แต่ยังขยายตัวสูงในเวียดนาม) เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ หดตัวร้อยละ 12.7 (หดตัวในตลาดญี่ปุ่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย อินเดีย และฟิลิปปินส์ แต่ยังขยายตัวสูงในตลาดสหรัฐฯ และเวียดนาม)รวม 4 เดือนแรกของปี 2562 มูลค่าสินค้าอุตสาหกรรม หดตัวที่ร้อยละ 4.1

ตลาดส่งออกสำคัญ

      การส่งออกไปตลาดส่วนใหญ่ยังหดตัว ตามแนวโน้มการค้าโลก อีกทั้งการส่งออกไปยังคู่ค้าสำคัญของไทยส่วนมากได้รับผลกระทบจากนโยบายภาษีการนำเข้าของสหรัฐฯ และจีน ทั้งทางตรงและทางอ้อม บรรยากาศทางการค้าที่ไม่แน่นอนและมีแนวโน้มกลับมาตึงเครียดอีกครั้งทำให้เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าอ่อนแอลงกระทบต่อการส่งออกไทย อย่างไรก็ตาม การส่งออกไทยขยายตัวได้ดีในบางประเทศ ได้แก่ สหรัฐฯ เวียดนาม กัมพูชา และอินเดีย อันเป็นผลจากรายสินค้าสำคัญในแต่ละตลาด ทั้งนี้ การส่งออกไปยังตลาดหลักขยายตัวร้อยละ 0.1 อันเป็นผลจากการการส่งออกไปสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 4.7 ขณะที่การส่งออกไปญี่ปุ่นขยายตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.02 และสหภาพยุโรปหดตัวร้อยละ 5.2 ด้านการส่งออกไปตลาดศักยภาพสูงหดตัวร้อยละ 1.0 เป็นผลมาจากการส่งออกไปอาเซียน-5 และจีนหดตัวร้อยละ 5.8 และ 5.0 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม การส่งออกไปตลาด CLMV ยังคงขยายตัวร้อยละ 10.0 สำหรับตลาดศักยภาพระดับรองหดตัวที่ร้อยละ 3.6 เนื่องจากการส่งออกไปทวีปออสเตรเลีย ตะวันออกกลาง และลาตินอเมริกา หดตัวร้อยละ 2.5 8.8 และ 8.7 ตามลำดับ ขณะที่การส่งออกไปกลุ่มประเทศ CIS ขยายตัวที่ร้อยละ 6.6

แนวโน้มและมาตรการส่งเสริมการส่งออกปี 2562

ความท้าทายต่อการส่งออกในปีนี้มีทั้งปัจจัยด้านวัฏจักรการค้าโลกทำให้อุปสงค์ของประเทศคู่ค้าสำคัญชะลอตัวลง และปัจจัยชั่วคราวเฉพาะอย่างที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศ กระทบต่อความเชื่อมั่นและกดดันเศรษฐกิจ อาทิ นโยบายปกป้องทางการค้าของสหรัฐฯ และข้อพิพาทระหว่างสหรัฐฯ และจีน ที่มีแนวโน้มยืดเยื้อแม้ว่าทั้งสองฝ่ายพยายามหาทางออกร่วมกัน แต่ในขณะเดียวกันก็พร้อมที่จะเผชิญหน้าหากฝ่ายใดต้องเสียเปรียบ สถานการณ์ทางการเมืองในยุโรป ตลาดสินเชื่อในจีน อย่างไรก็ตาม การดำเนินนโยบายภาครัฐในหลายประเทศเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจน่าจะส่งสัญญาณบวกต่อเศรษฐกิจและการค้าโดยรวมได้ในช่วงที่เหลือของปี 2562 อาทิ มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากข้อพิพาททางการค้าสหรัฐฯ-จีน และการส่งสัญญาณคงอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ  นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายในยุโรป ญี่ปุ่น และสหราชอาณาจักร รวมถึงนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจทางการเงินและการคลังของจีน เพื่อชดเชยผลกระทบทางลบจากการขึ้นภาษีทางการค้า โดยคาดว่าเศรษฐกิจการค้าโลก รวมถึงการส่งออกไทยจะค่อยๆ กลับมาขยายตัว

        ในระยะที่ผ่านมา ไทยยังสามารรถรักษาส่วนแบ่งในตลาดโลกไว้ได้ แม้ว่าสินค้าบางกลุ่มมีแนวโน้มได้รับผลกระทบมากกว่ากลุ่มอื่นๆ แต่เริ่มเห็นสัญญาณเชิงบวกโดยเฉพาะกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ที่การส่งออกสินค้ามีแนวโน้มหดตัวในอัตราที่ลดลง โดยคาดว่าผู้ประกอบการเริ่มมีการปรับกลยุทธ์ในห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) และมาผลิตในตลาดที่สามนอกประเทศจีนมากขึ้น เช่น ฮ่องกง ไต้หวัน อย่างไรก็ดี ในช่วงที่อัตราแลกเปลี่ยนมีความผันผวน ผู้ส่งออกควรเร่งทำประกันความเสี่ยง และจูงใจให้ผู้นำเข้าทำสัญญาระยะยาวเพื่อเป็นหลักประกันการซื้อขายและลดผลกระทบจากความไม่นอนของข้อพิพาททางการค้าบริบทของการค้าที่มีความท้าทายกระจายตัวทั้งในมิติของรายตลาดและสินค้า กระทรวงพาณิชย์เตรียมแผนผลักดันการส่งออกปี 2562 โดยเน้นการขยายโอกาสการส่งออกในกลุ่มตลาดที่แข็งแกร่งและมีแนวโน้มขยายตัวได้สูง อาทิ สหรัฐฯ อินเดีย และ CLMV  และให้ความสำคัญและเร่งส่งออกสินค้าที่ขยายตัวสูง และมีศักยภาพในการส่งออกทดแทน ด้วยภาพลักษณ์ของสินค้าไทยที่มีคุณภาพดี มาตรฐานระดับสากล ช่วยสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภค อาทิ สินค้าเกษตร ประมงและอาหาร (สดและแปรรูป) ผลไม้หลายชนิด เครื่องดื่มหลายประเภท ไก่ เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์บำรุงผิว เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่สร้างรายได้แก่เกษตรกรและ SME ช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจฐานราก

        นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ เร่งแก้ไขปัญหาทางการค้าอย่างบูรณาการระหว่างกรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การขยายการส่งออกในตลาดใหม่ อาทิ ตลาดแอฟริกา ลาตินอเมริกา และยุโรปตะวันออก การทำแผนบุกตลาดและลงรายละเอียดสินค้าในเชิงลึกในตลาดเดิม พร้อมขยายช่องทางการขายบนตลาดออนไลน์ บนเว็บไซต์ Thaitrade.com และการเชื่อมต่อ e-Marketplace ชั้นนำ การรวบรวมข้อมูลอุปสรรคทางการค้า (non-tariff measures) เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการเจรจาทางการค้า การสร้างหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์กับคู่ค้าศักยภาพ (Strategic Partnership) และสร้างเครือข่ายทางธุรกิจ (International Business Network) เพื่อกระจายความเสี่ยงลดการพึ่งพาตลาดใดเพียงแห่งเดียว การเตรียมมาตรการกำกับดูแลการค้าชายแดนเพื่อป้องกันการสินค้าไหลเข้าประเทศและใช้ประเทศไทยเป็นแหล่งcircumvention ซึ่งขณะนี้ยังไม่พบความผิดปกติแต่อย่างใด รวมไปถึงการเตรียมเสนอยุทธศาสตร์การค้า โดยผลักดันการมีส่วนร่วมจากทั้งภาครัฐและเอกชนเสนอความเห็นและกำหนดทิศทางและเป้าหมายการค้า ทั้งในประเด็นเร่งด่วน อาทิ สงครามการค้า หรือประเด็นยุทธศาสตร์การค้าระยะยาวที่จะต้องพิจารณาระบบการค้าและการลงทุน (Trade & Investment Ecosystem) ทั้งระบบ