กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เตือน ใส่รากฟันเทียมเถื่อนเสี่ยงติดเชื้อในกระแสเลือดอาจเสียชีวิตได้ พร้อมย้ำต้องเข้ารับการรักษาฟันจากทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในสถานพยาบาลที่ได้รับใบอนุญาตอย่างถูกต้องเท่านั้น
นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากกรณีผู้ใช้เฟซบุคชื่อ “Wanlapar Wichaisakul” เผยภาพรากฟันเทียมเถื่อนที่ใช้ตะปูทำกระทงปักเข้าไปในเหงือกคนไข้ซึ่งเป็นกรณีที่เกิดขึ้นในต่างประเทศนั้น โดยรากฟันเทียมดังกล่าวทำขึ้นเพื่อเลียนแบบการทำรากฟันเทียม โดยทันตแพทย์ เนื่องจากผู้ป่วยบางคนต้องการใส่ฟันเทียมแบบติดแน่นกับขากรรไกรในช่องปาก ไม่ต้องการใส่ ฟันเทียมแบบถอดได้ แต่ราคาการทำรากฟันเทียมในคลินิกค่อนข้างสูง ทำให้มีกลุ่มมิจฉาชีพคิดหารายได้จากการทำรากฟันเทียมเถื่อนตามบ้าน โดยใช้ตะปูหรือสกรูสำหรับงานช่างแทนรากฟันเทียมที่ทันตแพทย์ใช้ ส่งผลเสียอย่างมาก ประชาชนจึงไม่ควรเลียนแบบ เนื่องจากอุปกรณ์ที่ใช้ทำรากฟันและตัวฟันที่ไม่ผ่านการทำความสะอาดฆ่าเชื้อ ก่อให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อโรคติดต่อระหว่างคนไข้แต่ละคน ซึ่งวัสดุผลิตตะปูหรือสกรูดังกล่าวไม่ได้ทำขึ้นมาใช้กับเนื้อเยื่อมนุษย์ และเมื่อตะปูอยู่ในช่องปากระยะเวลาหนึ่ง เกิดสนิม จะส่งผลให้คนไข้เป็นบาดทะยัก อาจนำไปสู่การติดเชื้อในกระแสเลือดจนเสียชีวิตได้
ทางด้าน ทันตแพทย์หญิงปิยะดา ประเสริฐสม ผู้อำนวยการสำนักทันตสาธารณสุข กล่าวเพิ่มเติมว่ารากฟันเทียมคืออุปกรณ์ที่มีลักษณะคล้ายสกรูใส่เข้าไปในขากรรไกร ทำหน้าที่ทดแทนรากฟันธรรมชาติ เพื่อรองรับฟันเทียม (denture), ครอบฟัน (crown) หรือสะพานฟัน (bridge) ให้ผลลัพธ์ที่ใกล้เคียงกับ ฟันธรรมชาติมากที่สุด วัสดุที่ใช้ทำรากฟันเทียม คือ โลหะไทเทเนียม เนื่องจากมีความแข็งแรง และเข้ากันกับเนื้อเยื่อมนุษย์มากที่สุด โดยปกติภายหลังการฝังรากเทียมแล้วจะใช้เวลาประมาณ 3-6 เดือน เพื่อให้รากเทียมติดได้อย่างแนบแน่นกับกระดูกขากรรไกร ก่อนที่จะใส่ฟันเทียมเข้าไป การรักษาดังกล่าวมีความซับซ้อน ดังนั้น ควรเข้ารับการรักษาฟันจากทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ในสถานพยาบาลที่ได้รับใบอนุญาตอย่างถูกต้องเท่านั้น นอกจากนี้คนไข้ควรได้รับคำแนะนำเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพช่องปากและนัดตรวจติดตามอาการโดยทันตบุคลากรเป็นระยะภายหลังการใส่รากฟันเทียม
***
ศูนย์สื่อสารสาธารณะ / 22 พฤษภาคม 2562