15 หน่วยงาน จับมือยกระดับศักยภาพท้องถิ่น เพิ่มมาตรฐานการให้บริการ ‘ด้านสุขภาพ’ จัดหลักสูตรอบรม 76 อบจ. พร้อมรับถ่ายโอน ‘รพ.สต.’

​15 หน่วยงานภาคีลงนามความร่วมมือ “พัฒนาระบบบริการสุขภาพท้องถิ่น-ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วม” พร้อมจัดหลักสูตรพัฒนาศักยภาพ “อบจ.” เตรียมพร้อมรองรับการถ่ายโอนภารกิจ “รพ.สต.” ด้าน สธ. ย้ำยังต้องสนับสนุนด้านวิชาการ-บริการ ขณะที่ภาคประชาชนต้องมีส่วนร่วมพัฒนา รพ.สต.ในพื้นที่ของตน

เมื่อวันที่ 19 ส.ค. 2565 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) พร้อมด้วยหน่วยงานภาคีเครือข่าย รวม 15 องค์กร ร่วมกันจัดการอบรมหลักสูตร “การจัดการระบบสุขภาพท้องถิ่นแบบมีส่วนร่วม” เพื่อพัฒนาศักยภาพกองสาธารณสุข องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) รองรับการถ่ายโอนสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษานวมินทราชินี (สอน.) และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) โดยมีตัวแทนผู้ที่รับผิดชอบภารกิจถ่ายโอน รพ.สต. จากทั้ง 76 อบจ.ทั่วประเทศ เข้าร่วมการอบรม

สำหรับการอบรมดังกล่าว จัดขึ้นระหว่างวันที่ 19-21 ส.ค. 2565 มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรกองสาธารณสุข อบจ. ให้มีความรู้ ความเข้าใจ แนวคิด ทฤษฎีระบบสุขภาพแบบองค์รวม และการจัดทำแผนพัฒนาสุขภาพระดับพื้นที่แบบมีส่วนร่วม ซึ่งเป็นไปตามมติของที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ที่ได้เห็นชอบการสนับสนุนและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในระบบบริการปฐมภูมิในพื้นที่ที่มีการถ่ายโอน รพ.สต. ให้แก่ อบจ. และเห็นควรให้มีการพัฒนาพื้นที่นำร่องและการพัฒนาศักยภาพกองสาธารณสุข อบจ.

นพ.ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า บทบาทของ รพ.สต. ถ่ายโอนให้ อบจ. นับเป็นนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพในระดับจังหวัดที่สำคัญ และเป็นเรื่องของทุกคนในพื้นที่ จึงต้องให้ความสำคัญกับกระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน โดยมี อบจ. เป็นเจ้าภาพในการประสานความร่วมมือดังกล่าว ซึ่งหลักสูตรและจัดอบรมวันนี้ มีขึ้นเพื่อมุ่งหมายให้บุคลากรด้านสุขภาพของ อบจ. เข้าใจระบบสุขภาพแบบองค์รวม ที่ประกอบด้วย กาย จิต สังคม และปัญญา อันเป็นมิติที่กว้างกว่าการมองเรื่องสุขภาพเป็นเพียงความเจ็บป่วย หรือการรักษาพยาบาลเท่านั้น

นพ.ประพนธ์ กล่าวว่า ตามที่คณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้ ประกาศหลักเกณฑ์และขั้นตอนการถ่ายโอนภารกิจฯ พร้อมกำหนดให้ อบจ. จัดตั้งคณะกรรมการสุขภาพระดับพื้นที่ (กสพ.) มีหน้าที่และอำนาจกำหนดนโยบายกำกับดูแลและพัฒนางานด้านสาธารณสุขของ อบจ. ที่ได้รับการถ่ายโอน ตลอดจนให้มีสำนักหรือกองสาธารณสุข เพื่อรับผิดชอบและจัดทำแผนพัฒนาสุขภาพระดับพื้นที่ขึ้น ถือเป็นกลไกสำคัญที่จะทำให้เกิดระบบบริการสุขภาพที่มีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ และตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนได้อย่างแท้จริง

“ที่ผ่านมา สธ. ได้ทำภารกิจเหล่านี้ แต่วันนี้ถึงเวลาที่ต้องถ่ายโอนภารกิจนี้ให้กับ อบจ. ซึ่งเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) พี่ใหญ่ที่มีความพร้อมและมีศักยภาพ ดังนั้นเมื่อถ่ายโอนไปแล้ว ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน โดยเฉพาะ สธ.ในส่วนกลาง และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ในพื้นที่ ก็ยังต้องเป็นฝ่ายสนับสนุนทั้งทางด้านวิชาการและด้านบริการ ขณะที่ อบจ. สนับสนุนทรัพยากรและการบริหารจัดการ และในส่วนของภาคประชาชนก็ต้องเข้าไปมีส่วนร่วมพัฒนา รพ.สต.ในพื้นที่ของตน” นพ.ประพนธ์ กล่าว

ทั้งนี้ ภายในงานยังได้มีการจัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “การพัฒนาระบบบริการสุขภาพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วม” ระหว่างหน่วยงานทั้ง 15 องค์กร เพื่อร่วมมือกันยกระดับศักยภาพและมาตรฐานการให้บริการด้านสุขภาพของ อปท. ทั้งด้านการป้องกัน บำบัดโรค ส่งเสริมสุขภาพอนามัยของประชาชน การรักษาพยาบาล การฟื้นฟูสมรรถภาพด้านการแพทย์ การแพทย์ฉุกเฉิน และการคุ้มครองผู้บริโภค ให้ระบบสุขภาพปฐมภูมิเข้มแข็ง ประชาชนมีสุขภาวะที่ดี

นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า นับตั้งแต่วันที่ 24 ก.พ. 2565 เป็นต้นมา สช. ซึ่งเป็นองค์กรตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ได้ทำหน้าที่ประสานกับหน่วยงานภาคียุทธศาสตร์ที่มีภารกิจที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพแบบมีส่วนร่วมในพื้นที่ กรณีถ่ายโอน สอน. และ รพ.สต. ให้กับ อบจ. โดยทุกหน่วยงานได้มีความเห็นพ้องร่วมกันในการจัดทำบันทึกความร่วมมือ และพัฒนาหลักสูตรให้กับ อบจ. ตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้อง

นพ.ประทีป กล่าวว่า ภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือนี้ ทั้ง 15 หน่วยงานจะร่วมมือกันดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของแต่ละหน่วยงาน เพื่อร่วมกันสนับสนุนการพัฒนาระบบบริการสุขภาพของ อปท. โดยประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วม และร่วมมือกันส่งเสริม สนับสนุนการพัฒนานโยบายสาธารณะด้านสุขภาพ ให้เกิดการกระจายภารกิจด้านสุขภาพและการบริการสาธารณะที่จำเป็นอื่นๆ ให้แก่ อปท. บนพื้นฐานของหลักการกระจายอำนาจและการจัดการตนเองของท้องถิ่นและพื้นที่

อนึ่ง หน่วยงานทั้ง 15 องค์กรที่ได้ร่วมกันลงนามในครั้งนี้ ประกอบด้วย 1. กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) 2. สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) 3. สถาบันพระบรมราชชนก (สบช.) 4. สถาบันพระปกเกล้า 5. สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) 6. สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) 7. สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย 8. สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย 9. สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย 10. สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) 11. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดย ThaiHealth Academy 12. สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี 13. สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 14. สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) 15. สถาบันอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล