กรมควบคุมโรค เตือนเฝ้าระวังโรคไข้เลือดออกที่มียุงลายเป็นพาหะนำโรค ซึ่งมักระบาดในช่วงฤดูฝน เนื่องจากเมื่อฝนตกจะทำให้เกิดน้ำขังในภาชนะต่าง ๆ กลายเป็นแหล่งวางไข่ของยุง ส่งผลให้ยุงพาหะชุกชุมมากขึ้น จึงอาจเสี่ยงโรคไข้เลือดออกกลับมาระบาดอีกครั้งตามวงรอบของปีที่จะระบาด โดยโรคนี้สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่
วันที่ 17 สิงหาคม 2565 นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 10 ส.ค. 2565 พบผู้ป่วยไข้เลือดออกจำนวน 16,276 ราย เสียชีวิต 14 ราย กลุ่มอายุที่เสียชีวิต อายุ 35 ปีขึ้นไป ซึ่งมากกว่าปีที่ผ่านในช่วงเวลาเดียวกันถึง 2.2 เท่า โดยในช่วง 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา พบจังหวัดที่มีผู้ป่วยมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ อุบลราชธานี ตาก และศรีสะเกษ และคาดการณ์ว่าปีนี้สถานการณ์ของโรคไข้เลือดออกจะมีการระบาดมากขึ้นตามวงรอบของปีที่จะระบาด โดยมีแนวโน้มพบผู้ป่วยในกลุ่มผู้ใหญ่มากขึ้น
นายแพทย์โอภาส กล่าวต่อว่า สำหรับลักษณะอาการของโรคไข้เลือดออก คือ มีไข้สูงเฉียบพลัน และสูงลอยประมาณ 2-7 วัน ร่วมกับปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว หน้าแดง อาจมีจุดแดงเล็กๆ ขึ้นตามลำตัว แขน ขา คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง และเบื่ออาหาร ส่วนใหญ่ไม่ไอ ไม่มีน้ำมูก ต่อมาไข้จะลดลง ในระยะนี้ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะอาจเกิดภาวะช็อคและเสียชีวิตได้ ขอให้ประชาชนสังเกตอาการป่วยของคนในครอบครัว
หากมีไข้สูงลอยเกิน 2 วัน และเช็ดตัวหรือกินยาลดไข้แล้วไข้ไม่ลดลง ขอให้คิดว่าอาจป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก ไม่ควรซื้อยาลดไข้ในกลุ่มแอสไพรินและไอบูโพรเฟนมารับประทาน ให้รีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์หรือสถานบริการสาธารณสุขที่อยู่ใกล้บ้าน เพื่อให้ได้รับการวินิจฉัย ประเมินอาการ และการดูแลรักษาที่ถูกต้องรวดเร็ว จะช่วยลดโอกาสการเสียชีวิตได้ ซึ่งปัจจุบันมีการใช้ชุดตรวจโรคไข้เลือดออกชนิดรวดเร็ว (Dengue Rapid Diagnosis Test) ทำให้สามารถวินิจฉัยผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกได้เร็วมากขึ้น
ทั้งนี้ ควรทายากันยุง และนอนในมุ้ง เพื่อป้องกันยุงกัด รวมทั้งกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายรอบบ้าน ใช้ทรายกำจัดลูกน้ำบริเวณน้ำขัง หรือทำลายภาชนะที่มีน้ำขัง และที่สำคัญไม่สร้างแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายเพิ่มขึ้น เช่น ปิดฝาถังขยะให้มิดชิด ทิ้งขยะประเภทภาชนะใส่อาหารลงในถังขยะ โดยขอให้ยึดหลัก “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” คือ เก็บบ้านให้สะอาด ปรับปรุงสิ่งแวดล้อมในบ้านและรอบบ้าน ให้มีความเป็นระเบียบ แสงแดดส่องเข้าถึง ไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง เก็บขยะบริเวณรอบบ้านไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย และ เก็บน้ำ ปิดฝาภาชนะที่ใส่น้ำให้มิดชิด เปลี่ยนน้ำในแจกันทุกสัปดาห์ ป้องกันยุงลายมาวางไข่ เพื่อป้องกันโรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422
*************************************
ข้อมูลจาก : กองโรคติดต่อนำโดยแมลง/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค
วันที่ 17 สิงหาคม 2565