ปลัดกระทรวงสาธารณสุข บรรยายพิเศษ “ทิศทางโรงพยาบาลไทย เรื่องเล่าจากพี่สู่น้อง” มอบแนวคิดให้บุคลากรการแพทย์ รพ.สมุทรปราการ ยึดหลัก EMS จัดระบบบริการก้าวหน้า ให้ประชาชนได้รับบริการที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพและประทับใจ บุคลากรภาคภูมิใจในการปฏิบัติหน้าที่ พร้อมเปิดศูนย์รับบริจาคอวัยวะ รพ.บางพลี เพิ่มโอกาสเข้าถึงการรักษาด้วยการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะให้ประชาชน
วันที่16 สิงหาคม 2565 ที่ โรงพยาบาลสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข บรรยายพิเศษ เรื่อง “ทิศทางโรงพยาบาลไทย เรื่องเล่าจากพี่สู่น้อง” และ เปิดกิจกรรม Mission to Smart and Modernized Hospital โดยมี นายแพทย์ณรงค์ อภิกุลวณิชย์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 6 นายแพทย์นเรศฤทธิ์ ขัดธะสีมา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการ นายแพทย์นำพล แดนพิพัฒน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมุทรปราการ ให้การต้อนรับ
นายแพทย์เกียรติภูมิกล่าวว่า ในฐานะปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้มีนโยบายให้สถานบริการจัดระบบบริการสุขภาพก้าวหน้า (Innovative Healthcare Management ) ซึ่งมีองค์ประกอบสำคัญ 3 ส่วน คือ EMS : Environment พัฒนาอาคารสถานที่และสิ่งแวดล้อมให้มีความร่มรื่น สะอาด, Modernization มีความทันสมัยในการบริการ และ Smart Service ให้ความสำคัญกับระบบและพฤติกรรมบริการ เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่มีประสิทธิภาพทัดเทียมสถานพยาบาลเอกชน มีความสะดวก รวดเร็ว ทันสมัย ลดความแออัดและเกิดความประทับใจ ส่วนบุคลากร ผู้ให้บริการได้เกิดความภาคภูมิใจในการปฏิบัติหน้าที่ และยังจะเป็นจุดเริ่มต้นของการต่อยอดพัฒนางานในด้านอื่นๆ อาทิ ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และงานวิชาการ ต่อไป
สำหรับการจัดกิจกรรม Mission to Smart and Modernized Hospital ของโรงพยาบาลสมุทรปราการครั้งนี้ เป็นการดำเนินงานที่สอดรับกับนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข ทั้งการพัฒนาอาคารสถานที่และสิ่งแวดล้อมในโรงพยาบาล รวมถึงการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริการ เช่น หุ่นยนต์คัดกรองอาการเบื้องต้น ระบบคิวอัตโนมัติ ตู้ชำระเงินอัตโนมัติ เป็นต้น ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้มารับบริการ และช่วยลดความแออัดในจุดบริการต่างๆ ได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขยังได้เปิดศูนย์รับบริจาคอวัยวะและดวงตา โรงพยาบาลบางพลี ซึ่งเป็นศูนย์ประสานงานเกี่ยวกับการรับบริจาคอวัยวะและดวงตา บูรณาการการทำงานร่วมกับศูนย์การรักษาแบบประคับประคอง โดยในปี 2566 มีแผนที่จะลงพื้นที่เชิงรุกเพื่อเก็บดวงตาผู้ป่วยระยะประคับประคองที่เสียชีวิตถึงบ้าน เป็นการช่วยให้ผู้ที่มีความประสงค์จะบริจาคอวัยวะได้เข้าถึงการบริจาคมากขึ้น และเพิ่มโอกาสให้ผู้ป่วยที่รอคิวได้รับรักษาด้วยการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะมากขึ้นด้วย
***************************** 16 สิงหาคม 2565