หมอแผนไทย ชู อาหารเป็นยา ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พร้อมแนะนำ วิธีการทำทิงเจอร์ข่า เพื่อรักษาโรคน้ำกัดเท้าไว้ใช้ในครัวเรือน ป้องกันโรคช่วงพายุกระหน่ำฝนตกชุก

กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เผยสรรพคุณอาหารเป็นยา ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย ใช้ดูแลสุขภาพให้ห่างไกลโรคในช่วงฤดูฝน พร้อมแนะนำวิธีการทำทิงเจอร์ข่าไว้ใช้ในครัวเรือน สำหรับรักษาโรคน้ำกัดเท้า โรคยอดฮิตในช่วงฤดูนี้

นายแพทย์เทวัญ ธานีรัตน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ในช่วงนี้ทั่วทุกภาคของประเทศไทยมีฝนตกชุกและมีน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่ อุณหภูมิของอากาศในช่วงนี้มีลักษณะเย็นชื้น และสภาพอากาศเช่นนี้ ในทางการแพทย์แผนไทยมักจะส่งผลให้เกิดการเจ็บป่วยด้วยโรคหรืออาการที่เกิดจากการเสียสมดุลของธาตุลม เช่น อาการปวด ตามข้อ ปวดตามกล้ามเนื้อ หรือปวดเมื่อยตามร่างกาย อาการวิงเวียนศีรษะ ไอ จาม เป็นหวัด ท้องอืด จุกเสียดท้อง อาหารไม่ย่อยเป็นต้น

รวมถึงโรคน้ำกัดเท้าที่มักจะเกิดจากการเดินลุยน้ำท่วมขังหรือการที่เท้าของเราต้องแช่น้ำเป็นเวลานาน หากเราดูแลสุขภาพไม่ดีก็จะทำให้เกิดการเจ็บป่วยได้ง่าย โดยเฉพาะผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว ซึ่งต้องดูแลสุขภาพให้ดีเป็นพิเศษ

กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ขอแนะนำ การใช้อาหารเป็นยา ในช่วงนี้ โดยการนำพืชผักสมุนไพรในครัวที่มีรสเผ็ดร้อน เช่น ขิง ข่า ตะไคร้ พริกไทย ดีปลี กะเพรา โหระพา แมงลัก ฯลฯ มาปรุงเป็นเมนูอาหารที่ช่วยป้องกันและ บรรเทาอาการที่มักจะเกิดในช่วงฝนตกชุก เนื่องจากสมุนไพรที่มีรสเผ็ดร้อน จะมีส่วนประกอบหรือสารสำคัญเป็นน้ำมันหอมระเหย ซึ่งมีสรรพคุณช่วยกระตุ้นระบบไหลเวียนเลือด ทำให้เลือดลมไหลเวียนได้สะดวก ซึ่งจะสามารถช่วยบรรเทาอาการปวดตามร่างกายบรรเทาอาการวิงเวียนศีรษะได้ และยังช่วยกระตุ้นการหลั่งน้ำย่อย ช่วยขับลมในลำไส้ ป้องกันอาการท้องอืด จุกเสียด อาหารไม่ย่อย

อีกทั้ง ยังอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระและมีวิตามินที่จำเป็นต่อร่างกาย ซึ่งมีส่วนช่วยเสริมภูมิคุ้มกันของร่างกาย ช่วยให้ร่างกายแข็งแรง เมนูอาหารที่แนะนำและเหมาะที่จะรับประทานในช่วงนี้ ได้แก่ ต้มยำ ต้มโคล้ง แกงป่า แกงส้ม แกงเลียง เป็นต้น ในส่วนน้ำสมุนไพรที่แนะนำให้รับประทาน เช่น น้ำขิง น้ำตะไคร้ น้ำกะเพรา เป็นต้น

สำหรับกรณีโรคน้ำกัดเท้า ซึ่งเป็นโรคยอดฮิตในช่วงฤดูฝน ขอแนะนำทิงเจอร์ข่าไว้ใช้ในครัวเรือน ซึ่งมีวิธีการทำที่ไม่ยุ่งยากคือ

1. นำเหง้าข่าแก่ล้างน้ำให้สะอาด ทุบหยาบๆ ใส่ลงในโหลแก้ว

2. เติมแอลกอฮอล์ที่ใช้สำหรับล้างแผลลงไปพอท่วม

3. ปิดฝาให้สนิท หมักไว้ 7 วัน หมั่นคนเช้า – เย็น

4. เมื่อครบกำหนด กรองเอาแต่น้ำ บรรจุในภาชนะ พร้อมปิดฉลากให้ชัดเจน เพื่อป้องกันการนำไปใช้ที่ไม่ถูกวัตถุประสงค์

วิธีใช้ ใช้สำลีชุบทาบริเวณที่เป็นโรคน้ำกัดเท้าหรือกลากเกลื้อน อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง เช้า – เย็นจนกว่าจะหาย เมื่อหายดีแล้วให้ทาต่อไปอีก 2 สัปดาห์ เพื่อให้แน่ใจว่าโรคน้ำกัดเท้าหายสนิทดี โดยห้ามทาในบริเวณเนื้อเยื่ออ่อน และบริเวณแผลเปิด ทั้งนี้ทิงเจอร์ข่ายังเป็นยาสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติอีกด้วย

นายแพทย์เทวัญ ได้กล่าวในตอนท้ายว่า นอกจากนี้ ก็ควรที่จะดูแลสุขภาพของตนเองอย่างเหมาะสม โดยการหลีกเลี่ยง การตากฝน หากตัวเปียกฝน ควรรีบเช็ดตัวให้แห้ง ไม่สวมใส่เสื้อผ้าที่เปียกชื้น และรักษาความอบอุ่นของร่างกายอยู่เสมอ และ หากมีความจำเป็นต้องเดินตากฝนหรือต้องเดินลุยน้ำท่วมขัง ให้กางร่มและสวมรองเท้าบูททุกครั้ง ประกอบกับดูแลสุขภาพเท้า โดยเฉพาะง่ามนิ้วเท้าให้สะอาดและให้ปราศจากความอับชื้นอยู่เสมอ

หากเกิดข้อสงสัยเกี่ยวกับการใช้สมุนไพรหรือการแพทย์แผนไทย สามารถสอบถามกับแพทย์แผนไทยในหน่วยบริการของรัฐได้ทั่วประเทศ หรือติดต่อโดยตรงที่กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก 0 2149 5678 หรือช่องทางออนไลน์เฟซบุ๊กและไลน์แอดกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
……………………………………..11 สิงหาคม 2565……………………………………….