คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข ผนึกพลังกระทรวงสาธารณสุข กระทรวง อว. กระทรวงดิจิทัลฯ กรุงเทพมหานคร และ กสทช. ร่วมขับเคลื่อน “ก้าวต่อไปของการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข Big Rock 1: Health security”
คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) และ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)
ร่วมจัดการประชุมปรึกษาหารือ “ก้าวต่อไปของการปฎิรูปประเทศด้านสาธารณสุข Big Rock 1 : Health security” เพื่อหาแนวทางดำเนินงานการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข การจัดลำดับนโยบายและประเด็นสำคัญ ความเชื่อมโยงของการปฏิรูปกับแผนงาน บทบาทของ WHO-CCS PHE Program และ EPI (Ending Pandemic through Innovation) ในการสนับสนุนการขับเคลื่อนประเด็นปฏิรูปที่สำคัญอย่างต่อเนื่องในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ และทำให้เกิดเป็นรูปธรรมอย่างยั่งยืน ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 3-4 สิงหาคม 2565 และร่วมจัดงานแถลงข่าวในวันที่ 4 สิงหาคม 2565 ณ ห้องกมลทิพย์ โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพ
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้เกียรติเป็นประธานกล่าวเปิดงานแถลงข่าว กล่าวว่า “ความก้าวหน้าของงานปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุขอย่างต่อเนื่อง นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงระบบสาธารณสุขของประเทศ ในช่วงสถานการณ์การระบาดเชื้อโควิด 19 ที่ผ่านมา โดยเฉพาะด้านสาธารณสุขที่มีการสร้างความร่วมมือกันของทุกภาคส่วนและมีการพัฒนาแบบก้าวกระโดดจนเป็นที่ยอมรับของนานาชาติ ทั่วโลกที่ต่างชื่นชมศักยภาพการบริหารสถานการณ์ภาวะฉุกเฉิน
ในการประเมินของ UNHPR ชื่นชมการจัดระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ การมีส่วนร่วมของประชาชน อสม. ภาคส่วนต่างๆ เข้ามาร่วมมือกันแก้ปัญหาภายใต้การนำของรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพ สำหรับด้านการจัดการข้อมูลสุขภาพอาจมีข้อจำกัดอยู่บ้าง แต่ทุกฝ่ายต่างตระหนักหาสาเหตุของปัญหาร่วมกัน และร่วมมือกันพัฒนาด้านสารสนเทศอย่างรวดเร็วในช่วง 2 ปีนี้”
“ทั้งนี้ การจัดบริการสุขภาพปฐมภูมิ คือ ส่วนสำคัญในการสร้างความมั่นคงด้านสุขภาพ และความมั่นคงทางเศรษฐกิจ เมื่อประชาชนเข้าถึงระบบการรักษากับหมอครอบครัวได้ สะดวก รวดเร็ว ก็จะสามารถหยุดความรุนแรงของโรค และลดโรคแทรกซ้อน การทำให้ประชาชนแข็งแรง ไม่เจ็บป่วย ลดความสูญเสียรายได้ของครอบครัว ภาพรวมรายได้ทางเศรษฐกิจ และประหยัดงบประมาณการรักษาพยาบาลของประเทศได้ นโยบายสุขภาพปฐมภูมิของกระทรวงสาธารสุข ใช้คำ “3 หมอ” และการพัฒนาแนวทางการบริการปฐมภูมิให้เหมาะสมกับวิถีชีวิตของชุมชนในกรุงเทพมหานครเป็นความคาดหวังของทุกฝ่าย ที่พร้อมจะเข้ามามีส่วนร่วมเช่นเดียวกับการแก้ปัญหา การระบาดของโควิด-19”
“สำหรับการพัฒนาการแพทย์ปฐมภูมิในเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะนโยบายเรื่องการพัฒนากลุ่มอาสาสมัครซึ่งกระทรวงสาธารณสุขพร้อมสนับสนุนรูปแบบการพัฒนาศักยภาพกลุ่มอาสาสมัครในกรุงเทพมหานคร การพัฒนารูปแบบการจ่ายค่าตอบแทนผู้ให้บริการเพื่อให้เกิดการเข้าถึงการบริการปฐมภูมิได้อย่างมีประสิทธิภาพ และการเพิ่มศักยภาพการบริการด้วยการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพและการนำเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้มีนโยบาย จัดบริการสุขภาพทุกที่ ทุกเวลา แบบไร้รอยต่อ เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงบริการ ที่เน้นการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพและการนำนวัตกรรม เช่น ระบบ Telemedicine, Application Smart อสม, และอื่นๆ มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการรักษา จากแผนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนระบบสุขภาพดิจิทัลทั้ง 5 ด้านในวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นการเสริมสร้างธรรมาภิบาลด้านสุขภาพดิจิทัลในระดับชาติ”
“การเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบข้อมูลสุขภาพ การส่งเสริมนวัตกรรมการดูแลสุขภาพผ่านระบบสุขภาพดิจิทัล และการสร้างแพลตฟอร์มดิจิทัลด้านสุขภาพแห่งชาติ (National Digital Health Platform) และการพัฒนากําลังคนในด้านนี้ ทางกระทรวงสาธารณสุขเห็นว่า ยุทธศาสตร์ทั้ง 5 ด้านนี้ มีความสำคัญ และพร้อมร่วมผลักดันให้เป็นนโยบายระดับชาติ นำไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ของพี่น้องประชาชนที่จะสามารถเข้าถึงการบริการและการรักษาจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงระบบบริการสาธารณสุขของประเทศ เพื่อความมั่นคงและยั่งยืนต่อไป” นายอนุทิน กล่าวทิ้งท้าย
ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.อุดม คชินทร ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข กล่าวว่า “คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุขได้มีการดำเนินงานมาต่อเนื่อง ภายใต้แผนปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข และในช่วงสำคัญที่คณะกรรมการปฏิรูปประเทศกำลังจะหมดวาระการดำเนินการ การจัดประชุมการปรึกษาหารือก้าวต่อไป ในประเด็นสำคัญของการปฏิรูปที่ต้องการขับเคลื่อนและต่อยอดนโยบายการดำเนินงานในระยะกลางเพื่อให้เกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรม ถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้การปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุขสามารถดำเนินการได้อย่างมีระบบตรงตามนโยบายและแผนการปฏิรูปประเทศฯ เพราะมีหน่วยงานหลักสำคัญของประเทศ รวมถึงภาคีเครือข่ายต่างๆ ให้ความร่วมมือและสนับสนุนมาโดยตลอด”
“สำหรับการจัดประชุมปรึกษาหารือฯ ในครั้งนี้ ยังคงกำหนดประเด็นสำคัญ 3 ประเด็น ได้แก่
1. การปฏิรูปและสร้างความเข้มแข็งของระบบสุขภาพปฐมภูมิในกรุงเทพมหานคร
2. การพัฒนา Digital Health/Health Information Systems
3. การสร้างความเข้มแข็งของ NRA (National Regulatory Authority) โดยเฉพาะการ จัดให้มีรูปแบบการบริหารจัดการองค์กรแบบใหม่”
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า “จากความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในการสนับสนุนการนำนวัตกรรมทั้งทางด้านสังคมและเทคโนโลยีมาช่วยสนับสนุนการบริหารจัดการสถานการณ์การระบาดเชื้อโควิด-19 โดยนำแผนงานและกิจกรรมคณะปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข Big Rock 1 มาขับเคลื่อนภายใต้โปรแกรมยุติโรคระบาดด้วยนวัตกรรม (Ending Pandemics through Innovation)
โดย ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเซลส์ (TCELS) เป็นผู้ประสานงานหน่วยงานและขับเคลื่อนหลัก และสนับสนุนงบประมาณบางส่วนเพื่อร่วมขับเคลื่อนนั้น ส่งผลให้เกิดความสำเร็จและการผลักดันเชิงนโยบายที่เป็นรูปธรรมในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูปการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพของประเทศ การปฏิรูประบบบริการปฐมภูมิในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยความร่วมมือจากทั้งกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงแรงงาน กระทรวงการคลัง กรุงเทพมหานคร และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ก็เพื่อประโยชน์แก่การบริการสุขภาพประชาชน”
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก กล่าวเพิ่มเติมว่า “กระทรวง อว. ในฐานะหน่วยวิชาการ วิจัยและพัฒนา เราพร้อมให้การสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบาย ด้านวิชาการ การพัฒนานวัตกรรมทั้งด้านดิจิทัล Telemedicine การเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพจากโรงพยาบาล UHOSNET และงบประมาณเพื่อส่งเสริมการทำงานหน่วยบริการปฐมภูมิและการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพ ภายใต้ประเด็นการขับเคลื่อนการปฏิรูประบบฐานข้อมูลสุขภาพของประเทศให้มีประสิทธิภาพและเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้”
นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า “กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมพัฒนาและขับเคลื่อนงานปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุขในช่วง 1-2 ปี ที่ผ่านมากระทรวงดิจิทัลฯ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และกำลังคนด้านดิจิทัลเพื่อสนับสนุนการเชื่อมโยงข้อมูล และการพัฒนางานดิจิทัลสุขภาพของประเทศ ต้องยอมรับว่าระบบดิจิทัลและข้อมูลสุขภาพมีความสำคัญมากในการยกระดับการบริการด้านสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเบิกจ่าย การวินิจฉัย การเชื่อมต่อบริการปฐมภูมิสู่ทุติยภูมิและตติยภูมิ การบริหารจัดการข้อมูลเพื่อรองรับสถานการณ์โรคระบาดที่ผ่านมา
จากประเด็นความสำคัญดังกล่าว กระทรวงดิจิทัลฯ ได้ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข พัฒนาระบบเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพ (Health Information Exchange) ที่มีประสิทธิภาพ เพื่อเป้าหมายในการเพิ่มคุณภาพการบริการแก่ประชาชนได้ในที่สุด ผ่านระบบ Health Link ซึ่งมีระบบรักษาความปลอดภัยที่ได้รับมาตรฐานสากล และร่วมขับเคลื่อนประเด็นปฏิรูปประเทศเรื่อง Data Repository ให้สามารถเกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่มีประสิทธิภาพร่วมกับ 5 กระทรวง และสนับสนุนการเชื่อมโยงข้อมูลนำร่องในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 13 เพื่อให้เปิดการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง”
“ดีอี ร่วมกับ สธ. พัฒนาระบบคลาวด์ประจำเขตสุขภาพทั้ง 13 เขต เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับทาง สธ. ในการเชื่อมต่อและแบ่งปันข้อมูลสุขภาพ โดยรับงบประมาณสนับสนุนจาก สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ให้ดำเนินการงานดังกล่าว เกิดเป็นรูปธรรมจากนโยบายและยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนทั้ง 5 ด้าน เรื่องการพัฒนามาตรฐานและการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพของประเทศนั้น ดีอี พร้อมให้การสนับสนุนทั้งด้านกำลังคนและงบประมาณในการร่วมขับเคลื่อนให้เกิดการบูรณาการข้อมูลสุขภาพของประเทศให้เกิดขึ้นจริง เราหวังว่าการปฏิรูปการเชื่อมโยงข้อมูลและสุขภาพดิจิทัลในครั้งนี้จะนำไปสู่การพัฒนางานบริการสุขภาพอื่นๆ ของประชาชนให้สามารถเข้าถึงการบริการและอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนสร้างความมั่นคงด้านสุขภาพในอนาคต” นายชัยวุฒิ กล่าวทิ้งท้าย
รองศาสตราจารย์ ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า “เราต้องยอมรับว่าการบริหารจัดการด้านสาธารณสุขภายในกรุงเทพมหานครเป็นเรื่องใหญ่และมีความสำคัญมาก ซึ่งจะเห็นได้จากช่วงสถานการณ์การระบาดเชื้อโควิด-19 ที่ผ่านมา กรุงเทพมหานครเป็นเหมือนจุดยุทธศาสตร์ทั้งด้านเศรษฐกิจและด้านอื่นๆ และมีความซับซ้อนด้านประชากรอย่างยิ่ง เมื่อการควบคุมโรคหรือการบริการไม่มีประสิทธิภาพก็จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยภาพรวมด้วย กทม.จึงได้จัดทำนโยบายด้านสุขภาพไว้กว่า 34 ข้อ เพื่อพัฒนาและยกระดับคุณภาพ”
“ชีวิตประชาชนกรุงเทพมหานครและที่อาศัยอยู่นั้น ให้สามารถเข้าถึงการบริการได้อย่างเท่าเทียม ระบบบริการปฐมภูมิเป็นหน่วยบริการที่มีความสำคัญในการขับเคลื่อนเชิงนโยบาย เพราะเป็นหน่วยเชื่อมต่อการบริการสุขภาพพื้นฐานสู่การบริการระดับทุติยภูมิและตติยภูมิ จากการประชุมแนวทางการปฏิรูประบบบริการปฐมภูมิครั้งก่อน กรุงเทพมหานครได้ดำเนินการ เพื่อขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าว ให้เกิดเป็นรูปธรรม โดยได้รับความร่วมมือและ ความช่วยเหลือจากกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานอื่นๆ เป็นอย่างดี
ตัวอย่างเช่น การขับเคลื่อนราชพิพัฒน์ model (Sandbox) เป็นหนึ่งนโยบายที่เราจะทดลองการทำงานภายใต้ข้อเสนอแนะของคณะปฏิรูป และนำไปสู่การขยายผลในพื้นที่อื่นๆ การบริการจัดการระดับเขต System manager model เป็นส่วนที่มีความสำคัญและเราคิดว่าจะมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาแนวทางการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพเพื่อให้เกิดความยั่งยืนในเชิงระบบ ร่วมถึงการเพิ่มจำนวนอาสาสมัครในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ให้เพียงพอและคลอบคลุมกลุ่มประชากร เพิ่มการนำเทคโนโลยี Telemedicine เข้ามายกระดับการบริการซึ่งสอดคล้องกับนโยบายการสนับสนุนการเชื่อมโยงข้อมูล สุขภาพและบริการโดยจากความร่วมมือของ 12 หน่วยงานภายใต้เขตสุขภาพที่ 13 และสำนักการแพทย์ สำนักอนามัย เป็นหน่วยงานขับเคลื่อนที่สำคัญ”
รองศาสตราจารย์ ดร.ชัชชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า “กรุงเทพมหานคร พร้อมให้ความร่วมมือ และให้นโยบายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมดำเนินการ เพื่อให้โครงการดังกล่าวสำเร็จและเกิดเป็นรูปธรรม และพร้อมให้ความร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข ในการขับเคลื่อนแนวทางการปฏิรูปประเทศไปด้วยกัน”
ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์ สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ กล่าวว่า “การร่วมขับเคลื่อนแผนการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข Big Rock 1 คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่วิทยุและกำกับการประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึง เราได้จัดตั้งกองทุนการบริการเพื่อสังคม (Universal Service Obligation) เรียกโดยย่อว่า USO เป็นหนึ่งในภารกิจหลักของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ บริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึง อันจะเป็นประโยชน์ในการลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการโทรคมนาคม”
“ทั้งนี้ ในช่วงสถานการณ์ที่ผ่านมาเราพบการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีและบริการด้านสาธารณสุขของประเทศมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก เทคโนโลยีดิจิทัลและข้อมูลเข้ามามีบทบาทสำคัญ และเป็นตัวกำหนดในการเข้าถึงการบริการด้านสุขภาพของประชาชนอย่างมาก กสทช. เล็งเห็นความสำคัญดังกล่าว จึงได้จัดสรรงบประมาณบางส่วน เพื่อสนับสนุนการขยายผลการระบบดิจิทัล Telemedicine ช่วยส่งเสริมการบริการด้านสาธารณสุข โดยส่วนที่เราได้เริ่มนำร่องไปแล้ว คือ การจัดสรรงบประมาณร่วมสนับสนุนกระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อจัดทำคลาวด์สำหรับเขตสุขภาพช่วยให้การเชื่อมต่อข้อมูลสุขภาพของประเทศให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น”
“จากข้อเสนอการขับเคลื่อนเชิงยุทธศาสตร์ทั้งในด้านการปฏิรูประบบบริการปฐมภูมิในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพ กสทช. พร้อมให้การสนับสนุนทั้งในเชิงนโยบายและงบประมาณให้เกิดการขับเคลื่อนที่เป็นรูปประธรรม ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางด้านการสื่อสารเพิ่มประสิทธิภาพการบริการปฐมภูมิด้วยระบบ Telemedicine
ซึ่งตามนโยบายของท่านผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่ได้กล่าวไว้ ในนโยบายการขับเคลื่อนและการผลักดันให้เกิดมาตรฐานข้อมูล สำหรับการแลกเปลี่ยนข้อมูลในหน่วยบริการปฐมภูมิซึ่งก็จะเชื่อมกับการพัฒนาแพลตฟอร์มกลาง ในการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพของประเทศตามยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนข้อที่ 5 ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดรูปธรรม การเริ่มนำร่องในบางเขตก่อนจะช่วยให้ขยายผลงานดังกล่าวไปทั่วประเทศ” ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์ สรณ กล่าวปิดท้าย