วันที่ 4 สิงหาคม 2565 นำแถลงข่าวโดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข, นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข, นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา, กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง โดย พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก.,พล.ต.ต.ณัฐศักดิ์ เชาวนาศัย รอง ผบช.ก.,พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปคบ., พ.ต.อ.ธรากร เลิศพรเจริญ รอง ผบก.ปอท. รรท.รอง ผบก.ปคบ., พ.ต.อ.เนติ วงษ์กุหลาบ ผกก.4 บก.ปคบ. ร่วมกัน แถลงผลการปฏิบัติงาน กรณีจับกุม
1. นายประเสริฐ (สงวนนามสกุล) ผู้ต้องหาตามหมายจับ ศาลอาญา ที่ 1514/ 2565 ลงวันที่ 1 สิงหาคม 2565,
2. นางสาว ขนิษฐา (สงวนนามสกุล) ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญาที่ 1516/2565 ลงวันที่ 1 สิงหาคม 2565
3. นางสาว ฉลวยรัตน์ (สงวนนามสกุล) กระทำความผิดฐาน “ร่วมกันขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต, ร่วมกันขายยาที่ไม่ขึ้นทะเบียนตำรับยา”
สืบเนื่องจาก กก.4 บก.ปคบ. ได้รับเรื่องร้องเรียนและแจ้งเบาะแสจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ว่ามีการลักลอบขายยากลุ่มรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 ผ่านสื่อออนไลน์ผิดกฎหมายจำนวนมาก ซึ่งยาในกลุ่มนี้มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการขึ้นทะเบียนตำรับจาก อย. และผ่านการตรวจสอบคุณภาพมาตรฐาน รวมถึงการใช้ยาดังกล่าวต้องได้รับการสั่งจ่ายจากแพทย์ เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายหรือผลกระทบกับสุขภาพของผู้ป่วย
เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. ทำการสืบสวน พบว่ามีการขายยาผ่าน สื่อออนไลน์ในแพลตฟอร์มต่าง ๆ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้ให้สายลับทำการสั่งซื้อยาดังกล่าวผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย (เฟซบุ๊ก,อินสตาแกรม,ฯลฯ) จำนวน 2 ร้าน เมื่อได้ผลิตภัณฑ์มาแล้วจึงได้ทำการตรวจสอบเพิ่มเติม ทราบว่าตัวยาจากทั้ง 2 ร้าน ได้ถูกจัดส่งจากสถานที่เดียวกัน เป็นบ้านหลังหนึ่งในพื้นที่ เขตวังทองหลาง ซึ่งเชื่อได้ว่าเป็นสถานที่จัดเก็บและกระจายสินค้า เจ้าหน้าที่จึงได้รวบรวมพยานหลักฐานเพื่อขออนุมัติหมายค้นจากศาลอาญา เข้าตรวจค้นบ้านหลังดังกล่าวในซอยลาดพร้าว 80/3 แขวงวังทองหลาง เขตวังทองหลาง กรุงเทพมหานคร ผลการตรวจค้นพบผลิตภัณฑ์ยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา ดังนี้
1. ยา Monulpiravir ขนาด 200 มก. ยี่ห้อ Mylan จำนวน 1351 กล่อง
2. ยา Monulpiravir ขนาด 200 มก. ยี่ห้อ Azista จำนวน 200 กล่อง
3. ยา Monulpiravir ขนาด 200 มก. ยี่ห้อ XENON จำนวน 300 กล่อง
4. ยา Favipiravir ขนาด 400 มก. ยี่ห้อ XENOn จำนวน 270 กล่อง
รวมของกลางมูลค่าประมาณ 9,500,000 บาท โดยมีนางสาวฉลวยรัตน์ (สงวนนามสกุล) รับว่าเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์ยาข้างต้นมีไว้เพื่อจำหน่ายให้ลูกค้า จึงได้เชิญตัวไปพบพนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปคบ. และแจ้งข้อกล่าวหาตาม พ.ร.บ. ยา พ.ศ. 2510 และยึดผลิตภัณฑ์ยาดังกล่าวไว้เป็นของกลาง
ต่อมาได้ทำการสืบสวนขยายผลจนทราบแหล่งที่มาและสถานที่จัดเก็บและกระจายยาดังกล่าว เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้ทำการรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อดำเนินการกับผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด ต่อมาในวันที่ 2 สิงหาคม 2565 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. พร้อมเจ้าหน้าที่จาก อย. ร่วมกันนำหมายค้นของศาลอาญาตลิ่งชันจำนวน2 หมาย เข้าตรวจค้นบ้านพักในพื้นที่ซอยราชพฤกษ์ 9 แขวงบางเชือกหนัง เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร
ผลการตรวจค้นพบผลิตภัณฑ์ยากลุ่มยารักษาผู้ติดเชื้อโควิด 19 และยาอื่น ๆ ที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยาจำนวน 8 รายการ ประกอบด้วย
1. ยา FAVIKAST ขนาด 400 มก. จำนวน 20 กล่อง
2. ยา MOLAZ ขนาดบรรจุ 40 เม็ด จำนวน 30 กล่อง
3. ยา REDEMSIVIR 100 mg/vial จำนวน 7 กล่อง
4. FABIS SPRAY จำนวน 75 กล่อง
5. ยา MOLNATRIS ขนาด 200 มก. จำนวน 82 กล่อง
6. ยา MOLUZEN ขนาด 200 มก. จำนวน 33 กล่อง
7. MOLCOVIR ขนาด 200 มก. จำนวน 3 กล่อง
8. FERAVIR ขนาด 200 มก. จำนวน 10 กล่อง
รวมมูลค่าของกลางประมาณ 1 ล้านบาท ซึ่งขณะตรวจค้น พบนายประเสริฐ ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญา ที่ 1514/2565 ลงวันที่ 1 สิงหาคม 2565 แสดงตนเป็นเจ้าบ้านและเจ้าของยาดังกล่าว จึงได้จับกุมตัวนายประเสริฐ ตามหมายจับและตรวจยึดยาข้างต้นเป็นของกลาง นำส่งพนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปคบ. โดยผู้ต้องหาให้การว่ายาดังกล่าวสั่งซื้อมาจากประเทศอินเดียผ่านตัวแทนขายโดยกลุ่มผู้นำเข้าไม่เคยมีความรู้หรือใบประกอบวิชาชีพทางเภสัชกรรมแต่อย่างใด
ต่อมาในวันที่ 3 สิงหาคม 2565 ได้ขยายผลจับกุมผู้ค้ารายย่อยในขบวนการดังกล่าวได้อีก 1 ราย คือนางสาว ขนิษฐา (สงวนนามสกุล) ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญาที่ 1516/2565 ลงวันที่ 1 สิงหาคม 2565
ส่งพนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปคบ. กระทำของผู้ต้องหาทั้งสองรายดังกล่าวเป็นความผิดตาม
1. พ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 มาตรา 12 ฐาน “ขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต” ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 10,000 บาท
2. พ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 มาตรา 72(4) “ขายยาที่ไม่ขึ้นทะเบียนตำรับยา” ต้องระวางโทษจำคุก ไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกินห้าพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากการประสานทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงสาธารณสุข โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค(บก.ปคบ.) ในการสืบหาแหล่งขายยาโมลนูพิราเวียร์ที่ผิดกฎหมายทางสื่อออนไลน์ พบมีการลักลอบนำเข้ายาที่ใช้รักษาโควิด-19 เช่น Molnupiravir , Favipiravir , Remdesivir สเปรย์พ่นจมูกที่มีส่วนประกอบของ Nitric Oxide ฯลฯ โดยยาดังกล่าวลักลอบนำเข้าโดยผู้ที่ไม่ได้รับอนุญาต ไม่ผ่านการตรวจสอบจากด่านอาหารและยา และเป็นยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา ไม่ผ่านการพิจารณาเรื่องคุณภาพ ประสิทธิภาพและความปลอดภัยของยา
โดยปฏิบัติการครั้งนี้ได้จับกุมเครือข่ายลักลอบขายยารักษาโควิดได้จำนวน 3 รายผลการจับกุมได้ของกลางที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยาทั้งหมดรวมกว่า 2,300 กล่อง ประมาณ 80,000 เม็ดมีมูลค่ากว่า 10 ล้านบาท โดยผู้ต้องหารู้จักกับคนอินเดียให้ช่วยซื้อให้และส่งมาจากประเทศอินเดีย ลักลอบนำเข้ามาในประเทศไทย ส่วนใหญ่ลักลอบนำเข้าผ่านทางด่านศุลกากรไปรษณีย์ แจ้งวัฒนะ ทั้งนี้ มียาบางส่วนที่ผู้ต้องหาหิ้วติดตัวทยอยนำเข้า โดยทำมาแล้วประมาณ 2 เดือน
ขอเรียนพี่น้องประชาชนว่าไม่ควรซื้อยาออนไลน์กินเอง ยาโมลนูพิราเวียร์ เป็นยาควบคุมพิเศษ ต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยและสั่งจ่ายยาโดยแพทย์ถึงจะมีความปลอดภัย ต้องเลิกคิดซื้อมาตุนสำรองไว้ที่บ้าน โรคโควิดต้องให้แพทย์รักษา กินยาตามแพทย์สั่ง หากประชาชนซื้อยาดังกล่าวไปรับประทานเอง อาจได้ยาปลอมที่ไม่มีตัวยาสำคัญหรือยาที่ไม่มีคุณภาพและประสิทธิภาพในการรักษาโควิด-19 ไม่สามารถมั่นใจได้ว่าปลอดภัยและอาจก่อให้เกิดเชื้อดื้อยาได้ ผู้ป่วยโควิดตอนนี้หากติดเชื้อควรไปพบแพทย์ ขอย้ำว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะได้ยาต้านไวรัสโมลนูพิราเวียร์หรือฟาวิพิราเวียร์ ขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์
พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. ฝากความห่วงใยมายังพี่น้องประชาชนว่า ควรใช้ความระมัดระวังในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ยาเพื่อรักษาโรคโควิด-19 และยาอื่น ๆ เนื่องจากยาเป็นปัจจัยพื้นฐานอย่างแรกที่ประชาชนจะเข้าถึงเพื่อใช้รักษาอาการเจ็บป่วย หากได้รับยาที่ไม่มีคุณภาพอาจเกิดการดื้อยา, ไม่หายจากการเจ็บป่วยและเสี่ยงแพร่เชื่อไปยังผู้อื่นซึ่งส่งผลถึงชีวิตได้ และขอเตือนผู้ที่ลักลอบขายยารักษาโควิด-19 ที่ไม่ได้รับอนุญาต ให้หยุดการกระทำดังกล่าวทันที เนื่องจากการขายยาออนไลน์ยังเป็นความผิดอยู่ และต้องรับโทษทั้งปรับและจำคุก หากตรวจพบจะดำเนินคดีถึงที่สุด เพราะท่านกำลังทำให้ผู้ป่วยโควิดหรือผู้ที่ต้องการใช้ยาดังกล่าวได้รับความเสี่ยงจากการใช้ยาและเข้าสู่กระบวนการรักษาที่ไม่ถูกต้อง
ทั้งนี้ หากประชาชนพบเห็น การกระทำความผิด สามารถแจ้งได้ที่สายด่วน ปคบ. 1135 หรือเพจ ปคบ. เตือนภัยผู้บริโภค หรือแจ้งสายด่วน อย. 1556 อีเมล์ 1556@fda.moph.go.th
************************************
วันที่เผยแพร่ข่าว 4 สิงหาคม 2565 แถลงข่าว 27 / ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565
“การแถลงข่าวในครั้งนี้เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อประชาชน”
ข้อมูล : https://bit.ly/3vAQrNO