นายอำพันธุ์ เวฬุตันติ อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีนโยบายในการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ภาคการเกษตร โดยการดูแลเกษตรกรให้มีรายได้ที่เหมาะสมด้วยวิธีต่าง ๆ ทั้งการลดต้นทุนการผลิต การช่วยเหลือในเรื่องปัจจัยการผลิตอย่างทั่วถึง การช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อย รวมถึงการใช้กลไกการตลาดดูแลราคาสินค้าเกษตร
โดยสนับสนุนให้เกษตรกรมีการรวมกลุ่มทำการผลิต การบริหารจัดการร่วมกันและรวมกันจำหน่าย โครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ เป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของรัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรรายย่อยในพื้นที่ใกล้เคียงมีการรวมตัวกัน เพื่อร่วมกันผลิตสินค้าเกษตร ร่วมกันบริหารจัดการ รวมถึงร่วมกันจำหน่าย ซึ่งจะทำให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต เชื่อมโยงตลาดได้มากขึ้นและเพิ่มโอกาสในการแข่งขัน โดยมีหน่วยงานภาครัฐและภาคีเครือข่ายให้การสนับสนุน
ทั้งนี้รายงานตัวเลข ณ วันที่ 3๐ มิถุนายน ๒๕๖๕ มีจำนวนเกษตรแปลงใหญ่ ตั้งแต่ปี ๒๕๕๙ – ๒๕๖๕ จำนวน ๘,๙๔๒ แปลง จำนวนเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ ๔๙๖,๕๕๙ ราย คิดเป็นพื้นที่รวม 8,๐๑๒,๓๒๕ ไร่ ทั้งนี้ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ได้ร่วมเป็นหน่วยงานสนับสนุนการดำเนินงานในโครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ โดยบูรณาการขับเคลื่อนการนำระบบบัญชีไปวางรากฐานในการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกร สามารถจัดทำบัญชีรับ – จ่าย ในครัวเรือน และบัญชีต้นทุนประกอบอาชีพ และนำข้อมูลทางบัญชีไปใช้ในการบริหารจัดการภาคการเกษตรได้ รู้รายรับ รายจ่าย สามารถวางแผนการผลิตและการตลาดให้ตรงตามช่วงเวลาที่เหมาะสม
โดยมีอาสาสมัครเกษตรด้านบัญชี เป็นกำลังสำคัญในการถ่ายทอดความรู้ด้านการจัดทำบัญชีรายบุคคลอย่างเข็มแข็ง มุ่งสร้างเกษตรกรที่สามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลทางบัญชีในการเพิ่มศักยภาพในการประกอบธุรกิจรายสินค้าตามรายอาชีพ ในพื้นที่แปลงใหญ่ได้อย่างเป็นรูปธรรม
อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กล่าวอีกว่า กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ได้สร้างเสริมความรู้การจัดทำบัญชีแก่เกษตรกรและสมาชิกสถาบันเกษตรกร ด้วยการอบรมการจัดทำบัญชีต้นทุนประกอบอาชีพ พร้อมกำกับแนะนำและติดตามการทำบัญชีของสมาชิกแปลงใหญ่ โดยเน้นให้ทำบัญชีได้ ใช้ข้อมูลทางบัญชีเป็นและสามารถจัดทำบัญชีเป็นประจำสม่ำเสมอและยั่งยืน เพื่อให้เกษตรกรมีความรู้ความเข้าใจ สามารถจัดทำบัญชีและวิเคราะห์ต้นทุนอาชีพได้อย่างถูกต้อง สามารถนำข้อมูลทางบัญชีไปใช้ประโยชน์ในการประกอบอาชีพได้อย่างเหมาะสม และมีการปรับเปลี่ยนอาชีพ ลดต้นทุนการผลิตเพิ่มรายได้และสร้างเงินออม
โดยในปีงบประมาณ ๒๕๖๕ เกษตรกรเป้าหมายได้รับการพัฒนาความรู้ด้านการจัดทำบัญชีต้นทุนอาชีพ จำนวน 15,702 คน คิดเป็นร้อยละ 100.01 ของจำนวนเป้าหมาย และเกษตรกรที่มีความรู้และความเข้าใจในการจัดทำบัญชี จำนวน 11,060 คน คิดเป็นร้อยละ 70.44 ของจำนวนเป้าหมาย (ข้อมูล ณ วันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๖๕) ซึ่งกรมฯ จะมีการวิเคราะห์ผลการดำเนินงาน เพื่อปรับปรุงแนวทางการพัฒนางานส่งเสริมการจัดทำบัญชีให้บรรลุเป้าหมาย และสรุปประเมินผลโครงการ ซึ่งจะแล้วเสร็จในไตรมาสที่ ๔ ของปีงบประมาณ ๒๕๖๕
“กรมฯ มีเครือข่ายที่สำคัญ คือ ครูบัญชีอาสา ซึ่งปัจจุบันมีจำนวน 7,636 คน ครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศ ช่วยเข้าไปสอนแนะนำการทำบัญชีให้เกษตรกรเหล่านี้สามารถใช้ข้อมูลจากบัญชีวิเคราะห์ ปรับเปลี่ยนวิธีการผลิตและปรับเปลี่ยนอาชีพได้อย่างเหมาะสม ตลอดจนรู้ทุนต้นกำไรที่แท้จริงของตนเองได้” อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กล่าว
ด้านนายเกียรติศักดิ์ กายสุต ประธานเครือข่ายคณะกรรมการแปลงใหญ่ จังหวัดนครสวรรค์ กล่าวว่า จากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้บริษัท โรงงาน ห้างร้านต่าง ๆ ปิดตัวลง ทำให้ลูกหลานที่ทำงานในเมืองกลับมาที่ภูมิลำเนาเพิ่มมากขึ้น เพื่อมาทำอาชีพเกษตรกรสานต่ออาชีพดั้งเดิมของครอบครัว คนกลุ่มนี้ให้ความสำคัญในเรื่องการทำบัญชีมากกว่าคนรุ่นเก่า นอกจากเรื่องบัญชีแล้ว ยังให้ความสนใจในเรื่องการแปรรูปเพิ่มมูลค่าผลผลิตและเรื่องของตลาดอีกด้วย” ประธานเครือข่ายคณะกรรมการแปลงใหญ่ จังหวัดนครสวรรค์ กล่าว