รัฐบาลโชว์ผลงานด้านทรัพยากรน้ำ เร่งขับเคลื่อนตามแผนแม่บท-ยุทธศาสตร์ชาติ

รัฐบาลเดินหน้าภารกิจด้านทรัพยากรน้ำตามแผนแม่บทฯและยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เน้นสร้างความเข้มแข็งการบริหารจัดการน้ำของชุมชน เผยผลงานสามารถขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญตั้งแต่ปี 59-65 ไปแล้วถึง 43 โครงการ พื้นที่ได้รับประโยชน์กว่า 1.5 ล้านไร่ พัฒนาโครงการขนาดเล็กถึง 26,902 แห่ง ช่วยลดปัญหาท่วม-แล้งในภาวะวิกฤติ

ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ได้ขับเคลื่อนการดำเนินภารกิจด้านทรัพยากรน้ำ ภายใต้แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ที่เชื่อมโยงกับแผนแม่บทลุ่มน้ำ แผนจังหวัดและแผนชุมชน ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มาอย่างต่อเนื่อง โดยให้ความสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งการบริหารจัดการน้ำของชุมชน ซึ่งจากการดำเนินการตามแผนแม่บทน้ำฯ ตั้งแต่ปี 2561 – ปัจจุบัน พบว่า สามารถเพิ่มประสิทธิภาพประปาหมู่บ้านได้ถึง 4,973 แห่ง พัฒนาแหล่งน้ำผิวดินสามารถเก็บกักน้ำได้เพิ่มขึ้น 1,189 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) พัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรได้ปริมาณน้ำ 149 ล้าน ลบ.ม. ดำเนินการก่อสร้างระบบป้องกันอุทกภัย มีพื้นที่ที่ได้รับการป้องกัน 32,005 ไร่ ประชาชนได้รับการป้องกัน 27,364 ครัวเรือน สร้างระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสียรวมของชุมชน 14 แห่ง และอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าต้นน้ำได้ถึง 156,070 ไร่ ขณะที่การปฏิบัติการฝนหลวงเติมน้ำให้แหล่งน้ำได้ 314 ล้าน ลบ.ม. (ปี 64 – ปัจจุบัน)

นอกจากนี้ ที่ผ่านมา กนช. ยังเห็นชอบโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่และโครงการสำคัญแล้ว 43 โครงการ และได้เริ่มดำเนินการแล้ว 25 โครงการ เมื่อแล้วเสร็จสามารถเก็บกักน้ำได้ 1,571 ล้าน ลบ.ม. มีพื้นที่ได้รับประโยชน์ 1.57 ล้านไร่ มีประชาชนได้รับประโยชน์กว่า 267,128 ครัวเรือน เช่น โครงการอ่างเก็บน้ำลำสะพุงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.ชัยภูมิ โครงการปรับปรุงคลองยม-น่าน โครงการประตูระบายน้ำน้ำพุง-น้ำก่ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.สกลนคร โครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง โครงการขยายเขต กปภ.บ้านฉาง รองรับ EEC โครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองนครศรีธรรมราชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ แผนหลักการพัฒนาฟื้นฟูคลองแสนแสบ เป็นต้น และภายในปี 2567 มีเป้าหมายดำเนินการอีก 69 โครงการ อาทิ อ่างฯแม่ตาช้าง จ.เชียงราย โครงการผันน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ (ระยะที่ 1) จ.กาญจนบุรี ระบบสูบกลับคลองสะพาน-อ่างฯประแสร์ เส้นที่ 2 จ.ระยอง โครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรพื้นที่ดำเนินการพื้นที่ ส.ป.ก. จ.กระบี่ และแก้มลิงบึงละหาน จ.ชัยภูมิ ซึ่งเมื่อแล้วเสร็จจะสามารถเก็บกักน้ำได้รวมกัน 7,560 ล้าน ลบ.ม.

เลขาธิการ สทนช. กล่าวต่อว่า รัฐบาลไม่เพียงขับเคลื่อนโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่เท่านั้น แต่ยังให้ความสำคัญโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก เพราะสามารถบรรเทาผลกระทบจากภัยแล้งและน้ำท่วมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตรงตามความต้องการของประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง โดยในช่วงปี 2563-2564 ได้ดำเนินการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก ระบบกระจายน้ำเพื่อสนับสนุนน้ำอุปโภค-บริโภค รวมถึงการเกษตร ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศรวมทั้งสิ้น 26,902 แห่ง ซึ่งปัจจุบันโครงการ ได้ดำเนินการแล้วเสร็จทั้งหมด สามารถเก็บกักน้ำฝนใช้ประโยชน์ช่วงฤดูแล้งได้ 738.3 ล้าน ลบ.ม. ครอบคลุมพื้นที่ 7.5 ล้านไร่ ประชาชนได้รับประโยชน์กว่า 3.4 ล้านครัวเรือน แบ่งเป็น ภาคเหนือ 6,120 แห่ง ภาคกลาง 4,694 แห่ง ภาคตะวันออก 1,469 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 11,978 แห่ง และภาคใต้ 2,641 แห่ง ขณะเดียวกันยังเกิดการจ้างแรงงานถึง 184,000 ราย

อย่างไรก็ตามในการขับเคลื่อนผลงานด้านทรัพยากรน้ำนั้น ย่อมมีอุปสรรคและปัญหาเกิดขึ้น โดยเฉพาะโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ซึ่ง สทนช. ได้เร่งบูรณาการแก้ไขปัญหาเพื่อให้การขับเคลื่อนโครงการเป็นไปตามเป้าหมาย อาทิ การเร่งสร้างความเข้าใจกับประชาชนที่ได้รับผลกระทบ โดยพิจารณาแนวทางการชดเชยเยียวยาที่มีเป็นธรรมและเหมาะสม พร้อมจัดสรรพื้นที่รับประโยชน์ให้ผู้ได้รับผลกระทบ รวมถึงประสานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่อนุรักษ์ หรือการปรับแผนการดำเนินงานก่อสร้างกรณีที่เกิดปัญหาจากผู้รับจ้าง เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์ได้โดยเร็วตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ส่วนโครงการที่ยังไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณได้เร่งรัดให้หน่วยงานเจ้าของโครงการพิจารณากรอกคำขอรับงบประมาณในระบบ Thai Water Plan (TWP) โดยโครงการพัฒนาทรัพยากรน้ำต้องไม่ซ้ำซ้อน เกิดประโยชน์กับประชาชนอย่างแท้จริง และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจของประเทศควบคู่กันด้วย.

สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ
29 กรกฎาคม 2565