ผลสำเร็จจากโครงการความร่วมมือ ไทย – ญี่ปุ่น ระหว่างกรมส่งเสริมสหกรณ์กับองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) “โครงการการจัดการหลังเก็บเกี่ยวและการพัฒนาฐานชุมชนสำหรับผลิตภัณฑ์ชุมชน (กาแฟอาราบิกา)” ซึ่งเป็นโครงการภายใต้ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ด้านการเชื่อมโยงท้องถิ่นสู่ท้องถิ่น (Local to Local Linkage)
โดยสำนักงานสหกรณ์จังหวัดเชียงใหม่ร่วมกับสหกรณ์การเกษตรดอยสะเก็ดพัฒนา จำกัด พัฒนาต่อยอดอาชีพเกษตรกรสมาชิกสหกรณ์ผู้ปลูกกาแฟ ภายใต้แบรนด์ “Doi Saket Coffee Green” ไม่เพียงการสร้างรายได้ที่ยั่งยืน มั่นคงแก่เกษตรกรสมาชิกแล้ว ยังช่วยสร้างความสมดุลอย่างยั่งยืนระหว่างผืนป่ากับชุมชน ให้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างดีด้วย
ล่าสุดสหกรณ์การเกษตรดอยสะเก็ดพัฒนา จำกัด ตำบลเชิงดอย อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ คว้ามาได้ 1 รางวัลจากการประกวดโครงการสุดยอดกาแฟไทย ประจำปี2565 (Thai Coffee Excellence 2022) โดยสหกรณ์การเกษตร ดอยสะเก็ดพัฒนา จำกัด ได้รับรางวัลอันดับที่ 3 ประเภทกาแฟอาราบิกาแบบแห้ง (Dry / Natural Process) ระดับคะแนน 86.31
นอกจากนี้ นายอานนท์ พวงเสน ซึ่งเป็นทายาทสมาชิกสหกรณ์การเกษตรดอยสะเก็ดพัฒนา จำกัด ได้รับรางวัลอันดับที่ 2 ประเภท กาแฟอาราบิกาแบบกึ่งแห้ง (Semi-Dry/Honey Process) ระดับคะแนน 86.11พร้อมรับถ้วยรางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารีและเงินรางวัล โดยมีนางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีรับถ้วยพระราชทาน พร้อมมอบเงินรางวัลแก่ผู้ชนะการประกวดดังกล่าว
นายอานนท์ พวงเสน ทายาทของสมาชิกสหกรณ์การเกษตรดอยสะเก็ดพัฒนา จำกัด จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งได้รับรางวัลอันดับที่ 2 ประเภท กาแฟอาราบิกาแบบกึ่งแห้ง (Semi-Dry/Honey Process) ในครั้งนี้ กล่าวว่ารู้สึกดีใจและภูมิใจในอาชีพปลูกกาแฟ ซึ่งเป็นอาชีพของครอบครัวที่สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน บนเนื้อที่ 30 ไร่เศษ ในตำบลเทพเสด็จ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่
“ผมจบป.ตรีจากมหาวิทยาลัยพายัพ สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ จบออกมาก็ทำงานบริษัทอยู่พักใหญ่ ก่อนจะลาออกมาปลูกกาแฟเป็นอาชีพของครอบครัว เนื่องจากพ่อแม่อายุมากขึ้นเริ่มทำไม่ไหว หลังมาทำสวนกาแฟได้ประมาณ 1 ปี ทางสหกรณ์ฯดอยสะเก็ดพัฒนา เขาก็มาส่งเสริมการทำกาแฟคุณภาพ ผมก็เลยเข้าร่วมโครงการกับเขา แล้วมีผู้เชี่ยวชาญจากไจก้าประเทศญี่ปุ่น เจ้าหน้าที่จากกรมส่งเสริมสหกรณ์ และเจ้าหน้าที่สำนักงานสหกรณ์จังหวัดเชียงใหม่ มาส่งเสริมวิธีการว่า ทำอย่างไรให้กาแฟมีคุณภาพ ทำอย่างไรให้กาแฟมีรสชาติที่ดีขึ้น” นายอานนท์เผย
พร้อมอธิบายขั้นตอนการ แปรรูปกาแฟอาราบิก้าแบบกึ่งแห้ง ซึ่งเป็นผลงานเด่นที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ว่า หลังเก็บเมล็ดเชอรี่สีแดงสุกมาแล้วทำความสะอาด จากนั้นก็กะเทาะเปลือกออก แต่จะไม่ล้างเมือกที่ติดกับเมล็ดกาแฟออกแล้วนำไปตาก จากนั้นปล่อยให้แห้งใช้ระยะเวลาประมาณ 10-15 วันขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ ซึ่งต่างจากการ แปรรูปแบบแห้งที่เก็บเมล็ดเชอรี่สีแดงสุกแล้วนำมาตากแดดทันทีโดยที่ไม่ต้องกะเทาะเปลือกออก ตากแดดให้ค่อย ๆ แห้งไปใช้ระยะเวลาประมาณ 20-30 วัน
“ถามว่าแบบไหนดีกว่ากัน ดีคนละแบบ เพราะมันจะแตกต่างกันทั้งด้วยกระบวนการและกลิ่น อย่างแบบแห้งรสชาติกาแฟจะเป็นธรรมชาติที่สุดแล้ว เพราะไม่ได้ผ่านกระบวนการอะไรทั้งสิ้นแค่ตากเฉยๆ แต่วิธีการแบบกึ่งแห้ง ทุกขั้นตอนจะต้องพิถีพิถันอย่างมาก อย่างเช่นการเก็บเมล็ดกาแฟจะต้องเก็บเมล็ดเชอรี่ที่สีแดงสุกเท่านั้น ห้ามมีสีเขียวติดเข้ามา”
เจ้าของรางวัลอันดับที่ 2 ประเภท กาแฟอาราบิกาแบบกึ่งแห้งกล่าวถึงการพัฒนาอาชีพปลูกกาแฟ หลังจากได้เข้าร่วมโครงการปลูกกาแฟคุณภาพโดยมีผู้เชี่ยวชาญจากไจก้าประเทศญี่ปุ่น หน่วยงานกรมส่งเสริมสหกรณ์ รวมถึงเจ้าหน้าที่จากสหกรณ์การเกษตรดอยสะเก็ดพัฒนา จำกัด มาส่งเสริมการผลิตกาแฟคุณภาพ และการพัฒนารสชาติกาแฟเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ซึ่งโครงการได้สิ้นสุดเมื่อเดือนพฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา รวมระยะเวลา 3 ปี
“สิ่งที่เราได้รับความรู้จากไจก้าและกรมส่งเสริมสหกรณ์มีเยอะมาก อย่างหนึ่งก็คือเรื่องคุณภาพของกาแฟ ที่เราผลิต เริ่มตั้งแต่การเพาะกล้า สอนวิธีดูแลต้นกาแฟ การตัดแต่งกิ่ง การทำสาว รวมถึงกระบวนการเก็บเกี่ยวและขั้นตอนการแปรรูปกาแฟ เพื่อให้กาแฟมีคุณภาพและรสชาติที่ดีขึ้น” นายอานนท์กล่าว
สำหรับช่องทางการตลาดนั้น เขาเผยว่า ส่วนหนึ่งจำหน่ายให้กับสหกรณ์ฯดอยสะเก็ดพัฒนา อีกส่วนนำมา แปรรูปเพิ่มมูลค่าเป็นผลิตภัณฑ์ของตนเองและจำหน่ายผ่านออนไลน์ ภายใต้แบรนด์ “Doi Pang Bong” ส่วนในอนาคตจะขยายผลให้กาแฟและชุมชนเป็นที่รู้จักของผู้คนที่หลงใหลในรสชาติกาแฟมากขึ้น
นอกจากผลิตภัณฑ์กาแฟแล้วในปัจจุบันนายอานนท์ ยังได้พัฒนาและดำเนินการเปิดให้บริการที่พัก (Home Stay) และร้านกาแฟ “Doi Pang Bong” รวมถึงเป็นจุดแลกเปลี่ยนและเรียนรู้ด้านกาแฟคุณภาพของสหกรณ์ฯอีกด้วย
ด้านนายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวถึงการส่งเสริมสนับสนุนเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟไทย ในโครงการความร่วมมือ ไทย-ญี่ปุ่นระหว่างกรมส่งเสริมสหกรณ์กับไจก้าประเทศญี่ปุ่น ซึ่งได้ส่งเสริมการพัฒนากาแฟคุณภาพของสมาชิกและสหกรณ์การเกษตรดอยสะเก็ดพัฒนา จำกัดโดยทางไจก้าได้ส่งผู้เชี่ยวชาญเข้ามาดูแลกระบวนการผลิตกาแฟตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ รวมไปถึงการแปรรูปกาแฟคุณภาพด้วยเทคนิควิธีต่างๆ นอกจากนี้ยังคำนึงถึงความสมดุลในเรื่องของสิ่งแวดล้อม การส่งเสริมให้คนอยู่กับป่า ซึ่งประเทศญี่ปุ่นถือเป็นประเทศลำดับต้นๆ ที่ผู้คนนิยมบริโภคกาแฟเป็นชีวิตจิตใจ และเป็นประเทศที่มีองค์ความรู้ด้านการพัฒนาการผลิตและการแปรรูป ซึ่งประเทศญี่ปุ่นได้พัฒนากาแฟคุณภาพให้แก่ประเทศผู้ผลิตกาแฟชั้นนำต่าง ๆ มาแล้ว เช่น ประเทศในแถบแอฟริกา เป็นต้น
“อย่างขั้นตอนการเก็บเกี่ยวกาแฟ เขาก็จะให้ความรู้ว่าควรจะเก็บเมล็ดกาแฟที่สุกในระดับใดถึงจะได้กาแฟที่มีคุณภาพสูง แล้วก็จะให้คนเก็บกาแฟสวมริชแบนที่บอกระดับสีความสุกของกาแฟที่เหมาะสม ฉะนั้นคนเก็บกาแฟ แค่เทียบสีเมล็ดกาแฟกับสีริชแบนก็สามารถเก็บเมล็ดกาแฟตามคุณภาพที่ต้องการได้ ซึ่งวิธีนี้จะช่วยให้คนรับจ้างเก็บกาแฟมีความรู้ในการไปเก็บกาแฟที่อื่นๆได้อีก เกิดการขยายองค์ความรู้ไปในวงกว้าง” อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์เผยเทคนิคการเก็บเกี่ยวเมล็ดกาแฟคุณภาพ
พร้อมระบุว่าไม่เพียงสหกรณ์ฯดอยสะเก็ดพัฒนา จำกัดเท่านั้นที่ร่วมมือกับหน่วยงานภายนอก แต่ยังมีสหกรณ์การเกษตรอื่น ๆ อีกหลายแห่งในภาคเหนือที่มีการร่วมมือพัฒนาพืชกาแฟระหว่างกันทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน อย่างเช่นสหกรณ์การเกษตรปางม่วง ลำปาง สหกรณ์ฯดอยวาวี เชียงราย และอีกหลายจังหวัดในภาคเหนือ
“ถ้าจากต่างประเทศมีไจก้ามาที่สหกรณ์ดอยสะเก็ดพัฒนาที่เดียว แต่เราเองก็ร่วมมือกับภาคเอกชนต่าง ๆ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รวมถึงสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูงเพื่อพัฒนากาแฟให้มีคุณภาพ ส่วนกรมจะสนับสนุนในเรื่ององค์ความรู้ในการฝึกอบรม สนับสนุนเครื่องจักร เครื่องไม้ เครื่องมือต่าง ๆ เช่นเครื่องบด เครื่องคั่วกาแฟ และงบประมาณลงไป”
“สำหรับการพัฒนาต่อยอดด้านการตลาด กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ร่วมมือกับบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ลงนามซื้อขายกาแฟร่วมกับสหกรณ์ฯดอยสะเก็ดพัฒนา ภายใต้แบรนด์ “Doi Saket Coffee Green” และยังได้ส่งเสริมให้สหกรณ์ฯส่งออกกาแฟพรีเมียมไปจำหน่ายยังประเทศญี่ปุ่น ซึ่งปัจจุบันจำหน่ายไปประเทศญี่ปุ่นแล้ว จำนวน 745 กิโลกรัม ซึ่งการต่อยอดด้านการตลาดนี้จะช่วยให้เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟมีกำลังใจในการผลิตกาแฟคุณภาพ ยกระดับรายได้และชีวิตความเป็นอยู่ อีกทั้งยังสร้างสมดุลระหว่างผืนป่ากับชุมชนได้อย่างยั่งยืน” อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวทิ้งท้าย