ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เป็นประธานเปิดการประชุมกลุ่มย่อย (Focus Group) ของโครงการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนการดำเนินการตามกฎหมายคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ (ระยะเวลา 5 ปี พ.ศ. 2566 – 2570) เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2565 ณ ห้อง Ballroom 3 ชั้น 6 โรงแรมอมารี วอเตอร์เกท กรุงเทพมหานคร
โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและแสดงความเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนตามกฎหมายคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถอย่างครบถ้วนในทุกด้าน และนำผลที่ได้ไปใช้เป็นข้อมูลประกอบการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนการดำเนินการตามกฎหมายคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ (ระยะเวลา 5 ปี พ.ศ. 2566-2570) และแผนการปฏิบัติงานประจำปี 2566 ให้มีทิศทางที่ชัดเจนสอดคล้องกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน มีกลยุทธ์ที่ชัดเจน สามารถขับเคลื่อนได้อย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งนำไปต่อยอดการดำเนินการตามภารกิจของฝ่ายสำนักนายทะเบียนคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้
โดยกำหนดให้มีการประชุมกลุ่มย่อย (Focus Group) จำนวน 2 ครั้ง คือ ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2565 ณ โรงแรมดุสิตธานี หัวหิน จังหวัดเพชรบุรี และการประชุมกลุ่มย่อย (Focus Group) ในครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 โดยมีกลุ่มเป้าหมายหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม อาทิ กรมการขนส่งทางบก กรมการปกครอง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สถานพยาบาล โรงพยาบาลรัฐและเอกชน บริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ บริษัทประกันภัย บริษัทลีซซิ่ง รวมทั้งผู้บริหารและพนักงานสำนักงาน คปภ. จากสายกฎหมายและคดี สายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ สายกำกับผลิตภัณฑ์ประกันภัย สายกลยุทธ์องค์กร สายส่งเสริมและประกันภัยภูมิภาค สายตรวจสอบ สายวิเคราะห์ธุรกิจประกันภัย และฝ่ายสำนักนายทะเบียนคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ
เลขาธิการ คปภ. กล่าวโดยมีใจความที่สำคัญตอนหนึ่งว่า สำนักงาน คปภ. มีภารกิจหลักในการกำกับและส่งเสริมธุรกิจประกันภัยให้มีความเข้มแข็ง รวมทั้งให้ความคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนที่เกี่ยวข้องกับการประกันภัย ตลอดจนประชาสัมพันธ์ เผยแพร่ความรู้ด้านการประกันภัย ให้ประชาชน หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน มีความรู้ความเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของการทำประกันภัย โดยฝ่ายสำนักนายทะเบียนคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถเป็นหน่วยงานหนึ่งของสำนักงาน คปภ. มีหน้าที่หลักในการขับเคลื่อนพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 หรือประกันภัยรถภาคบังคับ
อาทิ การกำกับ ดูแล การส่งเสริมการประกันภัยรถภาคบังคับ การกำหนดวงเงินความคุ้มครอง รวมทั้งศึกษา วิเคราะห์ พัฒนาการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของผู้ประสบภัยจากรถ การรณรงค์ส่งเสริม สร้างความรู้ความเข้าใจ และสร้างความตระหนักให้เจ้าของรถทำประกันภัยรถภาคบังคับเพิ่มขึ้น รวมทั้งให้ประชาชนรับรู้ถึงประโยชน์ที่ได้รับจากการทำประกันภัยรถภาคบังคับที่จะช่วยเยียวยาความเดือดร้อนแก่ผู้ประสบภัยได้ หากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด รวมทั้งการกำหนดแนวทางมาตรฐานหรือหลักเกณฑ์ในการพิจารณาให้ความเห็นชอบกรมธรรม์ประกันภัยรถภาคบังคับ และอัตราเบี้ยประกันภัย
รวมถึงการกำหนดอัตราเงินสมทบ การผลักดันให้เกิดความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนในการขับเคลื่อนการประกันภัยรถภาคบังคับ รวมทั้งการประกันภัยรถภาคบังคับสำหรับรถผ่านแดน ตลอดจนการศึกษาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงมาตรฐานค่ารักษาพยาบาล และการปฏิบัติหน้าที่ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ รวมถึงการกำกับ ดูแล และดำเนินงานตามภารกิจของกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติการบริหารทุนหมุนเวียน พ.ศ. 2558
ทั้งนี้ จากการติดตามข้อมูลของฝ่ายสำนักนายทะเบียนคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พบว่า ยังมีเจ้าของรถหรือผู้ครอบครองรถอีกจำนวนมากที่ยังไม่ทราบว่าการประกันภัยรถภาคบังคับ หรือประกันภัย พ.ร.บ. เป็นสิ่งที่กฎหมายกำหนดให้ต้องทำ และมีบทลงโทษหากไม่ดำเนินการจัดทำ โดยสถิติการทำประกันภัยรถภาคบังคับ ณ เดือนมิถุนายน 2565 มีรถที่จดทะเบียนทั้งสิ้นกว่า 42 ล้านคัน ในภาพรวมมีการจัดทำประกันภัยรถภาคบังคับ ร้อยละ 80 ของจำนวนรถที่จดทะเบียนทั้งหมด แบ่งเป็นรถยนต์ร้อยละ 90 และรถจักรยานยนต์ซึ่งเป็นรถที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุด แต่มีการจัดทำประกันภัยรถภาคบังคับเพียงร้อยละ 65
ดังนั้น เพื่อเป็นการบริหารจัดการเชิงกลยุทธ์ของสำนักงาน คปภ. ในการขับเคลื่อนภารกิจตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 และเพื่อเป็นการกำหนดกรอบและทิศทางในการดำเนินงานและบูรณาการร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง จึงจำเป็นต้องมีการกำหนดกลยุทธ์และยุทธศาสตร์ เพื่อให้บรรลุผลสัมฤทธิ์อย่างมีประสิทธิภาพประสิทธิผล
ดังนั้น สำนักงาน คปภ. จึงได้บูรณาการร่วมกับศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญ เป็นที่ปรึกษาเพื่อจัดทำแผนยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนการดำเนินการตามกฎหมายคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ (ระยะเวลา 5 ปี พ.ศ.2566-2570) และรายละเอียดแผนการปฏิบัติงาน ประจำปี 2566 โดยมุ่งเน้นให้แผนยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนการดำเนินการตามกฎหมายคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถมีความเหมาะสม สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แผนพัฒนาการประกันภัย ฉบับที่ 4 แผนยุทธศาสตร์ สำนักงาน คปภ. รวมถึงสภาพเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป
“การประชุมกลุ่มย่อย (Focus Group) ในครั้งนี้ถือเป็นกิจกรรมหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นกระบวนการที่จะทำให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนการดำเนินการตามกฎหมายคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถอย่างรอบด้าน ผ่านการแสดงความคิด ความเห็น แลกเปลี่ยนประสบการณ์ จากผู้เข้าร่วมประชุมที่มาจากหลากหลายหน่วยงาน หลายหลายอาชีพ ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับการดำเนินการตามกฎหมายคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและผู้ประสบภัยจากรถอย่างแท้จริง” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในที่สุด