การสร้างความเข้าใจในอัตลักษณ์ วิธีคิด และชีวิตของชาวดิจิทัลไทย รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ ปี 65 จาก วช.

จากความมุ่งหวังที่จะเข้าใจเยาวชนคนรุ่นใหม่ หรือที่เรียกในการศึกษาครั้งนี้ว่า “ชาวดิจิทัล” ซึ่งเป็นกำลังสำคัญและความหวังของประเทศไทย จึงเป็นแรงผลักดันที่ทำให้นักวิจัยจากหลากหลายสถาบัน ร่วมมือกันศึกษาวิจัยคุณลักษณะ พฤติกรรมและทัศนคติของชาวดิจิทัลไทย เพื่อนำองค์ความรู้ใหม่ซึ่งสะท้อนผ่านเสียงของคนรุ่นใหม่ไปใช้ในการสร้างความเข้าใจในการอยู่ร่วมกันในสังคม และลดช่องว่างระหว่างวัย จนคว้ารางวัลการวิจัยแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ 2565

วันที่ 25 กรกฎาคม 2565 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดแถลงข่าว “NRCT Talk: รางวัลการวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2565” เปิดตัวผลงานวิจัยเรื่อง “การสร้างความเข้าใจในคุณลักษณะ พฤติกรรม และทัศนคติในอนาคตของชาวดิจิทัลไทย” โดยรองศาสตราจารย์ ดร.จุลนี เทียนไทย หัวหน้าโครงการวิจัย อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมด้วยคณะวิจัยประกอบไปด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภัทรพรรณ ทำดี อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภาสนันทน์ อัศวรักษ์ อาจารย์ประจำสายวิชาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี อาจารย์ ดร.ปุณณฑรีย์ เจียวิริยบุญญา อาจารย์ประจำสาขาวิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนครพนม ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ฐิตินันทน์ ผิวนิล อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และอาจารย์ว่าน ฉันท์ฉายฉันทวิลาสวงศ์ อาจารย์ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

โดยในครั้งนี้ ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ มอบหมายให้ นายเอนก บำรุงกิจ ผู้อำนวยการกองระบบและบริหารข้อมูลเชิงยุทธศาสตร์ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานในพิธีเปิดแถลงข่าวฯ ณ ศูนย์ข้อมูลสารสนเทศกลางด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ชั้น 1 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

นายเอนก บำรุงกิจ ผู้อำนวยการกองระบบและบริหารข้อมูลเชิงยุทธศาสตร์ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า วช. ได้มอบรางวัลการวิจัยแห่งชาติ : รางวัลผลงานวิจัยระดับดีมาก สาขาสังคมวิทยา ประจำปี 2565 แก่ รองศาสตราจารย์ ดร.จุลนี เทียนไทยและคณะวิจัย จากผลงานวิจัยเรื่อง “การสร้างความเข้าใจในคุณลักษณะพฤติกรรมและทัศนคติในอนาคตของชาวดิจิทัลไทย” ในฐานะที่คณะวิจัยได้ที่อุทิศตนเพื่องานวิจัยที่สร้างความรู้ใหม่เกี่ยวกับชาวดิจิทัลไทยอีกทั้งยังใช้เทคนิคการวิจัยหลายรูปแบบที่ทำให้ผู้เข้าร่วมการวิจัยได้มีโอกาสสะท้อนประสบการณ์ของตนเองออกมาได้อย่างเต็มที่ สมบูรณ์ และรอบด้านที่สุด โดยเล็งเห็นถึงคุณค่าและความสำคัญของผู้มีส่วนร่วมในการวิจัย

ทั้งนี้ คณะผู้วิจัยมีความมุ่งหวังว่า ผลการวิจัยครั้งนี้จะสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์แก่สังคมไทยในหลากหลายมิติ อาทิ การทำความเข้าใจอัตลักษณ์ของชาวดิจิทัลไทย ความรู้ ทักษะ ทัศนคติที่จำเป็นในการเรียนการสอนและการทำงาน การเข้าใจพื้นที่ความรู้และการพัฒนาทักษะชาวดิจิทัลไทยเพื่อรองรับองค์กร 4.0 การสะท้อนให้เห็นถึงความกลัว ความฝัน และความหวังในมุมมองของประชากรชาวดิจิทัลไทย ความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในการปรับตัว เพื่อแสดงให้เห็นว่า ชาวดิจิทัลไทยในฐานะ “คนไทย 4.0” นั้นมีความพร้อม ความเป็นไปได้และข้อจำกัด ที่ควรได้รับการสนับสนุนในทิศทางใดเพื่อให้บรรลุผลตามเป้าหมายของนโยบาย Thailand 4.0

รองศาสตราจารย์ ดร.จุลนี เทียนไทย กล่าวว่า งานวิจัยชิ้นนี้ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก วช. และอยู่ภายใต้แผนงานบูรณาการยุทธศาสตร์เป้าหมายด้านสังคม “คนไทย 4.0” โดยได้รับความร่วมมือจากคณาจารย์ผู้ร่วมวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ อาทิ มานุษยวิทยา สังคมวิทยา สถาปัตยกรรมศาสตร์ ประชากรศาสตร์ ฯลฯ จากหลากหลายสถาบัน โดยจุดเน้นสำคัญของการวิจัยครั้งนี้ คือ นอกจากจะต้องการให้ทุกขั้นตอนของการดำเนินการได้นำไปสู่เป้าหมายในการทำความเข้าใจในอัตลักษณ์ วิธีคิด และชีวิตของชาวดิจิทัลแล้ว ยังได้เล็งเห็นถึงคุณค่าจากประสบการณ์ของผู้ให้ข้อมูลสำคัญ (Informants) ซึ่งก็คือ ชาวดิจิทัลในแต่ละกลุ่มอีกด้วย การศึกษาครั้งนี้จึงอาศัยเทคนิควิธีที่หลากหลาย

อาทิ แบบสอบถามสัมภาษณ์ การรวบรวมคำศัพท์ การวาดภาพเชิงพรรณนา และการสัมภาษณ์แบบกึ่งโครงสร้าง ประเภทการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก รวมไปถึงการวิจัยการสกัดและวิเคราะห์ข้อความออนไลน์ จากทวิตเตอร์เพื่อที่จะได้คำตอบวัตถุประสงค์การวิจัยได้สมบูรณ์ที่สุด โดยเก็บข้อมูลจากประชากรกลุ่ม Gen Y และกลุ่ม Gen x รวมทั้งสิ้นจำนวน 960 คน ประกอบด้วย 2 กลุ่ม คือ

1) “ประชากรดิจิทัล” จำนวน 910 คน เกิดระหว่างปี พ.ศ. 2524 – 2549 มีอายุอยู่ที่ 13-23 ปี จัดเป็น “ชาวดิจิทัลรุ่นใหม่” ส่วนผู้มีอายุ 24-38 ปี จัดเป็น “ชาวดิจิทัลรุ่นเก่า” 

2) ผู้ที่เกี่ยวข้องกับชาวดิจิทัล จำนวน 50 คน ได้แก่ ผู้ปกครอง ครู อาจารย์ และนายจ้างหรือผู้บังคับบัญชา ทั้งนี้ ประชากรทั้งสองกลุ่มอยู่พื้นที่การศึกษาหลัก 3 จังหวัดคือ

1) กรุงเทพมหานคร เป็นตัวแทนเมืองหลวง

2) จังหวัดเชียงใหม่ เป็นตัวแทนเมืองหลัก

3) จังหวัดนครพนม เป็นตัวแทนเมืองรอง

รองศาสตราจารย์ ดร.จุลนี เทียนไทย กล่าวต่อว่า อีกหนึ่งข้อค้นพบสำคัญของการศึกษาครั้งนี้ คือ การพัฒนาของเทคโนโลยีได้ส่งผลให้พฤติกรรม การปฏิสัมพันธ์ และบรรทัดฐานสังคมเปลี่ยนแปลงไป รวมถึงทำให้เกิดการสร้างบรรทัดฐานใหม่ เช่น การเลือกปฏิบัติต่อกัน การตัดสินความผิด-ชอบ ชั่ว-ดี การใช้ภาษา การสร้างและนำเสนอตัวตน วิธีคิดต่อการใช้ชีวิต โดยเฉพาะการเปลี่ยนทัศนคติในเรื่องทักษะที่จำเป็น ความคิดและพฤติกรรมในการเรียนรู้ อีกทั้งความสัมพันธ์ของครอบครัวก็ได้เปลี่ยนแปลงไปด้วย ตลอดจนการเกิดปัญหาการใช้ชีวิตและปัญหาสุขภาพรูปแบบใหม่ รวมถึงความฝัน ความหวัง และความกลัวที่ถูกกำหนดโดยโครงสร้างสังคม

ทั้งนี้ เมื่อกล่าวถึงอัตลักษณ์ของชาวดิจิทัลไทย พบว่า มีการซ้อนทับกับอัตลักษณ์ของชาวดิจิทัลที่กล่าวไว้ในระดับสากล ได้แก่ การต้องการความรวดเร็ว (Need for Speed) ความตื่นตัวต่อข่าวสาร (Information Alertness) การมีวิถีชีวิตเชื่อมโยงกับการออนไลน์ (Interactive) การมีส่วนร่วมกับสังคม (Civic Engagement) การมีอิสระในตนเอง (Independence/Freedom) กล้าแสดงความคิดเห็น (Free Expression) ยืนหยัดเพื่อสิทธิของปัจเจก (Stand for Individual Rights) และยอมรับในความหลากหลายทางเพศ (Gender Diversity) อย่างไรก็ตาม ยังคงมีอัตลักษณ์บางประการที่ชาวดิจิทัลไทยยังไม่หลุดจากกรอบสากลแต่ผสมผสานผ่านบริบทสังคมไทย เช่น การใส่ความสนุกสนานแบบคนไทยเข้าไปในวิถีออนไลน์ของตน เป็นต้น

รองศาสตราจารย์ ดร.จุลนี เทียนไทย กล่าวทิ้งท้ายว่า เพื่อให้ข้อค้นพบจากโครงการวิจัยนี้ได้เข้าถึงคนในสังคมมากขึ้น ทางคณะวิจัยจึงได้พยายามนำเสนอและเผยแพร่ผลงานวิจัยออกมาในหลายรูปแบบเพื่อให้สอดคล้องกับการรับข่าวสารของคนหลากหลายกลุ่ม อาทิ ในรูปแบบ E-book และรายงานฉบับสมบูรณ์ที่สามารถ download ได้จากเว็บไซต์แผนงานคนไทย 4.0 การผลิตสื่อภาพยนต์สั้นที่สร้างจากส่วนหนึ่งของผลการวิจัย

เพื่อให้ผู้ปกครองและเยาวชนเกิดความเข้าใจกันในมุมมองของการใช้สื่อออนไลน์ การเขียนบทความในวารสารวิชาการ บทความออนไลน์ การนำไปใช้ในการเรียนการสอนของคณาจารย์ในทีมเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับคนรุ่นใหม่ในการทำความเข้าใจทั้งกับตนเอง คนรุ่นเดียวกัน คนต่างรุ่น และคนรุ่นต่อไป ทีมวิจัยจึงมีความมุ่งหวังว่าการเผยแพร่หลากหลายช่องทางในรูปแบบที่สอดคล้องกับผู้รับสารจะนำไปสู่การใช้งานวิจัยที่เป็นประโยชน์ต่อคนในสังคมได้อย่างแท้จริง

สำหรับกิจกรรม “NRCT Talk: รางวัลการวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2565” ครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อเป็นเวทีให้นักวิจัยได้นำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมผ่านสื่อมวลชน ตลอดจนการผลิตและเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลงานวิจัย ผลงานประดิษฐ์คิดค้น กิจกรรม ภารกิจ และผลการดำเนินงาน ของ วช. เพื่อให้สื่อมวลชนเป็นสื่อกลางในการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ผลงานและกิจกรรมของ วช. ไปสู่ชุมชนและสาธารณชนเพื่อให้ได้ทราบและนำไปสู่การใช้ประโยชน์ต่อไป