เกษตรฯ เผยแนวทางการดูแลลิ้นจี่และลำไยภาคเหนือในช่วงฝนแล้ง/ฝนทิ้งช่วง

กรมส่งเสริมการเกษตร เผยปี 2562 ประเทศไทยเกิดภาวะฝนแล้งและฝนทิ้งช่วง ส่งผลอุณหภูมิสูงกว่าปกติและปริมาณน้ำฝนน้อย พร้อมแนะเกษตรกรเตรียมรับมือดูแลผลผลิตลิ้นจี่และลำไยภาคเหนือให้ได้คุณภาพ

 

 

                นายสำราญ สาราบรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า จากการคาดการณ์ผลผลิตผลไม้ภาคเหนือปีการผลิต 2562 ได้แก่ ลิ้นจี่และลำไย พบว่า ปริมาณผลผลิตลิ้นจี่จะมีจำนวน 39,366 ตัน โดยจะออกมาก (Peak) ในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม และปริมาณผลผลิตลำไยมีจำนวน 676,536 ตัน จำแนกเป็นลำไยในฤดู 406,977 ตัน และลำไยนอกฤดู 269,539 ตัน โดยลำไยในฤดูจะออกมาก (Peak) ช่วงกลางเดือนสิงหาคม ทั้งนี้ จากประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยาแจ้งว่าประเทศไทยจะเกิดปรากฏการณ์เอลนิโญ (El Nino) ส่งผลให้มีอุณหภูมิสูงกว่าปกติและมีปริมาณน้ำฝนต่ำกว่าปกติร้อยละ 10 – 20 ซึ่งอาจทำให้ส่งผลกระทบกับลิ้นจี่และลำไยของภาคเหนือได้

 

ดังนั้น เพื่อเป็นการดูแลเกษตรกรผู้ปลูกลิ้นจี่และลำไยให้สอดคล้องตามข้อมูลประมาณการผลผลิตและการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ กรมส่งเสริมการเกษตรได้สั่งการให้สำนักงานเกษตรจังหวัด 8 จังหวัดภาคเหนือออกให้คำแนะนำพร้อมแจ้งแนวทางการปฏิบัติของเกษตรกรผู้ปลูกลิ้นจี่และลำไยในช่วงสภาวะฝนแล้ง ฝนทิ้งช่วงโดยเร่งด่วน ดังนี้ การผลิตลิ้นจี่ เน้นส่งเสริมเกษตรกรผู้ปลูกลิ้นจี่ “พัฒนาลิ้นจี่คุณภาพ”  โดยใช้เทคโนโลยีการห่อช่อผลในช่วงผลเริ่มติดสี หรือก่อนเก็บเกี่ยว 45 วัน เพื่อลดเปอร์เซ็นต์การเข้าทำลายของหนอนเจาะขั้วผล รวมทั้งควรเก็บผลผลิตในระยะผลแก่ (หลังดอกบานประมาณ 4 เดือน) เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ซึ่งปีนี้ลิ้นจี่มีปริมาณผลผลิตลดลงจากปีที่ผ่านมา จำนวน 1,854 ตัน คิดเป็นร้อยละ 4.50 เนื่องจากสภาพอากาศและอุณหภูมิไม่เอื้ออำนวยต่อการติดดอกออกผล รวมทั้งเนื้อที่ให้ผลลดลงสาเหตุจากเกษตรกรปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นแทน ฉะนั้น คาดว่าลิ้นจี่จะไม่มีปัญหาด้านราคา

สำหรับ การผลิตลำไย จะส่งผลกระทบทำให้การตอบสนองของต้นลำไยลดลง ลำไยจะมีการพัฒนาของดอกและผลเปลี่ยนแปลง ทำให้ออกดอกหลายรุ่น และติดผลจำนวนมาก ซึ่งเมื่อฝนตกปริมาณน้อยและล่าช้ากว่าปกติลำไยได้รับน้ำไม่สม่ำเสมอจะทำให้การพัฒนาของผลไม่เต็มที่ ผลมีขนาดเล็ก เปลือกบาง ผลแตก และเสียหายได้ แนวทางเน้นการส่งเสริม “ผลิตลำไยคุณภาพ” รวมทั้งให้เกษตรกรตระหนักและเตรียมรับมือกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงโดย 1. แจ้งเตือนและให้คำแนะนำเกษตรกรปรับตัว เพื่อรักษาคุณภาพผลผลิตและปฏิบัติดูแลจัดการสวนลำไยอย่างถูกต้องและเหมาะสมในช่วงสภาพอากาศแห้งแล้งและฝนทิ้งช่วงที่อาจจะเกิดขึ้น 2. ประเมินสถานการณ์การติดผล และตัดแต่งช่อผล เพื่อเพิ่มขนาดผลลำไย (เพิ่มสัดส่วนเกรด) ขนาดผลให้มีความสม่ำเสมอ และอายุการเก็บเกี่ยวเร็วขึ้น หลักการตัดแต่งช่อผลที่สำคัญ ได้แก่ ต้นที่ควรตัดแต่งช่อผล คือ ต้นลำไยที่ติดดก ติดทั้งต้นหรือแต่ลำช่อมีจำนวนผลมากกว่า 60 ผลต่อช่อ ระยะเวลาที่เหมาะสมควรตัดแต่งช่อผลในช่วงที่ผลมีขนาดเท่าเมล็ดถั่วเหลือง หรือไม่เกินขนาดมะเขือพวง โดยมีเส้นผ่าศูนย์กลางไม่เกิน 1 เซนติเมตร วิธีการตัดแต่งช่อผลทำได้ 2 รูปแบบ คือ 1) เลือกตัดแต่งทุกช่อ โดยตัดปลายช่อลำไยทิ้งร้อยละ 50 ของช่อผล หรือเหลือผลไว้ประมาณ 60 ผลต่อช่อ 2) เลือกตัดทิ้งทั้งช่อ โดยเลือกตัดช่อที่ไม่สมบูรณ์หรือมีมากทิ้ง ทั้งนี้ สามารถใช้วิธีการตัดแต่งช่อผลแบบผสมผสานได้ทั้ง 2 รูปแบบ 3. ใช้วัสดุคลุมดินบริเวณโคนต้นลำไย เพื่อป้องกันหรือการระเหยของน้ำจากผิวดินในช่วงฤดูแล้ง หรือฝนทิ้งช่วง รวมทั้งช่วยทำให้อุณหภูมิในดินไม่สูงหรือต่ำเกินไปในช่วงกลางวันและกลางคืน ตลอดจนเป็นการควบคุมวัชพืชต่าง ๆ ไม่ให้งอก และเพิ่มปริมาณอินทรียวัตถุให้กับดิน ซึ่งวิธีการให้ใช้วัสดุคลุมโคนต้น เช่น ฟางข้าว เศษหญ้าแห้ง หรือใบไม้แห้ง โดยคลุมให้หนาประมาณ 8 – 10 เซนติเมตร จากโคนต้นไปยังชายทรงพุ่ม ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานเกษตรจังหวัด สำนักงานเกษตรอำเภอในพื้นที่

*********************************

กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมส่งเสริมการเกษตร

กลุ่มส่งเสริมไม้ผล กรมส่งเสริมการเกษตร : ข้อมูล