สสว. ปั้น Micro Enterprises สู่การค้าระหว่างปท. ตั้งแต่ปีแรกที่เริ่มธุรกิจ ผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล เตรียมนำข้อมูลเสนอที่ประชุมในฐานะประธานอาเซียน

ไทยประธานอาเซียน ปี 2019    สสว.ได้เตรียมนำเสนอแผนส่งเสริมดิจิทัลใน Micro Enterprises  โดยการสร้าง Born Global ผ่านแพลตฟอร์ม เชิงลึก รวดเร็ว พร้อมจัดเวทีสัมมนา Global Digitalization Model for Micro Enterprises  นำผู้ประกอบการรายย่อยทั่วอาเซียน  ร่วมถ่ายทอดความรู้ และนำผู้ประกอบการรายย่อยของไทย  20 ราย อบรมวิธีบุกตลาดต่างประเทศ ตั้งเป้าภายใน 5 ปี ผปก.สร้างยอดส่งออกไม่น้อยกว่า ร้อยละ 25 

นายสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล  ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)  เปิดเผยว่า  ในโอกาสที่ประเทศไทยได้เป็นประธานอาเซียน ในปี 2019   สสว. เป็นหนึ่งในหน่วยงานของไทยที่ดำเนินกิจกรรมเพื่อสนับสนุนการเป็นเจ้าภาพอาเซียน  ในส่วนของการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี  โดยดำเนินการ ภายใต้หัวข้อหลัก “การส่งเสริมการใช้ดิจิทัลสำหรับผู้ประกอบการรายย่อยอาเซียน” โดยสสว.ได้เน้น 2 ส่วน  คือ 1. การใช้ดิจิทัลในการประกอบธุรกิจ (Digitalization) และ 2.การสนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อย (Micro Enterprises)  โดยรวมถึงผู้ประกอบการรายใหม่ (Startup) และผู้ประกอบการรายย่อยเดิมที่ไม่สามารถเข้าถึงดิจิทัลได้ ทั้งนี้ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่าง ผู้ประกอบการในกลุ่มประเทศอาเซียน และนำข้อมูลที่ได้นำเสนอระหว่างการประชุมผู้นำอาเซียนด้วย

ในโอกาสนี้ สสว.ได้จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง  Global Digitalization Model for Micro Enterprises  ขึ้นในวันจันทร์ ที่ 27 พฤษภาคม 2562   ณ โรงแรมสุโกศล  เพื่อแลกเปลี่ยนรูปแบบในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ในการเข้าสู่ตลาดต่างประเทศ โดยจะเชิญผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จ ในการ Go Global ที่น่าสนใจ มาร่วมแชร์ประสบการณ์ และแนวทางในการออกสู่ต่างประเทศ ในด้านการใช้สื่อดิจิทัล จากประเทศ  สิงคโปร์  อินโดนีเซีย  มาเลเซีย และอื่นๆ มาร่วมแชร์ประสบการณ์ ให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยผู้เข้าร่วมงานดังกล่าว

นายสุวรรณชัย กล่าวว่า  สำหรับการกิจกรรม ที่สสว.ต้องการดำเนินการเพื่อนำเสนอกับที่ประชุมอาเซียน ในฐานะเจ้าภาพ ในปี 2562  คือ โมเดลของการสร้างผู้ประกอบการ Born Global  ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการรายย่อย กลุ่ม Micro Enterprises สามารถที่จะเปิดตลาดในต่างประเทศ ได้ตั้งแต่วันแรกที่เป็นผู้ประกอบการ  ซึ่งสสว.มั่นใจว่า หากผู้ประกอบการดำเนินการตามแผนกลยุทธ์และรูปแบบที่เตรียมไว้ จะสามารถเป็นเอ็กพร็อตเตอร์ ได้ตั้งแต่ วันแรก หรือ ปีแรกที่เริ่มก่อตั้งธุรกิจ  โดยสสว.จะติดตามประเมินผลผู้เข้าร่วมโครงการนี้ ภายในระยะเวลา  5 ปี  และตั้งเป้าสร้างยอดรายได้ส่งออกไม่น้อยกว่า ร้อยละ 25 จากผู้ประกอบการที่คัดเลือกเข้าร่วมจำนวน 20 ราย

“สสว.ได้มีการศึกษา สร้างบิสเนสโมเดล กำหนดกลยุทธ์  เรียกว่า พลิกตำราเรียน เพื่อดูกลยุทธ์ที่เหมาะสม มาใช้กับผู้ประกอบการรายย่อยจะทำอย่างไรให้แบรนด์ของเอสเอ็มอีไทย ไปต่างประเทศได้  โดยไม่ต้องใช้เวลานานถึง 5 ปี  เพราะไม่ทันกับยุคดิจิทัลในปัจจุบัน ดังนั้น ทำให้เร็วขึ้น  ลึกขึ้น และ ชัดขึ้นโดยการส่งเสริมการใช้ดิจิทัลในระบบ Micro Enterprises เป็นโจทย์ใหญ่ เนื่องจาก Micro Enterprises หรือผู้ประกอบการรายย่อย ถือเป็นสัดส่วนหลักในภาพรวมของ วิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSMEs) ของไทย คือ มีจำนวนมากกว่า 80% ของผู้ประกอบการทั้งหมด  ” ผอ.สสว. กล่าว

ด้าน ดร.วิมลกานต์  โกสุมาศ  รองผอ.สสว.  กล่าวต่อว่า  ในโอกาสที่ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพอาเซียน สิ่งที่เราต้องนำเสนอต่อที่ประชุมอาเซียนเรื่อง SME พยายามทำโจทย์ใหญ่ของอาเซียน ในฐานะเจ้าภาพ  โดยเลือกเรื่องการส่งเสริมการใช้ดิจิทัล ในระบบ Micro Enterprises พยายามทำให้ เห็นว่าเมื่อมีระบบดิจิทัล ทำให้ Micro เล็กๆ สามารถไปต่างประเทศได้จริง ไม่จำเป็นจะต้องเป็นสตาร์อัพ ที่ไปต่างประเทศ ผู้ประกอบการทั่วไปก็สามารถไปต่างประเทศได้ โดยสสว.ได้ศึกษา และทำมาแล้วว่า เป็นไปได้  ไม่ใช่ว่าจะต้องไปออกงานแสดงสินค้าเท่านั้น  ซึ่งที่ประชุมอาเซียนต้องหารือร่วมกัน ว่าจะมีนโยบายอย่างไรในเรื่องเหล่านี้ เพื่อให้ผู้ประกอบการรายย่อยสามารถไปต่างประเทศได้ตั้งแต่เริ่มธุรกิจ

สำหรับผู้สนใจเข้าร่วมสัมมนาสมัครได้ที่ https://forms.gle/PgRWnyReY4mNot6C7 หรือ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ คุณฐิติสันห์  เบญจมาศ  ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน มหาวิทยาลัยขอนแก่น โทรศัพท์ 043-202566 ,084-231 6705 หรือ e-mail : ecber.kku@gmail.com ด่วน ! รับจำนวนจำกัด