ทีเซลส์ (TCELS) จัดสัมมนาออนไลน์ “การสนับสุนนทุนเครื่องมือแพทย์ช่วงปลายน้ำ”

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเซลส์ (TCELS) จัดงานสัมมนาออนไลน์ “การสนับสุนนทุนเครื่องมือแพทย์ช่วงปลายน้ำ” ในวันอังคารที่ 19 กรกฎาคม 2565 เวลา 09.00–16.00 น. โดยผ่านระบบออนไลน์ Microsoft Teams

 ดร.ชัยรัตน์ อุทัยพิบูลย์ รองผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ เป็นประธานกล่าวเปิดงาน และกล่าวถึงบทบาทของทีเซลส์ (TCELS) ในฐานะ PMU: การสนับสนุนทุน TRL 7-9 การส่งเสริมอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ และเป้าหมายการสนับสนุนทุนเครื่องมือแพทย์ TRL 7-9

คุณรัตนา วรปัสสุ ผู้อำนวยการโปรแกรมบริหารและพัฒนาเทคโนโลยีเครื่องมือแพทย์และหุ่นยนต์ทางการแพทย์ขั้นสูงศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ กล่าวถึง วัตถุประสงค์การจัดงาน รายละเอียดและข้อกำหนดในการสนับสนุนทุนเครื่องมือแพทย์ TRL 7-9

 ดร.ชัยรัตน์ อุทัยพิบูลย์ รองผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ กล่าวว่า “ศลช. หรือทีเซลส์ (TCELS) ได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานบริหารและจัดการทุนเฉพาะในการสนับสนุนงานวิจัยและนวัตกรรมด้านการแพทย์ช่วงปลายน้ำ ในระบบกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อผลักดันผลงานไปสู่การผลิตและให้เกิดเป็นธุรกิจได้จริง

โดยในส่วนของเครื่องมือแพทย์ ทีเซลส์ (TCELS) มีแผนการสนับสนุนผลงานในระดับความพร้อมของเทคโนโลยี TRL 7: กระบวนการจัดทำรายงานการประเมินการใช้งานทางคลินิก (Clinical Evaluation) TRL 8: การขึ้นทะเบียนเครื่องมือแพทย์ตามข้อกำหนดของ อย. (Medical device registration according to Thai FDA regulation) และ TRL 9: การสนับสนุนการเข้าถึงตลาดของเครื่องมือแพทย์ทั้งในและต่างประเทศ”

“การจัดงานสัมมนาครั้งนี้ เพื่อให้นักวิจัยและผู้ประกอบการเครื่องมือแพทย์ มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัด TRL การวิจัยพัฒนาเครื่องมือแพทย์ และรับทราบเงื่อนไข ขั้นตอน และเกณฑ์การพิจารณา ในการสนับสนุนทุนเครื่องมือแพทย์ TRL 7-9 ของทีเซลส์ (TCELS) ดร.ชัยรัตน์ กล่าวปิดท้าย

เปิดงานสัมมนาช่วงเช้าหัวข้อ TRL 7 การจัดทำ clinical evaluation report โดย ภก.วิวัฒน์ จันทรสาธิต ได้บรรยายรายละเอียดการทำ design validation ในกระบวนการวิจัยและพัฒนาตามข้อกำหนด ข้อ 7.3 ของ ISO 13485, มาตรฐานอ้างอิงการทำ clinical evaluation ของชนิดของเครื่องมือแพทย์ และการจัดทำ clinical evaluation report ต่อด้วยหัวข้อ TRL 8 การขึ้นทะเบียนเครื่องมือแพทย์

โดย ภญ.กนกอร พูลศิริ เภสัชกรชำนาญการกองควบคุมเครื่องมือแพทย์ อย. และ ภก.วิวัฒน์ จันทรสาธิต โดยบรรยายรายละเอียดในส่วนของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการขึ้นทะเบียนเครื่องมือแพทย์, ชนิด ประเภทความเสี่ยง และรูปแบบการจัดกลุ่มของเครื่องมือแพทย์, การจดทะเบียนสถานประกอบการ ผ่านระบบ E-submission, การขอการรับรองระบบการจัดการคุณภาพ (ISO 13485, GMP) และการขึ้นทะเบียนเครื่องมือแพทย์ ผ่านระบบ E-submission และการจัดเตรียมรายการเอกสารตามที่ระบุใน E-submission

เริ่มงานสัมมนาช่วงบ่ายกับหัวข้อ TRL 9 การผลักดันเครื่องมือแพทย์ไทยเข้าสู่ตลาด กระบวนการเสนอเทคโนโลยี สำหรับประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม เพื่อผลักดันเป็นสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดย คุณกุมารี พัชนี นักวิจัย HITAP ต่อด้วยหัวข้อ การผลักดันผู้ประกอบการเข้าตลาดทุน โดย ว่าที่ ร้อยเอก ภก. ดร.วฤษฎิ์ อินทร์มา ผู้อำนวยการฝ่ายยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมและการลงทุนศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์, การสนับสนุนการสร้างเครือข่ายและการเข้าตลาดต่างประเทศ โดย คุณเปรมฤดี เลิศศักดิ์วิมาน รักษาการผู้อำนวยการฝ่ายยุทธศาสตร์ความร่วมมือศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์

ปิดท้ายด้วยหัวข้อ การสนับสนุนทุนเครื่องมือแพทย์ TRL 7-9 ของ ทีเซลส์ (TCELS) ในเรื่องของเงื่อนไข ขั้นตอนการขอทุน และเกณฑ์การพิจารณา โดย คุณสิริภัทร สุมนาพันธุ์ เจ้าหน้าที่อาวุโส งานบริหารโครงการโปรแกรมบริหารและพัฒนาเทคโนโลยีเครื่องมือแพทย์และหุ่นยนต์ทางการแพทย์ขั้นสูงศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์

หลังจบงานสัมมนาเปิดเวทีให้กับผู้เข้าร่วมรับฟัง สามารถสอบถามข้อมูลรายละเอียดเพิ่มเติมได้ ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมรับฟัง มีคำถามฝากไว้ทั้งหน้าไมค์และหลังไมค์