วิสาหกิจชุมชนแก้วมังกร ต.บ้านถิ่น ผลสำเร็จกลุ่มแปลงใหญ่ ต่อยอดผลผลิตระดับคุณภาพ 

 

นางอัญชนา  ตราโช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ปัจจุบัน แก้วมังกรได้รับความนิยมและมีการปลูกอย่างแพร่หลายมากขึ้น ซึ่งจากตัวอย่างเกษตรกรในพื้นที่ตำบลบ้านถิ่น อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ ได้มีการรวมกลุ่มผลิตในรูปแบบแปลงใหญ่ จำหน่ายผลผลิตทั้งแบบสดและแบบแปรรูปส่งออกตลาดต่างประเทศ สามารถสร้างมูลค่าทางการค้าเข้าสู่จังหวัดได้เป็นอย่างมาก ยกระดับและต่อยอด จนชูเป็นสินค้าหลักภายใต้แผนพัฒนาจังหวัดเมืองต้นแบบสุขภาวะผู้สูงวัย เนื่องจากเป็นผลไม้เพื่อสุขภาพ ที่กลุ่มผู้รักสุขภาพนิยมรับประทานสด เพราะมีรสหวาน เส้นใยมาก และแคลอรีต่ำ  มีสรรพคุณทางยาช่วยบรรเทาอาการโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน และมีสารต้านอนุมูลอิสระป้องกันการเกิดโรคมะเร็ง

กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแก้วมังกรตำบลบ้านถิ่น อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ เกิดขึ้นจากเกษตรกรผู้ปลูกแก้วมังกรรวมกลุ่มกันผลิตและจำหน่ายในรูปแบบแปลงใหญ่ มีเกษตรกรสมาชิก 94 ราย พื้นที่รวม 840 ไร่ ส่วนใหญ่ได้รับมาตรฐาน GAP (Good Agricultural Practice) แล้ว เมื่อต้นปี 2561 และพร้อมที่จะเข้าสู่ระบบเกษตรอินทรีย์ (Organic) ปัจจุบันมีการนำร่องแก้วมังกรอินทรีย์จำนวน 10 ไร่ เพื่อเป็นต้นแบบระบบอินทรีย์มีการบริหารจัดการกลุ่มด้วยระบบที่เข้มแข็ง ทั้งด้านการบริหารเงินทุน การเข้าร่วมอบรมเพื่อพัฒนาการผลิตของเกษตรกรจากหน่วยงานภาครัฐ  การช่วยเหลือกิจกรรมของกลุ่มร่วมกัน ประธานกลุ่มวิสาหกิจฯ (นายบันเทิง ถิ่นฐาน กำนันตำบลบ้านถิ่น) ให้ข้อมูลว่า ทางกลุ่มฯ ได้ดำเนินการมานานกว่า 5 ปี  โดยแก้วมังกร จะเริ่มให้ผลผลิตตั้งแต่ปีที่ 2 ได้ผลผลิตเฉลี่ย 2,000 กิโลกรัม/ไร่ ต้นทุนการผลิต 15,600 – 18,000 บาท/ไร่ เกษตรกรมีรายได้จากการผลิต 26,000 – 36,000 บาท/ไร่ คิดเป็นผลตอบแทนสุทธิ (กำไร) 10,400 – 18,000 บาท/ไร่  มีช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยวอยู่ระหว่างเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม โดยผลผลิตออกสู่ตลาดมากที่สุดในเดือนกรกฎาคม

สำหรับผลผลิตของทางกลุ่มฯ จะมีพ่อค้ามารับซื้อในพื้นที่ ซึ่งราคาที่เกษตรกรขายได้อยู่ที่ 13 – 18 บาท/กิโลกรัม ผลผลิตส่วนใหญ่ขายในรูปผลสด โดยร้อยละ 55 ขายส่งตลาดในประเทศ ได้แก่ ตลาดไทยเจริญ จังหวัดพิษณุโลก ตลาดภาคอีสาน จังหวัดอุดรธานี ตลาดภาคเหนือ จังหวัดลำพูน ตลาดสี่มุมเมือง ตลาดไท ร้อยละ 25 จำหน่ายผลสดในตลาดต่างประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย ลาว กัมพูชา ส่วนร้อยละ 5 ขายปลีกให้ผู้บริโภคในชุมชน และร้อยละ 15 นำไปแปรรูปเป็นแก้วมังกรอบแห้งจำหน่ายให้แก่ บริษัท คันนาโกรเซอรีส์ จำกัด และบริษัทนานาฟรุ๊ตแอนด์ฟู้ดส์ โปรดักส์ เชียงใหม่

ด้านนายบุญลาภ โสวัณณะ ผู้อำนวยการ สศท.2 กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันปริมาณความต้องการซื้อแก้วมังกรอบแห้งของทางกลุ่มฯ เพิ่มขึ้นจาก 3 ตัน/ปี ในปี 2560  เป็นจำนวน 6 ตัน/ปี ในปี 2561 และในปี 2562 คาดว่าปริมาณความต้องการซื้อแก้วมังกรอบแห้งจะเพิ่มมากขึ้น โดยผู้ประกอบการได้ติดต่อเข้ามาเพื่อขอรับซื้อผลผลิตแล้ว ซึ่งปี 2562 ทางกลุ่มฯ จะพิจารณาแนวทางการจำหน่ายในรูปแบบพันธสัญญากับผู้ประกอบการรับซื้อเพื่อประกันความเสี่ยง นอกจากนี้ ยังได้จัดทำแผนธุรกิจของกลุ่มเพื่อขออนุมัติสินเชื่อพัฒนาการเกษตรแบบแปลงใหญ่วงเงินกู้ไม่เกิน 10 ล้านบาท โดยกลุ่มฯ รับดอกเบี้ยร้อยละ 0.01 และวางแผนนำเงินทุนมาซื้อเครื่องอบแห้งและห้องเย็นเพื่อเก็บรักษาแก้วมังกรอบแห้งให้คงคุณภาพรอการจำหน่าย ควบคู่กับการส่งเสริมนวัตกรรมด้านการแปรรูปและบรรจุภัณฑ์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม

ทั้งนี้ แก้วมังกร เป็นพืชตระกูลกระบองเพชร ถือได้ว่าเป็นพืชเศรษฐกิจที่น่าสนใจ ให้ผลตอบแทนดี  ขยายพันธุ์ได้ง่าย การเพาะปลูกและดูแลรักษาไม่ยุ่งยากรวมทั้งสามารถแปรรูปได้ด้วย เกษตรกรสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง ซึ่งเป็นสินค้าทางเลือกที่น่าสนใจในการปรับเปลี่ยนพื้นที่ไม่เหมาะสมสำหรับการปลูกข้าว โดยนำแนวคิดตลาดนำการผลิตมาปรับใช้ อีกทั้งยังสอดรับกับแผนพัฒนาจังหวัดแพร่ที่มุ่งเน้นการพัฒนาเมืองแพร่ให้เป็นเมืองต้นแบบสุขภาวะผู้สูงวัยได้อีกด้วย สำหรับเกษตรกรหรือกลุ่มเกษตรกรที่สนใจปลูกและแปรรูปแก้วมังกร สามารถสอบถามได้ที่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแก้วมังกรตำบลบ้านถิ่น อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ นายบันเทิง ถิ่นฐาน ประธานกลุ่ม โทร. 08 1951 0680 ซึ่งยินดีให้คำแนะนำแก่เกษตรกรผู้สนใจทุกท่าน