กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เผยสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในช่วงนี้ มีแนวโน้มพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นฤดูฝน มีฝนตกลงมาในหลายพื้นที่ของประเทศ ทำให้เกิดน้ำขังค้างในภาชนะต่างๆ เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลาย จึงขอเน้นย้ำมาตรการ 3 เก็บป้องกัน 3 โรค ป้องกันป่วยโรคไข้เลือดออก
วันที่ 18 กรกฎาคม 2565 นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในประเทศไทยว่า จากกรณีที่มีการคาดการณ์ว่า ในปี 2565 จะมีการระบาดมากขึ้นนั้น เท่าที่ติดตามมาสถานการณ์ในช่วงเดือนที่ผ่านมา พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกมากขึ้น
ซึ่งกรมควบคุมโรคได้ทำหนังสือแจ้งเตือนเฝ้าระวังการระบาดของไข้เลือดออกไปยังนายแพทย์สาธารณสุขทุกจังหวัด รวมทั้งผู้บริหารสถานศึกษาทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เพื่อกำชับมาตรการลดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงและเตรียมความพร้อมด้านการสอบสวน/ควบคุมป้องกันโรคภายใต้ พ.ร.บ. โรคติดต่อ พ.ศ.2558 รวมทั้งความพร้อมด้านการวินิจฉัยและรักษาพยาบาลหากเกิดการระบาด
สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในปีนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-12 กรกฎาคม 2565 พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกทั่วประเทศ 9,472 ราย เสียชีวิต 9 ราย พบผู้ป่วยกระจายทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ซึ่งพบแนวโน้มจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นและสูงกว่าปีที่แล้วในช่วงเวลาเดียวกันตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นมา โดยใน 4 สัปดาห์ที่ผ่านมาพบจังหวัดที่มีผู้ป่วยสูงสุด 5 ลำดับ ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ กรุงเทพมหานคร ศรีสะเกษ และตาก”
“ช่วงนี้มีโอกาสพบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้น เนื้องจากมีฝนตกลงมาในหลายพื้นที่ของประเทศ ทำให้มีน้ำขังตามภาชนะต่างๆ ซึ่งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลาย เป็นปัจจัยสนับสนุนให้เกิดการระบาดของโรคได้ กรมควบคุมโรค จึงขอแนะนำประชาชนให้ช่วยกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในบริเวณบ้านและโรงเรียนทุกแห่ง ด้วยมาตรการ 3 เก็บป้องกัน 3 โรค (โรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา)
ได้แก่ เก็บบ้านและโรงเรียน ให้สะอาดไม่ให้ยุงลายเข้ามาเกาะพัก เก็บภาชนะกักเก็บน้ำให้มิดชิดเพื่อป้องกันยุงลายลงไปวางไข่ เก็บขยะภายในบริเวณบ้านและโรงเรียน ให้เรียบร้อยไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย และจัดกิจกรรมเสริมในการจัดการสิ่งแวดล้อมกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงในโรงเรียน เช่น กิจกรรม BIG CLEANING DAY รวมถึงการป้องกันตนเองจากการถูกยุงกัด ทั้งในบริเวณบ้านและโรงเรียน” นายแพทย์โอภาส กล่าว
นอกจากนี้ หากประชาชนหรือบุตรหลาน มีอาการไข้สูงลอย รับประทานยาแล้วไข้ไม่ลดหรือลดแล้วไข้กลับมาสูงอีก ร่วมกับอาการปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระบอกตา หรือมีจุดเลือดออกที่ลำตัว และแขน ขา ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง โดยเฉพาะยาลดไข้ในกลุ่มแอสไพริน และไอบูโพรเฟน และหากมีอาการ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ หายใจเหนื่อยหอบ เบื่ออาหาร ปวดท้องร่วมด้วย ซึ่งอาจเป็นการเจ็บป่วยร่วมกันระหว่างไข้เลือดออก กับโรคโควิด 19 ทำให้อาการทรุดหนักอย่างรวดเร็ว
ดังนั้นเมื่อมีอาการสงสัยดังกล่าวควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยแยกโรคให้ชัดเจน จะได้รับการรักษาที่เหมาะสม และช่วยป้องกันการเสียชีวิตได้ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422
*************************
ข้อมูลจาก : กองโรคติดต่อนำโดยแมลง/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค
วันที่ 18 กรกฎาคม 2565