วันที่ 18 กรกฎาคม 2565 ที่ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลประทาน ถนนสามเสน ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ผ่านระบบ Video Conference ไปยังสำนักงานชลประทานที่ 1-17 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ
กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักการระบายน้ำ (กทม.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำ และแม่น้ำสายหลักต่าง ๆ สำหรับเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องและเหมาะสมในแต่ละพื้นที่
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบัน (18 ก.ค. 65) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกัน 41,832 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 55 ของความจุอ่างฯ ยังสามารถรับน้ำได้อีก 34,253 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 9,792 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 39 ของความจุอ่างฯ สามารถรับน้ำได้อีก 15,079 ล้าน ลบ.ม. ทั้งนี้ เนื่องจากสัปดาห์ที่ผ่านมามีฝนตกในหลายพื้นที่ ซึ่งส่งผลดีต่อปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและแม่น้ำสายหลัก
กรมชลประทาน จึงได้ปรับลดการระบายน้ำจากทางตอนบน และใช้อาคารชลประทานในการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ตอนกลาง พร้อมเร่งการระบายน้ำส่วนเกินในพื้นที่ตอนล่างเพื่อควบคุมค่าความเค็มให้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด ทำให้การบริหารจัดการน้ำในช่วงที่ผ่านมาเป็นไปตามแผนที่กำหนดและสอดคล้องกับสถานการณ์
อนึ่ง ในช่วงวันที่ 18 –19 ก.ค. 65 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังอ่อนลง ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคตะวันออก ส่วนในช่วงวันที่ 20–24 ก.ค. 65 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ประกอบกับมีร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางตอนบน ทำให้ประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้จึงได้กำชับให้โครงการชลประทาน และสำนักเครื่องจักรกลทั่วประเทศ เฝ้าระวังและเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ฝนช่วงปลายสัปดาห์ บริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด
โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำค่อนข้างมากให้เฝ้าระวังเป็นพิเศษ พิจารณาปรับการระบายให้เหมาะสมกับสถานการณ์โดยไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายน้ำ ร่วมบูรณาการกับอาสาสมัครชลประทาน กลุ่มผู้ใช้น้ำ ช่วยกันตรวจสอบอาคารชลประทาน ประตูระบายน้ำให้พร้อมใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ รวมทั้งหมั่นกำจัดวัชพืชอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญให้ปฏิบัติตามมาตรการรับมือฤดูฝนปี 65 ทั้ง 13 มาตรการ ตามที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ(กอนช.) กำหนดอย่างเคร่งครัด