“จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 6 มิถุนายน 2565 มีรายงานเหตุการณ์จมน้ำจำนวน 19 เหตุการณ์ เป็นเหตุการณ์จมน้ำในเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จำนวน 16 เหตุการณ์ (84%) และอายุมากกว่า 15 ปี 3 เหตุการณ์ (16%) กรณีจมน้ำในเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี พบว่าแหล่งน้ำที่เกิดเหตุการณ์ ได้แก่ คลองและแม่น้ำ (50%) แหล่งน้ำที่ใช้ในเกษตรกรรม (31%) ทะเล (13%) และสระว่ายน้ำ (6%) ตามลำดับ โดยลักษณะเหตุการณ์ที่พบบ่อย ได้แก่ ว่ายน้ำไม่เป็น ไม่มีทักษะการเอาชีวิตรอด ลงเล่นน้ำโดยไม่แจ้งผู้ปกครองหรือไม่มีผู้ปกครองดูแลใกล้ชิดตลอดเวลา ไม่มีป้ายเตือน ไม่มีสิ่งกีดขวาง”
“การพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพของสัปดาห์นี้ คาดว่าในช่วงนี้มีโอกาสพบการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุการตกน้ำ จมน้ำ ในกลุ่มเด็กอายุน้อยกว่า 15 ปี อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากยังเป็นช่วงฤดูฝน รวมทั้งการผ่อนคลายสถานการณ์โรคโควิด 19 ทำให้มีการท่องเที่ยวในวันหยุดเพิ่มขึ้น ดังนั้นการท่องเที่ยวตามแหล่งน้ำให้มีความปลอดภัย ควรสวมเสื้อชูชีพ ห่วงยาง ไม่ดื่มสุราขณะโดยสารเรือหรือทำกิจกรรมทางน้ำ สำหรับสถานที่ท่องเที่ยว ต้องประกอบด้วย
1) ด้านการจัดการสถานที่ท่องเที่ยว เช่น การแบ่งโซนเล่นน้ำและกิจกรรมทางน้ำ การมีป้ายเตือน/ป้ายระบุเกี่ยวกับการปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยทางน้ำการมีอุปกรณ์ช่วยคนตกน้ำการมีสัญลักษณ์ธงแบบต่างๆ การบอกระดับความลึกของน้ำ
2) ด้านการดูแลนักท่องเที่ยว เช่น การจัดให้มี Lifeguard จัดให้มีเสื้อชูชีพ/เสื้อพยุงตัวเพื่อบริการให้แก่นักท่องเที่ยว กรมควบคุมโรค ขอแนะนำประชาชนทั่วไปในกรณีพบเห็นคนตกน้ำ ไม่ควรกระโดดลงไปช่วยเพราะอาจจมน้ำพร้อมกันได้ ควรใช้มาตรการ “ตะโกน โยน ยื่น” คือ “ตะโกน” เรียกขอความช่วยเหลือ และโทรแจ้งทีมแพทย์กู้ชีพ เบอร์ 1669 “โยน” อุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัวช่วยคนตกน้ำเกาะจับพยุงตัว เช่น ถังแกลลอนพลาสติกเปล่า หรือวัสดุที่ลอยน้ำ และ “ยื่น” อุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัวให้คนตกน้ำจับและดึงขึ้นมาจากน้ำ เช่น ไม้ เสื้อ ผ้าขาวม้า
สามารถสอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422”
*******************************************************
ข้อมูลจาก : ทีม SAT / สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค
วันที่ 11 กรกฎาคม 2565