วช. หนุนนักวิจัย มก. ศึกษาโซ่อุปทานของผลิตภัณฑ์สับปะรดแบบครบวงจร ตามแนวคิดเศรษฐกิจบีซีจีพร้อมพัฒนากลุ่มวิสาหกิจชุมชนต้นแบบแปรรูปเส้นใยสับปะรดเพื่อผลักดันการผลิตเชิงพาณิชย์
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งในผู้ผลิตและส่งออกสับปะรดรายใหญ่ของโลก แต่เกษตรกรยังต้องเผชิญกับปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำและความไม่แน่นอนของการผลิต นอกจากนี้ภายหลังการเก็บเกี่ยวยังมีใบสับปะรดและชิ้นส่วนอื่นๆ เป็นเศษเหลือทิ้งทางการเกษตรเป็นจำนวนมาก ซึ่งเกษตรกรมักกำจัดด้วยการเผาอันเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ (pm 2.5) หรือการฝังกลบที่อาจเป็นแหล่งสะสมโรคที่ทำให้เกิดปัญหาในการปลูกในรอบต่อไป
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จึงให้ทุนอุดหนุนการทำกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม ภายใต้โครงการจัดการความรู้การวิจัยและถ่ายทอดเพื่อการใช้ประโยชน์ ประจำปี 2565 กับโครงการ “การขับเคลื่อนโซ่อุปทานของผลิตภัณฑ์สับปะรดแบบครบวงจร เพื่อสร้างคุณค่าและความยั่งยืนแก่เกษตรไทยสู่สากล” ซึ่งมี “ดร.รังสิมา ชลคุป” จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย เพื่อศึกษาโซ่อุปทานของผลิตภัณฑ์สับปะรดแบบครบวงจรและพัฒนากลุ่มวิสาหกิจชุมชนต้นแบบที่ได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้ในการแปรรูปเส้นใยสับปะรดและกระบวนการในการถ่ายทอดเพื่อรองรับไปสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ต่อไป
ดร.รังสิมา ชลคุป ฝ่ายเทคโนโลยีชีวมวลและพลังงานชีวภาพ สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ภายหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตจากสับปะรด จะเหลือส่วนต่าง ๆ ที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์สร้างมูลค่าให้แก่เกษตรกรมากกว่าถูกกำจัดทิ้งไป อย่างเช่น ใบและเหง้า โดยใบสับปะรดมีการนำมาผลิตเป็นเส้นใยสับปะรด ซึ่งเป็นเส้นใยธรรมชาติที่มีความแข็งแรงสูง รองลงมาจากเส้นใยไหมหรือเส้นใยกัญชง มีความหนาแน่นต่ำ เส้นใยละเอียด คุณภาพดี เหมาะสำหรับการนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์สิ่งทอเครื่องนุ่งห่มเช่น ผ้าและเครื่องแต่งกาย ซึ่งพบว่าเส้นใยมีความเงาเหมือนไหม และมีสมบัติการติดสีเหมือนฝ้าย และแข็งแรงกว่าฝ้าย
นอกจากผลิตภัณฑ์สิ่งทอแล้วเส้นใยสับปะรด ยังสามารถนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น กระดาษเพื่อใช้ในบรรจุภัณฑ์ การใช้เป็นวัสดุเสริมแรงให้กับพอลิเมอร์ โดยเส้นใยสับปะรดมีศักยภาพในการเป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตภัณฑ์สิ่งทอเทคนิค เช่น ทดแทนเส้นใยแก้วและเส้นใยหินในวัสดุดูดซับเสียงและฉนวนกันความร้อน สำหรับเหง้าสับปะรด ซึ่งเป็นแหล่งของเอนไซม์บรอมิเลน (bromelain) มีการนำไปใช้กันมากในอุตสาหกรรมอาหาร ยา ผงซักฟอก ฟอกหนัง และอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง
ดร.รังสิมา กล่าวว่า จากการศึกษาพื้นที่เพาะปลูกสับปะรดของประเทศไทยที่มีกว่า 4 แสนไร่ สามารถเป็นวัตถุดิบเพื่อผลิตปริมาณเส้นใยสับปะรดได้มากกว่า 7 หมื่นตันต่อปี (กรณีที่นำใบมาผลิตเส้นใย) ปัจจุบันแม้จะมีการนำเส้นใยสับปะรดมาใช้ประโยชน์อยู่บ้าง แต่จะเป็นในลักษณะอุตสาหกรรมในครัวเรือนหรือวิสาหกิจชุมชน ซึ่งมุ่งเน้นงานเชิงหัตถกรรม เช่น เสื้อผ้าและกระดาษ มีกำลังการผลิตไม่สูงนัก ส่วนผลิตภัณฑ์เชิงอุตสาหกรรมยังไม่ค่อยพบเห็นผลิตภัณฑ์ที่ทำจากเส้นใยสับปะรดอย่างแพร่หลายทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ
ทั้งนี้ อาจเกิดจากสาเหตุด้านต่างๆ ทั้งในระดับต้นน้ำ คือ เกษตรกรยังมีปัญหาด้านการเพาะปลูก ปริมาณผลผลิตไม่แน่นอน การขาดองค์ความรู้ในการจัดเก็บรวบรวมเศษเหลือทิ้งไปสร้างมูลค่า ตลอดจนถึงการกำหนดราคา ต้นทุนการผลิต การขนส่ง และสต๊อกวัตถุดิบที่จะผลิตเพื่อส่งต่อให้ผู้ประกอบการะดับกลางน้ำ ส่วนในระดับกลางน้ำ กลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์ ได้แก่ ผู้ผลิตเส้นใยสับปะรดยังมีปัญหาในส่วนของกระบวนการผลิตที่ยังมีผลิตภาพ (productivity) ไม่สูงนักและอาจได้รับผลกระทบจากสภาพดินฟ้าอากาศ เนื่องจากต้องใช้แสงแดดในการตากเส้นใยให้แห้ง
อีกทั้งต้นทุนการผลิตสูง และขาดตลาดรองรับเส้นใยที่มีความสม่ำเสมอและแน่นอน สำหรับในส่วนของปลายน้ำ คือ ผู้นำเส้นใยสับปะรด หรือส่วนต่างๆ ไปใช้งาน ก็พบเจอปัญหาวัตถุดิบไม่เพียงพอต่อความต้องการ ผู้ประกอบการมีความไม่มั่นใจในความสม่ำเสมอของคุณภาพและความสามารถในการส่งมอบวัตถุดิบได้อย่างต่อเนื่อง ขาดคนกลางในการรวบรวมเส้นใยและประสานงานกับเกษตรกร เป็นต้น
ปัจจุบันในประเทศมีผู้ผลิตเส้นใยจากใบสับปะรดรายหลักเพียงไม่กี่ราย ที่ดำเนินกิจการในลักษณะวิสาหกิจชุมชน โดยมีวิสาหกิจชุมชนหลัก อยู่ที่ อ.บ้านคา จ.ราชบุรี ได้ทำการผลิตเส้นใยส่งให้ผู้ผลิตในขั้นต่อไปทั่วประเทศ ซึ่งได้รับการติดต่อขอซื้อเส้นใยในปริมาณมากจากผู้ประกอบการหลายรายทั้งในและต่างประเทศตลอดมา แต่กระบวนการสกัดเส้นใยที่ใช้อยู่ในปัจจุบันยังมีข้อจำกัดในด้านกำลังการผลิต และต้นทุนการผลิตที่มากกว่า 200 บาทต่อกิโลกรัม
ดังนั้น ทีมวิจัยจึงได้ทำการศึกษาครอบคลุมโซ่อุปทานของผลิตภัณฑ์สับปะรดนอกเหนือจากผล ตามหลักโมเดล เศรษฐกิจ BCG คือ ใบ และเหง้าที่เหลือในไร่ เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการนำใบและเหง้ามาแปรรูปเป็นเส้นใย และวัตถุดิบสำหรับสกัดเอนไซม์บรอมิเลน อีกทั้งยังช่วยลดปัญหาจากการกำจัดเศษเหลือทิ้งที่ไม่ถูกวิธีอันจะก่อให้เกิดมลภาวะ
“โครงการนี้ได้ศึกษาโมเดลห่วงโซ่อุปทานของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในภาคตะวันออก โดยใช้ตัวแทน คือ จ.ระยอง และขยายไปยังพื้นที่ที่มีศักยภาพและตามความต้องการของกลุ่ม คือ ภาคตะวันตก โดยใช้ตัวแทนคือ จ.ราชบุรี นอกจากนี้ยังมีกลุ่มวิสาหกิจชุมชนใหม่ที่ต้องการผลิตเส้นใยที่ จ.ประจวบคิรีขันธ์ ทางโครงการยังได้ประสานกับบริษัทที่ประกอบธุรกิจรับซื้อเส้นใยและอุตสาหกรรมสิ่งทอที่จะนำเส้นใยสับปะรดไปใช้ประโยชน์ รวมทั้งประสานกับทางหน่วยงานราชการในคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาสับปะรดแห่งชาติ โดยนโยบายของคณะกรรมการดังกล่าว เน้นการขับเคลื่อนใน 3 มิติ คือ
1.การเพิ่มประสิทธิภาพและบริหารจัดการการผลิต
2. การเพิ่มศักยภาพอุตสาหกรรมแปรรูป โดยส่งเสริมการวิจัย การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสับปะรด
3.การเพิ่มศักยภาพการตลาดและการส่งออก”
ทีมวิจัยได้มีการศึกษาประเมินความพร้อม โดยพิจารณาจากพื้นที่ปลูกสับปะรดและกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่ทำการผลิตเส้นใย หรือเก็บเกี่ยวเหง้า และศึกษาความเป็นไปได้ในการนำต้นแบบจากงานวิจัยไปสู่การผลิตระดับอุตสาหกรรม ซึ่งเน้นที่การนำเส้นใยจากใบสับปะรดไปเป็นวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมสิ่งทอ และในอนาคตจะผลักดันไปสู่อุตสาหกรรมสิ่งทอเทคนิคต่อไป โดยจะมีการวิเคราะห์ต้นทุนการผลิต การพัฒนาปรับปรุงกระบวนการผลิตให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายผู้ใช้งาน และการถ่ายทอดความรู้และเทคนิคต่างๆ ให้กับกลุ่มเป้าหมาย
ดร.รังสิมา กล่าวอีกว่า ปัจจุบันทีมวิจัยได้มีการถ่ายทอดองค์ความรู้ในการแปรรูปเส้นใยสับปะรดให้กับ 2 กลุ่มวิสาหกิจชุมชนต้นแบบ คือ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนทอผ้าแสนใย คนแสนวิถี ต.ละหาร อ.ปลวกแดง จ.ระยอง ซึ่งมีกำลังการผลิตเส้นใยสับปะรด ประมาณ 100 กิโลกรัม/เดือน และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผลิตเส้นใยธรรมชาติบ้านคา ต.หนองพันจันทร์ อ.บ้านคา จ.ราชบุรี โดยมีกำลังการผลิตเส้นใยสับปะรดประมาณ 200-300 กิโลกรัม/เดือน
อย่างไรก็ตาม ทีมวิจัยคาดหวังว่า จากการศึกษาเชิงลึกใน 3 ผลิตภัณฑ์จากเส้นใยสับปะรดที่มีศักยภาพ คือ เส้นด้ายปั่นผสมในอุตสาหกรรมสิ่งทอ แผ่นนอนวูฟเวนหรือผ้าไม่ทอในอุตสาหกรรมสิ่งทอเทคนิคเช่นแผ่นดูดซับเสียง และกระดาษหรือเยื่อกระดาษในอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ จะสามารถผลักดันไปสู่การผลิตระดับอุตสาหกรรมได้ โดยปัจจุบันทีมวิจัยอยู่ระหว่างการศึกษาวิเคราะห์ห่วงโซ่คุณค่าของผลิตภัณฑ์จากสับปะรดทั้ง 3 รายการดังกล่าว ซึ่งการศึกษาน่าจะค้นพบผู้มีบทบาทที่มีศักยภาพตลอดห่วงโซ่คุณค่าในทุกขั้น และสามารถสร้างความร่วมมือเชื่อมโยงระหว่างข้อต่อต่าง ๆ ได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างธุรกิจใหม่จากผลิตภัณฑ์เส้นใยสับปะรดให้เกิดขึ้นได้จริง