ศ.(วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวต้อนรับ ทันตแพทย์สุพจน์ หวังปรีดาเลิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ บริษัท เคทิส วิจัยและพัฒนา จำกัด หรือ KTIS พร้อมคณะผู้บริหาร ในโอกาสเข้าประชุมหารือและศึกษาดูงานภารกิจ วว. เพื่อนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ตอบโจทย์ความต้องการของบริษัทฯ
โดยที่ผ่านมา วว. และกลุ่มบริษัทเคทิส ได้ร่วมมือด้านงานวิจัยและพัฒนามายาวนาน ผ่านการดำเนินโครงการต่างๆ อาทิ โครงการการใช้เทคโนโลยีชีวภาพเพื่อพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์และส่งเสริมการเพิ่มผลผลิตให้เครือข่ายเกษตรกรผู้ปลูกอ้อย โครงการวิจัยและพัฒนาปุ๋ยอินทรีย์จากของเหลือทิ้งอุตสาหกรรมน้ำตาลและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เป็นต้น
ซึ่งล้วนเป็นโครงการที่ประสบผลสำเร็จ ช่วยเสริมความแข็งแกร่งและตอบโจทย์ความต้องการได้เป็นอย่างดี โอกาสนี้ ดร.ลักษมี ปลั่งแสงมาศ นายกสมาคมมาตรวิทยาแห่งประเทศไทย และอดีตผู้ว่าการ วว. ดร.ประทีป วงศ์บัณฑิต รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนาด้านพัฒนาอย่างยั่งยืน ดร.อาภากร สุปัญญา รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์และจัดการนวัตกรรม พร้อมผู้บริหาร บุคลากรทั้งสองหน่วยงานร่วมเป็นเกียรติ ในวันที่ 7 กรกฎาคม 2565 ณ วว. เทคโนธานี คลองห้า
“…ปัจจุบัน วว. ก้าวสู่การดำเนินงานปีที่ 60 เป็นหน่วยงานวิจัยและพัฒนา และให้บริการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ สนองนโยบายรัฐบาลโดยการนำ BCG Model เป็นกรอบในการดำเนินงาน โดยมุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนาใน 3 มิติไปพร้อมกัน ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ(Bioeconomy) มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม การพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) คำนึงถึงการนำวัสดุต่าง ๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด รวมถึง เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) เพื่อร่วมขับเคลื่อนและยกระดับเศรษฐกิจทั้งระบบ เพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ กระจายรายได้สู่ชุมชน สร้างชุมชนเข้มแข็ง เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมสนองนโยบายรัฐบาลและร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ
ปัจจุบัน วว. ได้พัฒนาศักยภาพขององค์กรอย่างไม่หยุดยั้งด้วยการสร้างระบบนิเวศนวัตกรรม (TISTR Ecosystem) ที่มีโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่พร้อมให้บริการแก่ผู้ประกอบการ เช่น ศูนย์นวัตกรรมผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์เพื่ออุตสาหกรรม: พรีไบโอติกและโพรไบโอติก (ICPIM 1) ศูนย์นวัตกรรมผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์เพื่ออุตสาหกรรม: สารชีวภัณฑ์ (ICPIM 2) โรงงานบริการนวัตกรรมอาหาร, Co-working Food Space, ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีประยุกต์สู่ SMEs ซึ่งเป็นเขตวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตามประกาศของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI อันเป็นการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการได้รับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ อย่างเต็มที่ เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีนักวิจัยและทีมงานที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง พร้อมเป็นที่ปรึกษาและอยู่เคียงข้างความสำเร็จของท่าน หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการหารืออย่างเป็นทางการระหว่างทั้งสองหน่วยงานในวันนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นของการประสานความร่วมมือในโครงการต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต…” ผู้ว่าการ วว. กล่าว