วธ.-จุฬาฯ ประกาศผลเยาวชนรุ่นใหม่โชว์ไอเดีย “ชุมชนยั่งยืนหวนคืนวัฒนธรรม” แนวคิดการพัฒนาชุมชนที่ยั่งยืน รักษาอัตลักษณ์และวัฒนธรรมท้องถิ่นของตนเอง ด้าน วธ. เตรียมนำผลงานผู้ชนะเลิศไปใช้เชื่อมโยงกับกิจกรรมหรือโครงการชุมชนจริง ต่อยอดให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน
วันที่ 7 กรกฎาคม 2565 นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานแสดงความยินดีและกล่าวปิดโครงการ “ชุมชนยั่งยืนหวนคืนวัฒนธรรม” โดยมีนางยุถิกา อิศรางกูร ณ อยุธยา รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นายโกวิท ผกามาศ ผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ศาสตราจารย์ ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล รองคณะบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายตรีเทพ ไทยคุรุพันธ์ กรรมการผู้อำนวยการ สถานีวิทยุแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะกรรมการร่วมตัดสิน ผู้แทนหน่วยงานในประเทศและต่างประเทศ และผู้เข้าร่วมแข่งขัน เข้าร่วม ณ โรงแรมเดอะควอเตอร์ หัวลำโพง บาย ยูเอชจี กรุงเทพฯ
นางยุพา กล่าวว่า จากการที่กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสถานีวิทยุแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกันจัดโครงการประกวดนโยบายทางเลือกและแนวคิดริเริ่มการพัฒนาชุมชนยั่งยืน ภายใต้หัวข้อ “ชุมชนยั่งยืนหวนคืนวัฒนธรรม” เพื่อสนับสนุนให้เยาวชนคนรุ่นใหม่จากทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการนำเสนอแนวคิดการพัฒนาชุมชนที่ยั่งยืน
โดยยังคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์และวัฒนธรรมท้องถิ่นของตนเอง เพื่อสร้างความเข้มแข็งของชุมชน ทั้งในมิติด้านสิ่งแวดล้อม สังคม-เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับการดําเนินงานของ วธ. ในการสนับสนุนให้มีการพัฒนาระบบนิเวศ เพื่อรองรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคใหม่ ภายใต้การพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งจากฐานราก โดยสะท้อนผ่านเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals หรือ SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ
นอกจากนี้ ยังเป็นการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลในการสนับสนุน Soft Power และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทยให้เป็นที่รู้จักทั่วโลก ตามแนวทางส่งเสริมวัฒนธรรม 5F สู่การเป็นสินค้าทางส่งออกทางวัฒนธรรมสำคัญ สร้างรายได้ให้กับประเทศ ได้แก่ อาหาร (Food) ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ (Film) การออกแบบแฟชั่นไทย (Fashion) ศิลปะการป้องกันตัวแบบไทย (Fighting) เทศกาลประเพณีไทย (Festival) โดยวธ. จะนำผลงานแนวคิดที่ได้จากโครงการฯ นี้ มาเชื่อมโยงกับกิจกรรมหรือโครงการที่ได้ดำเนินการอยู่แล้วร่วมกับชุมชน เพื่อให้แนวคิดมาใช้ต่อยอดให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้
ทั้งนี้มีทีมเยาวชนส่งผลงานเข้าร่วมประกวดทั้งสิ้น 169 ทีมจากทั่วประเทศ ผลปรากฏว่า รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ทีมหนูจิ๋วหนูแจ๋ว จากโรงเรียนนวมินทราชูทิศ พายัพ, รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 ได้แก่ ทีม Pipako โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยเชียงใหม่, รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 ได้แก่ ทีมกมุทมาศนารี โรงเรียนชลกันยานุกูล และรางวัลชมเชย จำนวน 2 รางวัล ได้แก่ ทีม phantomhive จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม และทีม Too hot to handle จากโรงเรียนบูรณะรำลึก