โรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ จัดประชุมวิชาการ ครั้งที่ 32 ประจำปี 2565 ในหัวข้อ “Do Our Best in the Next Normal” ระหว่างวันที่ 7–8 กรกฎาคม 2565 เพื่อพัฒนาความรู้และถ่ายทอดประสบการณ์ทางวิชาการทั้งในระดับชาติและนานาชาติให้แก่บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข เผยแพร่ผลงานวิจัย นวัตกรรม เทคโนโลยีทางการแพทย์ ส่งเสริมความร่วมมือทางวิชาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ อีกทั้ง ส่งเสริมการมีส่วนร่วมและให้ความรู้การดูแลสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับประชาชน ในการเตรียมความพร้อมก้าวสู่วิถีชีวิตปกติรูปแบบใหม่
วันที่ 7 กรกฎาคม 2565 ที่โรงพยาบาลราชวิถี นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดงานประชุมวิชาการโรงพยาบาลราชวิถี ว่า จากการที่กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดทิศทางการปฏิบัติงานตามกรอบยุทธศาสตร์ 4 ด้าน ประกอบด้วย
1.ส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคเป็นเลิศ (Prevention & Promotion Excellence)
2.บริการเป็นเลิศ (Service Excellence)
3.บุคลากรเป็นเลิศ (People Excellence)
4.บริหารจัดการเป็นเลิศ (Governance Excellence)
ซึ่งให้ความสำคัญกับการใช้องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ผลงานวิจัย ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี นวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์ การพัฒนาบุคลากรวิจัย โครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศให้ก้าวสู่เป้าหมาย
ซึ่งจากสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมา ส่งผลให้บุคลากรทางการแพทย์มีการพัฒนาการบริการสุขภาพที่สอดคล้องกับการแพทย์วิถีใหม่ (New Normal of Medical Service) เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพของการบริการ เกิดองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยี การวิจัย และนวัตกรรมใหม่ๆ ในการดูแลรักษาผู้ป่วยในสถานการณ์โควิด จนนำไปสู่ชีวิตวิถีถัดไป (Next Normal) ในปัจจุบันและอนาคต โดยเน้นการดำเนินงานที่ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง ดังปณิธานของกรมการแพทย์ “ทำดีที่สุดเพื่อทุกชีวิต”
นายแพทย์จินดา โรจนเมธินทร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี กล่าวว่า โรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข มีศูนย์การแพทย์เฉพาะทาง (Center of Excellence) จำนวน 8 ด้าน ได้แก่ โสต ศอ นาสิก ผ่าตัดทางกล้อง โรคจอประสาทตา ปลูกถ่ายอวัยวะ อุบัติเหตุและฉุกเฉิน หัวใจและหลอดเลือด สูตินรีเวชศาสตร์ และโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCD)
อีกทั้ง เป็นศูนย์ฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้าน/แพทย์ประจำบ้านต่อยอด จนสามารถออกไปปฏิบัติงานในหน่วยงานต่างๆ ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค มีการพัฒนาโรงพยาบาลให้เป็นศูนย์วิชาการที่ใหญ่ที่สุดของกรมการแพทย์ ซึ่งปัจจุบันโรงพยาบาลราชวิถีมีบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญทุกสาขา มีการนำองค์ความรู้ด้านวิชาการ วิจัย และนวัตกรรมที่ทันสมัยมาปรับใช้ในการให้บริการทางการแพทย์ โดยมีทิศทางนโยบายในการดำเนินงาน 4 ด้าน คือ
1.พัฒนาศูนย์ความเป็นเลิศเฉพาะทางหลังสภาวการณ์โควิด-19 ให้มีประสิทธิภาพประสิทธิผลสูงในทุกมิติ (High performance COE)
2.พัฒนาทุนมนุษย์ เพื่อสนับสนุนความก้าวหน้าทางวิชาการและการบริหารทางการแพทย์และสาธารณสุข (Talent and successor management organization)
3.ถ่ายทอดองค์ความรู้ที่เชี่ยวชาญตามนโยบายกรมการแพทย์เพื่อต่อยอดการดำเนินการตาม Service plan ในเขตสุขภาพ (Medical innovation to service plan advocacy)
4.พัฒนารูปแบบการให้บริการการแพทย์เขตเมืองแบบไร้รอยต่อกับกรุงเทพมหานคร เพื่อเป็นต้นแบบบูรณาการทางการแพทย์เขตเมืองในประเทศไทย (Seamless Urban medical care model)
ซึ่งจากวิกฤตการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ผ่านมา โรงพยาบาลราชวิถีเป็นองค์กรที่มีศักยภาพในการวินิจฉัยและรักษาการติดเชื้อ สามารถให้บริการผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่มีความรุนแรงทุกระดับ และการให้บริการฉีดวัคซีนโควิดกับบุคลากรและประชาชนจำนวนมาก ซึ่งนอกจากภารกิจพัฒนาระบบบริการสุขภาพแล้ว บุคลากรทางการแพทย์จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการพัฒนาองค์ความรู้ การศึกษาวิจัย ค้นคว้า เพื่อให้เกิดองค์ความรู้ในการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค
โดยการประชุมวิชาการจะเป็นช่องทางสำคัญยิ่งที่จะช่วยกระตุ้น ส่งเสริม และพัฒนาบุคลากรทุกสาวิชาชีพได้มีโอกาสนำองค์ความรู้ใหม่ๆ จากการศึกษา ค้นคว้า วิจัย เผยแพร่สู่เวทีสาธารณะ รวมทั้งเปิดโอกาสให้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ความคิดเห็นและประสบการณ์ เพื่อให้เกิดองค์ความรู้ นวัตกรรมที่ทันสมัยและเป็นประโยชน์ อันจะนำไปสู่การพัฒนาและการสร้างเครือข่ายด้านวิชาการอย่างต่อเนื่องต่อไป
นายแพทย์ทัศนชาติ จิตรีธาตุ ประธานคณะกรรมการจัดประชุมวิชาการโรงพยาบาลราชวิถี ครั้งที่ 32 ประจำปี 2565 กล่าวเพิ่มเติมว่า โรงพยาบาลราชวิถีได้ตระหนักถึงความสำคัญของการเผยแพร่งานวิชาการดังกล่าว และเพื่อให้การดำเนินงานสอดคล้องกับยุทธศาสตร์กรมการแพทย์ที่ 1 สร้างความเข้มแข็งเครือข่ายบริการและวิชาการทางการแพทย์ สาธารณสุขของประเทศ และยุทธศาสตร์ที่ 1 ของโรงพยาบาลราชวิถี สร้างนวัตกรรมทางการแพทย์ สู่นโยบายสาธารณสุข จึงได้จัดทำโครงการประชุมวิชาการดังกล่าวขึ้น ภายใต้รูปแบบใหม่ Hybrid Meeting ที่สามารถรองรับผู้มาร่วมประชุมในห้องจริง โดยปรับตามสถานการณ์และเปิดลงทะเบียนให้ผู้สนใจร่วมประชุมทางออนไลน์ได้ ภายใต้มาตรการป้องกันโรคตามที่ราชการกำหนด
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการแพร่องค์ความรู้ด้านการแพทย์และการสาธารณสุข นำเสนอผลการศึกษาวิจัย นวัตกรรม และถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อตอบสนองการเป็นศูนย์ความเป็นเลิศเฉพาะทางทั้ง 8 สาขา และการพัฒนารูปแบบการให้บริการในยุค Next Normal
พร้อมทั้งการเสวนาเชิงวิชาการในหัวข้อต่างๆ อาทิ Booster shot in COVID-19 vaccines: What, When, How? , Withdrawing ventilatory support in ESRD , Surgery in Thailand’s most southern area , Business continuety plan for covid-19 : Rajavithi hospital , Vascular access surgery in overcrowed service , Multidisciplinary in thyroid , ไขมันสะสมในตับการดูแลรักษาครบวงจร , การใช้กัญชาในทางเวชปฏิบัติสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ , หมุดเกลียวขนาดเล็กราชวิถีกับการรักษาทางทันตกรรมจัดฟัน และ มีอะไรใหม่..ในมาตรฐานงานเทคนิคการแพทย์ 2565 เป็นต้น
เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ความก้าวหน้า ของสหวิชาชีพต่างๆ ทำให้เกิดความร่วมมือทางด้านวิชาการจากหลายๆหน่วยงาน ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข สถาบันการแพทย์สังกัดอื่นๆ ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค และวิทยากรจากต่างประเทศ เพื่อสร้างสัมพันธภาพที่ดีและเป็นภาคีเครือข่ายด้านสุขภาพ สร้างแรงบันดาลใจให้กับประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์ที่เข้าร่วมการประชุม ในการเตรียมความพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงของระบบสุขภาพต่อไป
************************************************
#กรมการแพทย์ #รพ.ราชวิถี #ประชุมวิชาการ ครั้งที่ 32
– ขอขอบคุณ –
7 กรกฎาคม 2565