วธ.ประกาศยกย่องปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย ผู้ใช้ภาษาไทย-ภาษาถิ่นดีเด่น ปี 65 พร้อมร่วมยินดีกับน้อง ๆ เยาวชนคว้ารางวัล พูด-อ่าน-เขียน ภาษาไทยดีเด่น ส่งเสริมให้เด็ก เยาวชน ประชาชน เห็นคุณค่า ความสำคัญและใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้อง
นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า เนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติปี 2565 และในปีนี้ถือเป็นวาระพิเศษ เพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ในวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2505 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินไปทรงอภิปรายเรื่อง “ปัญหาการใช้คำไทย” ร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาถึงปัจจุบันครบ 60 ปี กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) จัดกิจกรรมการคัดเลือกปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย ผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น ผู้ใช้ภาษาถิ่นดีเด่น และผู้มีคุณูปการต่อการใช้ภาษาไทย พุทธศักราช 2565 และกิจกรรมการคัดเลือกเด็กและเยาวชนผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่นที่มีความสามารถด้านการพูด การอ่าน การเขียน พุทธศักราช 2565
เพื่อสร้างค่านิยมและส่งเสริมให้เด็ก เยาวชน และประชาชน เห็นคุณค่าและความสำคัญของภาษาไทย รักภาษาไทยและใช้ภาษาไทยได้อย่างถูกต้องเหมาะสม รวมถึงยกย่องผู้มีผลงานการสร้างสรรค์ด้านการใช้ภาษาไทยหรือภาษาไทยถิ่นได้ และบุคคลหรือองค์กรที่มีบทบาทส่งเสริม และสร้างคุณประโยชน์ต่อวงการภาษาไทยหรือภาษาถิ่นอย่างต่อเนื่องเป็นที่ประจักษ์
นายอิทธิพล กล่าวอีกว่า สำหรับผลการคัดเลือกปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย ผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น ผู้ใช้ภาษาถิ่นดีเด่น และผู้มีคุณูปการต่อการใช้ภาษาไทย พุทธศักราช 2565 มีดังนี้
1.ปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย ได้แก่ ศาสตราจารย์เกียรติคุณสมพงศ์ วิทยศักดิ์พันธุ์ ปัจจุบันเป็นนายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย , ผู้อำนวยการสถาบันภาษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาผลงานทางวิชาการตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ , รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์ สาขาวิชาภาษาไทย ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และอนุกรรมการพิจารณาผลงานทางวิชาการเพื่อเลื่อนตำแหน่งทางวิชาการของอาจารย์โรงเรียนสาธิตแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ศาสตราจารย์กิตติคุณสุกัญญา สุจฉายา ปัจจุบันเป็นภาคีสมาชิก ราชบัณฑิตยสภา สาขาวิชาวรรณกรรมพื้นบ้าน ประเภทวิชาวรรณศิลป์ สำนักศิลปกรรม
2.รางวัลผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น ได้แก่ พระวิสุทธิพงษ์เมธี, รองศาสตราจารย์โชษิตา มณีใส, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปรัชญา ปานเกตุ, นางรพีพรรณ เพชรอนันต์กุล, รองศาสตราจารย์สมเกียรติ รักษ์มณี, นายสัญญลักษณ์ เจริญเปี่ยม, ผู้ช่วยศาสตราจารย์อาทิตย์ ชีรวณิชย์กุล และผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่นชาวต่างประเทศ ได้แก่ นายหลิน อี้ฟาน (Mr. Lin Yifan) ซึ่งจบการศึกษาระดับปริญญาตรีภาควิชาภาษาไทย คณะภาษาตะวันออก มหาวิทยาลัยนานาชาติศึกษานครเซี่ยงไฮ้ ระดับปริญญาโท หลักสูตรศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชากฎหมายเศรษฐกิจ คณะนิติศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (หลักสูตรภาษาไทย) ปัจจุบันเป็นผู้จัดการ (รับผิดชอบโครงการ Lazada) ของบริษัท Flash Group และเป็นล่าม 3.ผู้ใช้ภาษาไทยถิ่นดีเด่น ได้แก่ นายเดช ทะลือ, นายประดิษฐ์ เป็งเรือน, รองศาสตราจารย์พิเชฐ แสงทอง และนางสาคร พรมไชยา 4.ผู้มีคุณูปการต่อการใช้ภาษาไทย ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และสมาคมนักกลอนแห่งประเทศไทย
ส่วนผลการคัดเลือกเด็กและเยาวชนผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่นที่มีความสามารถด้านการพูด การอ่าน การเขียน พุทธศักราช 2565 มีดังนี้
1.ระดับประถมศึกษา (อายุไม่เกิน 13 ปี) ได้แก่ เด็กหญิงกุลธิดา คารี โรงเรียนบ้านหารเทา (จรุงราษฎร์ดำเนิน) จังหวัดพัทลุง, เด็กหญิงพิชามา ลาบุตร โรงเรียนอนุบาลทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และเด็กชายสุภัทรนันท์ ชราโรจ โรงเรียนนางามวิทยา จังหวัดกาฬสินธุ์
2.ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น (อายุไม่เกิน 16 ปี) ได้แก่ เด็กหญิงณัฐธยาน์ ยินดี โรงเรียนนครนายกวิทยาคม จังหวัดนครนายก, นางสาวธนพร โชคศรีเจริญ โรงเรียนอุดมสิทธิศึกษา จังหวัดกาญจนบุรี และเด็กหญิงปิ่นปินัทธ์ สืบมา โรงเรียนสตรีวิทยา กรุงเทพมหานคร
3.ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า (อายุไม่เกิน 19 ปี) ได้แก่ นางสาวโชติกา แอนโก โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา กรุงเทพมหานคร, นายภูวดล ลีลาเกียรติวณิช โรงเรียนทวีธาภิเศก กรุงเทพมหานคร และนางสาววิชญาพร ทาริยะชัย โรงเรียนตะพานหิน จังหวัดพิจิตร
4.ระดับอุดมศึกษาหรือบุคคลทั่วไป (อายุไม่เกิน 25 ปี) ได้แก่ นายณัฐพล คำวัง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่, นายธิติพัทธ์ ขันธเนตร มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และนายวรโชติ ต๊ะนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์