สธ.เผย BA.4/BA.5 เพิ่มขึ้น แต่ยังไม่พบรุนแรงมากขึ้น ย้ำวัควีนเข็มกระตุ้นช่วยสู้เชื้อ

กระทรวงสาธารณสุขเผยสัดส่วนโอมิครอน BA.4/BA.5 ในประเทศไทยเพิ่มขึ้น พบประมาณ 51% แต่ยังไม่พบความรุนแรงมากขึ้น ผู้ป่วยในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นอาจมาจากการติดเชื้อที่มากขึ้น ขณะที่สัดส่วน BA.4/BA.5 ในผู้ป่วยปอดอักเสบและใส่ท่อช่วยหายไม่ได้แตกต่างจากผู้ป่วยกลุ่มอื่น แม้กลุ่มตัวอย่างยังน้อย จึงขอให้โรงพยาบาลส่งตรวจมากขึ้น ย้ำสวมหน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นช่วยสู้กับเชื้อได้

วันที่ 4 กรกฎาคม 2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พร้อมด้วย นพ.บัลลังก์ อุปพงษ์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ดร.นพ.อาชวินทร์ โรจนวิวัฒน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข แถลงข่าวการเฝ้าระวังโควิด 19 สายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 ว่า จากการตรวจสายพันธุ์เบื้องต้นช่วงวันที่ 25 มิถุนายน – 1 กรกฎาคม 2565 พบว่าเป็นสายพันธุ์โอมิครอน 100% จำนวนนี้เป็นสายพันธุ์ย่อย BA.4/BA.5 ครึ่งหนึ่งคือ 51.58% เพิ่มขึ้นจาก 2 สัปดาห์ก่อนที่พบจากประมาณ 6.7% และ 44.3% คาดว่าอีกไม่นานจะแทนที่ตัวเก่า BA.2 ซึ่งขณะนี้พบ 47.15% ส่วนผู้ป่วยในโรงพยาบาลที่เริ่มกลับมาพบมากขึ้นนั้น ยังไม่ชัดเจนว่าเกิดจากเชื้อ BA.4/BA.5 ทำให้มีความรุนแรงเพิ่มขึ้น ซึ่งยังต้องรอการพิสูจน์ เนื่องจากตามปกติเมื่อมีการติดเชื้อมากขึ้น สัดส่วนของผู้ป่วยอาการหนักก็จะเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย

ทั้งนี้ จากการเก็บข้อมูลตัวอย่างกลุ่มที่ผู้ติดเชื้อรายใหม่เพื่อสำรวจภาพรวมของประเทศ จำนน 175 ราย เป็น BA.4/BA.5 ประมาณ 35.8% เมื่อแยกดูตามกลุ่มต่างๆ พบว่า กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ 44 ราย พบ 29.5% กลุ่มผู้ติดเชื้อที่มีค่า CT ต่ำหรือติดเชื้อเยอะ 19 ราย พบ 29.5% และกลุ่มที่มีอาการรุนแรง 11 ราย
พบ 36.4% ก็จะเห็นว่าสัดส่วนไม่ได้แตกต่างกัน จึงยังไม่ปรากฏว่ามีความรุนแรงจาก BA.4/BA.5 เมื่อเทียบกับ BA.2 เดิม เพียงแต่กลุ่มผู้ป่วยอาการรุนแรงยังมีตัวอย่างน้อย 11 ราย จึงขอความร่วมมือโรงพยาบาลส่งตรวจในกลุ่มคนไข้อาการหนักใส่ท่อช่วยหายใจมากขึ้น ก็จะทำให้ตัวเลขทางสถิติแม่นยำมากขึ้น ส่วนผู้เสียชีวิตยังไม่พบ BA.4/BA.5 ยังเป็น BA.2

“ย้ำว่ามาตรการส่วนบุคคลยังจำเป็น ทั้งการใส่หน้ากาก ล้างมือ เลี่ยงไปกิจกรรมสถานที่แออัด แม้ไม่ได้บังคับแต่ขอให้เป็นสุขนิสัย รวมถึงฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเพื่อให้ภูมิคุ้มกันสูงมากพอก็จะสู้กับสายพันธุ์ใหม่ ๆ ได้ โดยเฉพาะกลุ่ม 608” นพ.ศุภกิจกล่าว