รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผย จังหวัดลพบุรี ส่งเสริมการใช้ศาสตร์การแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้านและการแพทย์ทางเลือก ดูแลสุขภาพประชาชนทั้งการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค รักษาพยาบาล และฟื้นฟูสุขภาพ ในทุกหน่วยบริการ ตั้งศูนย์เรียนรู้พระโอสถพระนารายณ์เป็นแหล่งเรียนรู้การแพทย์แผนไทย พร้อมส่งเสริมการปลูกสมุนไพรในสถานบริการทุกแห่ง ส่งผลให้มีการใช้พืชสมุนไพรเป็นยาเพิ่มขึ้นจากปี 2564 ถึง 36.65% หรือกว่า 1.1 ล้านบาท
วันที่ 2 กรกฎาคม 2565 ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสมเด็จพระนารายณ์ จังหวัดลพบุรี ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมและบรรยายพิเศษ เรื่อง “สุขภาพดี วิถีไทยจากนโยบายสนับสนุนภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยสู่การปฏิบัติ” โดยกล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญและผลักดันการใช้สมุนไพรไทยเพื่อฟื้นฟูสุขภาพ ให้บริการแพทย์แผนไทยเชิงเศรษฐกิจสุขภาพ มีการใช้สมุนไพรรักษาในระดับปฐมภูมิ รวมถึงส่งเสริมองค์ความรู้ พัฒนาพืชสมุนไพรให้เป็นพืชเศรษฐกิจ เพื่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ ซึ่งสถานบริการสาธารณสุขของจังหวัดลพบุรี ทั้งโรงพยาบาลในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข 11 แห่ง ครอบคลุมทุกอำเภอ และรพ.สต. 132 แห่ง ครอบคลุมทุกตำบล ได้นำศาสตร์การแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้านและการแพทย์ทางเลือกที่มีคุณภาพมาตรฐานมาดูแลสุขภาพประชาชนอย่างครอบคลุมทุกมิติ ทั้งด้านการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค รักษาพยาบาล และฟื้นฟูสุขภาพ รวมถึงมีการเปิดคลินิกกัญชาในโรงพยาบาลและโรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์ รวม 12 แห่ง ใน รพ.สต. 2 แห่ง และอยู่ระหว่างเปิดเพิ่มใน รพ.สต.ที่มีแพทย์แผนไทยอีก 23 แห่ง
นอกจากนี้ ได้จัดตั้งศูนย์เรียนรู้พระโอสถพระนารายณ์ ที่โรงพยาบาลพระนารายณ์มหาราช เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้การแพทย์แผนไทยฯ โดยร่วมกับ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยมหิดล ศึกษาวิจัยตำรับยาโอสถพระนารายณ์ 4 ตำรับ ได้แก่ ยาทาพระเส้น, พระอังคบพระเส้น, น้ำมันมหาจักร และยาหอมดุม และร่วมกับ มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี มหาวิทยาลัยมหิดล ในการศึกษาวิจัยการปลูกกัญชา วิเคราะห์ตำรับยาที่มีกัญชา ได้แก่ ยาศุขไสยาศน์, ยาสำราญนิทรา รวมถึงส่งเสริมการปลูกสมุนไพรในสถานบริการสาธารณสุขทุกแห่ง และร่วมมือกับเกษตรกรปลูกสมุนไพรคุณภาพ เช่น ขมิ้นชัน ฟ้าทะลายโจร ว่านหางจระเข้ และกัญชา ฯลฯ จำหน่ายให้กับองค์การเภสัชกรรมและโรงพยาบาลหนองโดน จังหวัดสระบุรี ที่ได้รับรองมาตรฐาน GMP ของเขตสุขภาพที่ 4 เพื่อผลิตยา 7 รายการ สำหรับใช้ในเขตสุขภาพ ส่งผลให้สถานบริการสาธารณสุขมีการใช้พืชสมุนไพรเพิ่มสูงขึ้น โดยในช่วง 9 เดือน ของปีงบประมาณ 2565 (1 ตุลาคม 2564 – 30 มิถุนายน 2565) มีมูลค่าการใช้ยาสมุนไพร 4,124,418.38 บาท เทียบกับช่วงเดียวกันของปีงบประมาณ 2564 ที่มีมูลค่า 3,018,305.34 บาท เพิ่มขึ้น 1,106,113.04 บาท หรือคิดเป็น 36.65% และคาดว่าจะมีแนวโน้มการใช้ยาสมุนไพรเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สามารถสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับชุมชน และประชาชนในพื้นที่